วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“2 ชายปริศนา”บินพบ“ทักษิณ” การเมืองร้อน “ซักฟอกเดือด”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“2 ชายปริศนา”บินพบ“ทักษิณ” การเมืองร้อน “ซักฟอกเดือด”

ไม่รู้เสียงหัวเราะของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และเพื่อนร่วมงาน   ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.65 จะแปรเปลี่ยนเป็นเสียงร้องไห้ ภายหลังหรือไม่

เมื่อรับรู้ท่าที พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) หลังตัดสินใจ ไม่ขอมีสถานภาพเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไป

ก่อนหน้านั้น สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ระหว่างการประชุมครม. นายกฯได้เดินทักทายรัฐมนตรีรอบห้อง พร้อมบทสนทนาที่ เต็มไปด้วยได้เสียงหัวเราะ โดยใช้เวลาประชุมไม่นาน จากนั้น “อนุชา นาคาศัย” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานคณะกรรมการประสานงาน (วิปรัฐบาล) รายงานวาระงานสภาผู้แทนราษฎรว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีทั้งหมด 4 วัน โดยฝ่ายค้านได้เวลาทั้งหมด 45 ชั่วโมง ส่วนอีก 18 ชั่วโมงเป็นของครม. ส.ส.พรรครัฐบาล โดยขอให้รัฐมนตรีช่วยกันรักษาเวลาจะได้ไม่ไปกินเวลาฝ่ายค้าน

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวว่า “ขอให้ทุกคนตอบชี้แจง ผมเตรียมความพร้อมที่จะตอบเตรียมทุกอย่างไว้แล้ว แต่จะใช้เวลาตอบไม่มาก เพื่อที่พวกเราจะได้ มีเวลาเต็มที่ในการชี้แจง เพราะครม.มีเวลา 18 ชั่วโมง ต้องชี้แจงให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงตามความเป็นจริงผมพร้อม ไม่กังวล”

พร้อมทั้งบอกอีกว่า “ความจริงรัฐมนตรีสามารถลุกขึ้นชี้แจงได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาตัวเอง ให้ลุกขึ้นชี้แจงได้ทันที ชี้แจงตามสไตล์ของตัวเอง”

ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายกฯ กล่าวว่า “ขอให้รักสามัคคีกัน เพราะเราทำงานร่วมกัน”

ใครจับอาการก็คงเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งผ่านการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมา 4 ครั้งแล้ว คงไม่หนักใจอะไร  กับกระบวนการตรวจสอบ เนื่องจากที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของ พรรคร่วมฝ่ายค้านไร้ใบเสร็จ ซักฟอกหัวหน้ารัฐบาล ยิ่งการอภิปรายครั้งนี้ กำหนดผู้ถูกอภิปราย ไว้ถึง 11 คน เลยถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเหวี่ยงแห ไม่มีหลักฐานเด็ด ในการลงดาบใครคนใดคนหนึ่ง

ยิ่งเมื่อย้อนไปดูในอดีตจะพบว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง จะพุ่งเป้าไปที่ “หัวหน้ารัฐบาล” เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย จะวัดกันด้วยเสียงสนับสนุนในสภาฯ ต่อให้ฝ่ายบริหาร ชี้แจงดีขนาดไหน แต่ส.ส.ฝ่ายค้านมีมือที่มากกว่า ก็เดินต่อไม่ได้  ดังนั้นการแสดงจุดยืนของพรรค ศท. จึงมีความหมายในทางการเมืองพอสมควร

ขณะที่ “วิชิต ปลั่งศรีสกุล” รองหัวหน้าพรรค และ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ออกมา เปิดเผยว่า ได้รับการมอบหมายจาก “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา และ หัวหน้าพรรคศท. ซึ่งติดภารกิจลงพื้นที่ในต่างจังหวัดอยู่ ให้แจ้งว่า จากผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4  ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคศท.แพ้ให้กับผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคเสรีรวมไทย (สร.) โดยวิเคราะห์สาเหตุที่แพ้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า เพราะประชาชนไม่เห็นด้วย กับการที่พรรค ศท. สนับสนุนรัฐบาล และจากการหารือกับส.ส.พรรค 2 คนคือ “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นวิปพรรคร่วมรัฐบาล ก็แสดงความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นวิปรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า สังคมขณะนี้เห็นความไม่ชัดเจนของพรรค จึงอยากจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของเรา ในการที่จะไม่ร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี 

ต่อมา “ร.อ.ธรรมนัส” ออกมาเปิดเผยเองว่า จากนี้ไปพรรค ศท. ก็เตรียมตัว ไปทำงานร่วมกับฝ่ายค้าน อย่างชัดเจน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยในตอนนี้ตนยังติดภารกิจอยู่ที่ต่างจังหวัด ซึ่งหลังจากเดินทางมาถึง กทม. ตนจะเข้าพบกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อกราบลา ในการที่จะออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถือว่าพล.อ.ประวิตรป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตามธรรมเนียมของคนไทยก็ต้องไปลา-มาไหว้

ช่วงที่ผู้กองคนดังแยกตัวออกจากพปชร. เพื่อก่อตั้งพรรค ศท. ใครก็คาดหมายว่า เป็นแผนของ “พล.อ.ประวิตร” เพื่อต้องการยุติปัญหาความขัดแย้งในพรรค พปชร. เนื่องจากแกนนำหลายกลุ่มในพรรคแกนนำรัฐบาล ล้วนไม่พอใจบทบาท “ร.อ.ธรรมนัส” ยิ่งเมื่อมีปฏิบัติการล้มหัวหน้ารัฐบาล ในศึกซักฟอกที่ผ่านมา จนทำนำมาสู่การสั่งปลด “ผู้กองคนดัง” พ้นจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยิ่งทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส” ถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ และในที่สุดก็ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ลขาธิการพปชร.” แล้วไปสร้างบ้านใหม่ชื่อ “ศท.”

FB:ธรรมนัส พรหมเผ่า

ในช่วง “พรรค ศท.” มีสถานะภาพเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ให้การสนับสนุนฝ่ายบริหารหลายเรื่อง จนได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่เป็น กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 66  และมีสัญญาณคล้ายกับความสัมพันธ์น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จนมาถึงจุดแตกหัก เมื่อปรากฎผลเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ลำปาง  เขต 4 “เดชทวี ศรีวิชัย” พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้คะแนน 55,638 คะแนน ขณะที่ “วัฒนา สิทธิวัง” พรรค ศท. หมายเลข 3 ได้ 30,451 คะแนน เรียกว่าทิ้งห่างกันพอสมควร

แต่บางคนอาจตีความไปได้ หรือความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ เป็นเพราะ “ผู้กองออมมือ” ชกไม่สมศักดิ์ ออมมือไว้ เพื่อหาช่องทางตีจากรัฐบาล หลังประเมินดูแล้ว เชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” คงไม่ปรับครม. จึงออกมาอ้างว่า นอกจากความไม่ชัดเจนในบทบาทแล้ว ยังเผชิญกับ อำนาจรัฐที่เตะตัดขาด้วย

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า มีบุคคลสำคัญที่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร 1 คน กับ บุคคลที่มีบทบาทด้านนิติบัญญัติ 1 คน ได้เดินทางไปพบกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯที่มีบทบาทสำคัญ ในการชี้นำ พรรคเพื่อไทย (พท.) ระหว่างพำนักที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อพูดถึงความร่วมมือทางการเมืองในอนาคต 

โดยการหารือกับ “คนแรก” อาจเป็น เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ใครจะเลือกนายกฯ ใครจะเลือกดูงานทางด้านไหน  ส่วน “อีกคนหนึ่ง” อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง “อดีตนายกฯที่หนีคดี” คงต้องการให้บุคคล ที่มีบทบาทด้านนิติบัญญัติ เปิดทางให้พรรคฝ่ายค้านได้เวลาในการ ซักฟอกหัวหน้ารัฐบาลและบรรดารัฐมนตรี ที่มีชื่อถูกอภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อส่งผลต่อคะแนนนิยมและศรัทธาประชาชน

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเล็ก หลังพรรค ศท. ประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีราคาทางการเมืองขึ้นมาทันที “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 กล่าวถึงกรณีร.อ.ธรรมนัส ประกาศถอนตัวจาการร่วมรัฐบาลว่า กลุ่ม16 พร้อมจับมือทำงานกับร.อ.ธรรมนัส โดยในวันที่ 18 หรือ 19 ก.ค.นี้ ร.อ.ธรรมนัสจะหารือกับกลุ่ม 16 ถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เบื้องต้นจะเน้นหารือไปที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสัปดาห์หน้า

เพราะถ้ากลุ่ม 16 และพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มีเสียงรวมกัน 32 เสียง ยกมือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใด จะสะเทือนถึงขั้นหลุดจากเก้าอี้ พวกตนจะสอบถามร.อ.ธรรมนัส จะเข้าไปร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ แนวโน้มกลุ่ม 16 กับร.อ.ธรรมนัส น่าจะยกมือไปทางเดียวกัน

ส่วนแนวทางการถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคเล็กนั้น จะไปหารือกันในวันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยจะดูจาก ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยมาวัดผลกัน เพราะจู่ๆ จะให้ประกาศถอนตัวทันทีคงไม่ได้ แต่หากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีรัฐมนตรีตอบคำถามได้ไม่เคลียร์ พรรคเล็กจึงค่อยนำเรื่อง การถอนตัวจากรัฐบาลพิจารณาว่า จะถอนตัวจากรัฐบาลหรือไม่ 

ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตรนัดพรรคเล็กหารือ ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ ในวันที่ 17ก.ค.นี้ “พิเชษฐ” กล่าวว่า คงเรียกไปสอบถามเรื่องการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเล็กจะเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติ ขณะนี้พรรค ศท.ถอนตัวจากรัฐบาลไปแล้ว หากได้เสียงของพรรคเล็กไปรวมด้วยอีก จะยิ่งยุ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นพล.อ.ประวิตรน่าจะเรียกพรรคเล็กมาพบเพื่อเช็กเสียงฝั่งรัฐบาล เพื่อความมั่นใจในการลงมติ

จากนี้ไปคงขึ้นอยู่กับบารมีและความสามารถของ “พี่ใหญ่ 3 ป.” จะเกลี่ยกล่อม “ร.อ. ธรรมนัส” และทำความเข้าใจกับ “พรรคเล็ก” ได้มากขนาดไหน เนื่องจากที่ผ่านมา “พล.อ.ประวิตร” ก็ช่วยเหลือดูแลกันมาตลอด

หรือจะถึงวาระสุดท้ายของรัฐบาล เมื่อ 3 แกนนำที่ค้ำจุนอำนาจรัฐ ต้องแยกกันคนละทิศคนละทาง

หรือจะเป็นอย่างที่ “โหรวันชัย สอนศิริ” ทำนายทายทักเอาไว้ในเรื่อง “6 เดือนของรัฐบาลกับดาวมฤตยู” ตอนหนึ่งระบุว่า นับแต่นี้ไปถึงสิ้นปี ก็แค่ 6 เดือนเท่านั้นเร็วมาก เผลอแปปเดียวมันก็ถึงแล้ว ต่อแต่นี้มันเป็นเรื่องร้อนแรงทั้งในสภาและนอกสภา มีเวลาเหลืออยู่ไม่นาน จะรักหรือจะเกลียดรัฐบาลนี้ เขาก็มีเวลาเหลืออยู่แค่นี้เท่านั้น และดูจากสถานการณ์ทางการเมือง ทั้งข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งทั้งมฤตยูย้ายวันที่ 7 ก.ค.นี้ ยังไง ๆ รัฐบาลนี้ก็อยู่ไม่ครบวาระแน่นอน

การจะอยู่หรือไป ก็เป็นเหตุผลทางการเมืองทั้งนั้น และนักการเมืองไม่ว่าจะซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้านมองถึงการเลือกตั้งและ อำนาจข้างหน้ากันทั้งนั้น เศษๆ เลยๆ ของอำนาจที่เหลืออยู่ในขณะนี้ มันก็แค่อึดใจเดียว ผู้มีอำนาจบางท่านเคยบอกว่า หลังประชุม APEC 18-19 พ.ย. แล้วค่อยยุบสภาจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในปลายเดือนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีไพร่พลบาดเจ็บล้มตายกันบ้างล่ะ ส่งผลให้เกิดแรงกระแทกกระทบไปถึงองคาพยพของผู้มีอำนาจ

แต่อย่าลืม แม้ “คนแดนไกล”และ “คนแดนใกล้” อยากจะลิขิต บทชีวิตในทางการเมือง แต่เรื่องจริงมันยากที่จะทำได้  

………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img