วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโชว์ใบเสร็จเชือด“5 รมต.”หรือแค่โหมโรง-หวังปั่นกระแส
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โชว์ใบเสร็จเชือด“5 รมต.”หรือแค่โหมโรง-หวังปั่นกระแส

น่าจะเป็นความล้มเหลวของพรรคฝ่ายค้าน นำโดย “พรรคเพื่อไทย” (พท.) จากผลงานในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก การปลุกกระแสการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้ใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 151 ดูเหมือนจะขาดการตอบรับจากสังคม  

แม้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา และ เลขาธิการพรรค พท. จะออกมาบอกว่า ส.ส.หลายท่านมีความคิดในทิศทางเดียวกัน ไม่อยากวางตัวผู้อภิปรายหลายคน ในส่วนพรรคพท.ก็วางผู้อภิปราย 1-2 คน ต่อรัฐมนตรีหนึ่งคน มองว่าการอภิปรายครั้งนี้มีรัฐมนตรีถูกอภิปรายมากถึง 10 คน คาดว่าต้องใช้เวลาอภิปรายไม่เกิน 4 วัน ถ้าใช้เวลามากกว่านี้มันจะเนือย หากมันไม่เจ๋งจริง คนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ได้

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เลขาธิการพรรคพท.ออกมาย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้พรรคพท.จะเน้นหลักฐานเป็นหลักโดยเฉพาะ เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และ จะมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 5 คนที่มีใบเสร็จแน่ๆ และจะยื่นศาลรธน. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และยื่นเอาผิดมาตรฐานจริยธรรธน. ซึ่งเป็น 3 ข้อกล่าวหาที่รัฐมนตรีแต่ละท่านจะโดน

คงต้องบอกว่า ถ้าพรรคพท.มีใบเสร็จจริง ตามที่คุยคุยโม้โอ่อวดไว้ ต้องบอกเลย รัฐมนตรีทั้ง 5 คนไม่มีทางรอดแน่ๆ เพราะทุกพรรคประกาศชัด รับไม่ได้กับพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น แต่การทำศึกซักฟอก 4 ครั้งที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านล้มเหลว ข้อมูลไร้น้ำหนัก ขาดซึ่งหลักฐาน อันเป็นที่ยอมรับ แม้ผลลงคะแนนไว้วางใจไม่ไว้วางใจ จะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ส่งผลทางการเมืองใดใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ลองย้อนไปดูผลงานของพรรคฝ่ายค้านในอดีต โดยเฉพาะในช่วง “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) เป็นแกนนำ ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจครั้งใด จะนำมาสู่ผลสะเทือนทางการเมือง เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองไหน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่ที่เห็นผลตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม คงเป็นช่วง “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาทำงานการเมือง และมีบทบาทชี้นำพรรคการเมืองต่างๆ นับตั้งแต่ “พรรคไทยรักไทย” (ทรท.), “พลังประชาชน” (พปช.) จนมาถึง “เพื่อไทย” (พท.)  

โดยเฉพาะเรื่องที่สร้างความฮือฮามากที่สุด หนีไม่พ้นความเสียหาย ที่เกิดจาก โครงการรับจำนำข้าว ในสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีพรรคพท.เป็นแกนนำรัฐบาล ในช่วงนั้น ปชป.เป็นแกนนำฝายค้าน บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบโครงการประชานิยม ซึ่งสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาทคือ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ก่อนจะมารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคไทยภักดี (ทภ.)

เคยทำหน้าที่เป็นขุนพลสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน โดยอดีตส.ส.พรรคปชป.ได้นำเรื่อง ความไม่ชอบมาพากล จากโครงการประชานิยม ซื้อข้าวแพงมาขายในราคาถูก มีปมฉ้อฉลหลายประเด็นมาอภิปราย ไม่ไว้วางถึงสองครั้งติดต่อกัน

โดยบทสรุปจากการตรวจสอบครั้งนั้น นอกจากจะส่งผลให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนถูกพิพากษาจำคุกแล้ว “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรมว.พาณิชย์ และ “ภูมิ สาระผล” อดีตรมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญพรรคพท. ยังถูกศาลฎีกาฯยังสั่งจำคุก โดย “ภูมิ” เจอไป 36 ปี ส่วน “บุญทรง” ก็ต้องรับกรรม เจอทลงโทษ 42 ปี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยงข้องกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ส่วน “ยิ่งลักษณ์” วันนี้กลายเป็น “นักโทษหนีคดี” เมื่อศาลฎีกาฯสั่งจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาปล่อยละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการฉาว กลายเป็นตำนานประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ “สองพี่น้องตระกูลชินวัตร” มีสถานะเดียวกัน ทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ไม่สามารถกลับมาพำนักในบ้านเกิดเมืองนอนได้ ซึ่งถือเป็นผลพวงจากการทำหน้าที่ตรวจสอบพรรคฝ่ายค้าน ผ่านกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หรือสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น กรณีการทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทร ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุก “วัฒนา เมืองสุข” อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ อดีตแกนนำพรรคพท. ซึ่งเล่นบท “ฮาร์ดคอร์” เพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี ซึ่งศาลฎีกาฯได้ตัดสิน และต่อมาศาลฎีกาให้ประกันตัว “วัฒนา” โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท

คดีนี้เกิดขึ้นใน ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการนำเรื่องไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีกระบวนการการตรวจสอบการกระทำผิด ในช่วงของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก่อนเปลี่ยนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนต่อ กระทั่งปี 2560 ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด “วัฒนา” พร้อมจำเลยคนอื่นๆ อีก 14 คน กรณีทุจริตเรียกรับสินบน จากบริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 82.6 ล้านบาท

รวมถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง อ่านคำสั่งศาลฎีกาคดีที่ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์” อายุ 78 ปี อดีตหัวหน้าพรรคพท. และ รมว.มหาดไทย จำเลยในคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ยื่นขออนุญาตฎีกาในคดีหมายเลขดำ อท.38/2559 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

ถ้าจำได้ “ถาวร เสนเนียม” อดีตแกนนำพรรคปชป. เคยหยิบยกเรื่องนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วยตีแผ่ขบวนการเล่นแร่แปรธาตุ ทำให้ธรณีสงฆ์กลายเป็นสนามกอล์ฟ นำมาสู่การถูกลงโทษนักการเมืองระดับอดีตรัฐมนตรี ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า การตีแผ่ขบวนการทุจริต และ คอร์รัปชั่น ถือเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ แต่กระบวนการตรวจสอบ ต้องมีหลักฐาน มีใบเสร็จที่แท้จริง แลหลักฐานที่นำมามาเปิดเผย ต้องไม่ใช้เรื่องที่เสกสรรปั้นแต่งขั้น ดังนั้นการที่แกนนำพรรคพท. อ้างว่ามีใบเสร็จ ซึ่งจะนำมาใช้ในศึกซักฟอกครั้งนี้ สังคมจึงจับตามองด้วยความความคาดหวัง   เพราะเรื่องความไม่โปร่งใส และความไม่ชอบมาพากลในการบริหารประเทศ ถือเป็นเรื่องที่คนไทยอมรับไม่ได้

แม้การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน จะถูกตั้งคำถาม การยื่นตรวจสอบครม. จำนวนถึง 10 คน มากเกินไปหรือไม่ เหมือนเป็นการเหวี่ยงแห ไร้ซึ่งข้อมูลเด็ด หว่านไปทั่ว แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในอดีต อภิปรายเพียง  1 หรือ 2 คน ข้อมูลแน่นๆ หลักฐานชัดๆ ฝ่ายบริหารมีอันเป็นไปแน่ๆ

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย พรรค พท. พรรคก้าวไกล (กก.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเพื่อชาติ (พช.)  และ พรรคพลังปวงชนไทย (พลท.) โดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคพท. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครม.เป็นรายบุคคล ตามรธน.มาตรา 151 วันที่ 15 มิ.ย.นี้

โดยกำหนดการอภิปรายครั้งนี้ว่าเป็นยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน ดังนั้นจะเป็นการอภิปรายเด็ดหัวนายกรัฐมนตรี และครม.เป็นรายบุคคล ในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดพลาดล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมาตรฐานจริยธรรม ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือเรื่องที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายทักท้วงไว้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งในกรอบ 6 เรื่องนี้ เรามั่นใจในข้อมูลจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน บวกกับ พรรคไทยศรีวิไลย์ (ทศล.) ที่จะมาร่วมอภิปรายด้วย 

เมื่อถามว่า จะเป็นการอภิปรายครม.ทั้งหมดกี่คน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคพท. ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่านค้าน) กล่าวว่า “1 หัวมี 1 คน ส่วนนั่งร้านมาจาก 3 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมนั่งร้าน 9 คน รวมกับหัวด้วยก็เป็น 10 คน ซึ่ง “3 ป.” โดนครบทุกคน เพราะเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ขณะที่กรอบระยะเวลาการอภิปราย คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 4 วัน”

สำหรับรัฐมนตรีที่คาดว่าถูกยื่นอภิปรายทั้ง 10 คน ประกอบด้วย พรรค พปชร. 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พรรคปชป. 2 คน ได้แก่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และพรรคภท. 2 คน ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งอาจจะมีชื่อ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ติดโผด้วย

ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม”

เดิมพันของพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะมีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต โดยเฉพาะ “พท.” ตั้งเป้าไว้ที่ปรากฎการณ์ “แลนด์สไลด์” เพราะถ้าล้มเหลว เหมือนในอดีตที่ผ่านมา นอกจากจะตกอยู่ในสภาพฝ่ายค้าน บรรดางูเห่าที่รอตัดสินใจเปิดเผยตัว คงเลือกจังหวะนี้ตีจากพรรคต้นสังกัด

แทนที่ศึกซักฟอกจะทำให้ รัฐบาลระส่ำระส่ายๆ พรรคฝ่ายค้านกลับเกิดสภาพปั่นป่วนแทน ยิ่งท่อน้ำเลี้ยงไม่เปิด หัวจ่ายไม่ทำงาน ใครจะยอมให้ถูกหลอกถูกใช้ หลังตกอยู่ในสภาพ อดอยากปากแห้ง มา 8 ปีเต็ม

………………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img