วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พปชร.”จะถึงคราวอับปาง! ปรับครม.-ศึกซักฟอก“ปมชี้ขาด”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พปชร.”จะถึงคราวอับปาง! ปรับครม.-ศึกซักฟอก“ปมชี้ขาด”

แม้ผลการเลือกตั้งพื้นที่เขต 9 กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะไม่ได้บ่งชี้ว่า เป็นบทสรุปทั้งหมดของประเทศไทย แต่ในเมื่อ “เพื่อไทย” (พท.) คว้าชัยชนะได้ ก็ย่อมถูกขยายผลให้ภาพใหญ่โตเกินความเป็นจริง เพราะก่อนหน้านี้แกนนำพรรคฝ่ายค้าน พ่ายแพ้มาทุกสนาม ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น ลำปาง รวมถึงนครศรีธรรมราช

อย่างการสัปประยุทธ์ในพื้นที่ภาคใต้ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ พรรคพท.ก็ไม่ได้ส่งสมาชิกลงสู้ศึก เพราะรู้ดีว่า ไม่มีความหวัง คนบนด้ามขวานทอง ส่วนใหญ่ไม่เล่นด้วยกับพรรคฝ่ายค้าน อีกทั้งในอดีตคนพื้นที่ภาคใต้ เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายล้างผิด “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” หวังช่วยเหลือ “ทักษิณ ชินวัตร” และเครือญาติ จนแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ต้องหลุดจากอำนาจมาจนถึงวันนี้

ดังนั้นเมื่อคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมพื้นที่เขตเมืองหลวงได้ แกนนำพรรคพท.ย่อมขยายผลการเลือกตั้ง สร้างกระแสทำนองว่า หมดเวลาของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะนายกรัฐมนตรีแล้ว เรียกร้องให้ยุบสภาฯ หรือไม่ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เปิดทางให้เลือกตั้งใหม่ หรือก็จัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ ซึ่งแนวทางหลังนี้คงเป็นไปได้ยาก ถ้า “นายกฯลุงตู่” คิดว่าไปไม่ไหวจริงๆ คงเลือกหนทางยุบสภาฯมากกว่า

ที่ผ่านมา ใครคงมองออก “หัวหน้ารัฐบาล” ต้องการประคับประคอง ให้รัฐบาลอยู่ไปตลอดจนถึงปลายปี 65 เนื่องไทยจะเป็น เจ้าภาพการประชุมเอเปก แม้ต้องเชิญแรงกดดัน หรืออุปสรรครูปแบบต่างๆ จึงต้องรอดูว่า นับจากนี้ไป “นายกฯลุงตู่” จะมีกลยุทธ์อย่างไร เพื่อรับมือกับมรสุมการเมือง ที่พุ่งเป้าโจมตีรัฐบาล หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ยิ่งถ้าย้อนดูคะแนนผู้สมัครแต่ละพรรค ก็บ่งบอกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ค่ายพปชร. แม้ไม่ใช้ผู้สมัครหน้าเดิม แต่ก็มีความใกล้ชิด “สิระ เจนจาคะ” อดีตส.ส. พรรคแกนนำรัฐบาล เนื่องจาก “มาดามหลี” สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ มีสถานภาพเป็น “ภรรยา”

ถ้าเรียงตามลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย เริ่มตั้งแต่ “สุรชาติ เทียนทอง” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 ได้คะแนน 29,416 คะแนน “กรุณพล เทียนสุวรรณ” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล หมายเลข 6 ได้คะแนน 20,361 คะแนน “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ผู้สมัครจากพรรคกล้า หมายเลข 2 ได้คะแนน 20,047 คะแนน

“สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 7 ได้คะแนน 7,906 คะแนน “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์” ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี หมายเลข 1  ได้คะแนน 5,987 คะแนน “เจริญ ชัยสิทธิ์” ผู้สมัครจากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน หมายเลข 8 ได้คะแนน 333 คะแนน “รุ่งโรจน์ อิบรอฮีม” ผู้สมัครจากพรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 5 ได้คะแนน 244 คะแนน และ “กุลรัตน์ กลิ่นดี” ผู้สมัครจากพรรคยุทธศาสตร์ชาติ หมายเลข 4 ได้คะแนน 190 คะแนน 

โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 167,649 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 88,124 คน คิดเป็น 52.68 %

ถ้านำผลคะแนนของ ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง 3 พรรคมารวมกัน คือ พรรค พท. 29416 คะแนน พรรคก้าวไกล (กก.)  20,361 คะแนน พรรคไทยศิวิไลซ์ (ทศซ.) 244 คะแนน รวมทั้งหมดได้ 50,021 คะแนน  

ส่วน พรรคที่สนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อไปคือ พรรคกล้า 20,047 คะแนน พรรค พปชร. 7,906 คะแนน พรรคไทยภักดี (ทภ.)  5,987 คะแนน รวมทั้งหมด 33,940 คะแนน

นั่นหมายความว่า คนกทม. ในเขต 9 เลือกพรรคที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าเลือกพรรคที่สนับสนุนมากพอสมควร ทำให้มี กระบวนการสร้างกระแส อาจมีผลกระทบกระทบต่อสถานะการดำรงตำแหน่งนายกฯ

อย่างไรก็ตามสาเหตุหลัก ที่ทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลพ่ายแพ้อย่างหมดรูป อาจเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ

1.ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องแก้ปัญหาสินค้ามีราคาแพง การรับมือกับโควิด-19 รวมทั้งคุณสมบัติผู้สมัครไม่โดนใจ คนใกล้ชิดแสดงอาการไม่เหมาะสม ในขณะที่คู่แข่งเป็นอดีตส.ส.ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เขตหลักสี่ ถือเป็นฐานคะแนนเสียงพรรคพท.   

2.ปัญหาความขัดแย้งภายพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งส่งผลทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีตเลขาธิการพรรคพปชร. นำส.ส.จำนวน 21 คนแยกไปสังกัด “พรรคเศรษฐกิจไทย” อย่าลืมว่าที่ผ่านมา “ผู้กองคนดัง” เคยเป็นแม่ทัพคนสำคัญ คว้าชัยในการเลือกตั้งซ่อมให้พปชร.มาหลายครั้ง เช่นที่ขอนแก่น ลำปาง และนครศรีธรรมราช

จะสังเกตว่า หลังจากรับทราบผลการเลือกตั้งซ่อมในเขตเมืองหลวง “ผู้กองคนดัง” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมดีใจมากครับที่เห็นพี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง เลือกตั้งนี่คือ “ประชาธิปไตย” ครับ”  พร้อมต่อด้วยประโยคที่ว่า “the enemy of my enemy is my friend” แปลเป็นไทยว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร

ซึ่งถูกแปลความว่า “มิตรของผู้กองคนดัง” อาจเป็นพรรคพท. เนื่องจาก “ร.อ.ธรรมนัส” เคยร่วมงานกับ “โทนี่ วู้ดซัม” สมัยใช้ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ช่วงยังมีบทบาทอยู่ใน “พรรคไทยรักไทย” (ทรท.) ซึ่งในอนาคตทั้ง พท. และเศรษฐกิจไทย อาจจับมือร่วมงานทางการเมืองกันในอนาคต เพราะไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน  

ขณะที่ “เอกราช ช่างเหลา” หนึ่งในส.ส.บัญชีรายชื่อ จากทั้งหมด 21 คน และเป็นคนใกล้ชิดร.อ.ธรรมนัส ซึ่งถูกพรรค พปชร.มีมติขับออก ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบผลการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่กทม.ว่า “ขอฝากถึงพรรค พปชร.สำหรับการเลือกตั้งภาคใต้ที่ พ่ายแพ้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แล้วมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัสและ ส.ส.รวม 21 คน ซึ่งการเลือกตั้งที่ภาคใต้เราแพ้คะแนนเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับการเลือกตั้งในเขตพื้นที่ที่หลักสี่นั้น พรรค พปชร.แพ้หลุดลุ่ย ซึ่งมีใครไปเดินนำบ้าง น่าจะไล่ใครออกบ้าง และใครควรพิจารณาตัวเองออกจากพรรคพปชร.บ้าง” 

สำหรับบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็น “ผอ.เลือกตั้งเขต 9 กทม. พรรคพปชร.” คือ คือ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) ซึ่งเคยรวมเคลื่อนไหวกับแกนนำพปชร.บางคน เพื่อให้ปรับ “ร.อ.ธรรมนัส” พ้นจากเลขาธิการพรรคพปชร. จนทำให้บุคคลทั้งสองกลายเป็น ไม้เบื่อไม้เมา กันมาอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดผู้กองคนดังขอแยกตัว ออกไปทำงานการเมืองกับพรรคเศรษฐกิจไทย

และเมื่อตรวจสอบเสียงในสภาฯ หลังเกิดความขัดแย้งขึ้นในพรรคแกนนำรัฐบาล พบว่า ขณะนี้มี ส.ส.ในสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้  475 คน ฝ่ายรัฐบาลมีเสียง รวม 275 คน ฝ่ายค้าน 200 เสียง ซึ่งในการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญ จะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมสภา 238 เสียง  

หลังจากพรรคพปชร. มีมติขับ “ร.อ.ธรรมนัส” พร้อมด้วย ส.ส.รวม 21 คน พ้นพรรค จะทำให้เสียงของรัฐบาลเหลือ 254 เสียง เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 16 เสียงเท่านั้น ซึ่งถูกมองว่า มีความเสี่ยงสูงในกรณีโหวตรับกฎหมายสำคัญ หากส.ส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส รวม 21 เสียง ไม่เข้าประชุมสภาฯ หรืองดออกเสียง

หรือในกรณี “กลุ่มผู้กองคนดัง” เดินเกมพลิกขั้วโหวตหนุนพรรคฝ่ายค้าน ที่มี 200 เสียง เท่ากับ เพิ่มเสียงเป็น 221 เสียง ให้พรรคฝ่ายค้าน และหากเกิดกรณีขึ้นการเสนอกฎหมายสำคัญของรัฐบาล จะสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เสียงรัฐบาลและฝ่ายค้าน ห่างกัน เพียง 33 เสียง เท่านั้น

อีกทั้งใน จำนวน 254 เสียง ของฝ่ายรัฐบาล เมื่อหักเสียงประธานและรองประธานสภาฯ 3 เสียงแล้ว เสียงส.ส.รัฐบาลเกินครึ่งแค่ 13 เสียง ต้องจับตาดูว่า นับจากนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะหาทางรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะในช่วง “เดือนพฤษภาคม” ซึ่งมักมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นๆ แต่ที่แน่ๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านคงยื่นญัตติอภิปรายมาไว้วางใจ โดยพุ่งเป้าไปที่หัวหน้ารัฐบาล กดดันให้พ้นจากตำแหน่ง 

ในห้วงเวลานั้น ส.ส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัสในสังกัด “พรรคเศรษฐกิจไทย” ไทยจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองทันที และหากบวกรวมกับพรรคขนาดเล็ก อาจสร้างแรงสั่นเสทือน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ทันที ซึ่งนับจากนี้ การเดินเกมต่อรองทางการเมืองของผู้กองคนดังกับ “พล.อ.ประยุทธ์” จะมีความเข้มขึ้นมากขึ้นเป็นลำดับ โดยมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร. ในฐานะคนกลาง จะมีบทบบาทสำคัญ กับการคลี่ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้น

หรือหัวหน้ารัฐบาลจะเลือกปรับครม. ยอมงอไม่ยอมหัก เพื่อมอบเก้าอี้รัฐมนตรี ให้กลุ่ม “ร.อ.ธรรมนัส” เพื่อใช้เป็นกลไกรับมือญัตติอภิปรายไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งดูจะเป็นหนทางเฉพาะหน้า ช่วย ต่ออายุให้รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ ไปได้ซักห้วงเวลาหนึ่ง เว้นแต่หัวหน้ารัฐบาลจะมีไม้เด็ดรูปแบบอื่น ไว้รับมือ “มรสุมทางการเมือง” ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะการเมืองไทยมีตัวแปร และปัจจัยอื่นอยากที่คาดเดาได้จริงๆ

…………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว” 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img