วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSอย่าเอา“การเมือง”...นำ“เศรษฐกิจ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อย่าเอา“การเมือง”…นำ“เศรษฐกิจ”

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่นั่งหัวโต๊ะได้กำชับกลางที่ประชุมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” เพื่อประคองค่าเงินบาทไว้ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

ต่อมาพล.อ.ประวิตร ก็ยอมรับว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนเอง กล่าวถึงค่าเงินบาทว่าควรจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การที่พล.อ.ประวิตรออกมายอมรับเช่นนี้ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศไทยกลับไปใช้ระบบ “ค่าเงินบาทคงที่” เหมือนเมื่อครั้งก่อนเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่ไทยเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจประเทศในแถบเอเซียพลอยโดนหางเลขไปด้วย

พล.อ.ประวิตรจะรู้หรือไม่ว่า คำพูดเพียงไม่กี่คำที่พูดออกไป ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการบอกเป็นนัยว่า รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงการดูแลค่าเงินบาท ทำให้ถูกตีความว่า รัฐบาลกำลังเข้าไปแทรกแซงความเป็น “อิสระ” ของแบงก์ชาติอย่างมิอาจปฏิเสธได้

สะท้อนจากทันทีที่ พล.อ.ประวิตรยอมรับว่าพูดจริง ก็ได้รับการตอบโต้จากนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจเอกชน ว่าการกระทำดังกล่าวเป็น พฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นการฝืนกลไกตลาด และอาจทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ

ในทางกลับกัน “การตรึงค่าเงินบาท” ตามแนวคิดของพล.อ.ประวิตรต่างหาก ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตการเงินซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หากยังจำเหตุการณ์คราวนั้นได้ ในปีนั้น…ค่าเงินบาทเคยถูกตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ก่อนที่แบงก์ชาติจะปล่อยลอยตัวขึ้นไปในระดับ 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ดังนั้นหากใช้เงินสำรองระหว่างประเทศไปเพื่อการปกป้องค่าเงิน ดังที่แบงก์ชาติเคยทำ จนนำไปสู่การลอยตัวเงินบาท เมื่อ 2 ก.ค.2540 อาจจะเกิดวิกฤติซ้ำรอยเดิมได้

ฉะนั้น รัฐบาลก็ควรจะต้องรู้ตัวว่า บทบาทในการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท รัฐบาลเพียงมีหน้าที่กำกับ ประสานงานกันในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงิน ดูแลเงินเฟ้อและค่าเงินให้อยู่ระดับที่เหมาะสม

ที่สำคัญ การที่พล.อ.ประวิตร เปรยออกมาอยากเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ อาจถูกตีความว่าเป็นการ “สั่งการ” จะทำให้แบงก์ชาติถูกมองว่า ขาดความเป็นอิสระ และ ขาดความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินได้

อย่างที่รู้ๆ กันว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา “อ่อนค่าที่สุด” ในรอบเกือบ 16 ปี โดยเงินบาทอ่อนค่า 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นระดับอ่อนค่าที่สุด นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ปัจจัยสำคัญ มาจาก “เงินดอลลาร์แข็งค่า” อย่างมาก ตามการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” ในรอบปีนี้ “เฟด” ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงหลายครั้ง ผลพวงจากมาตรการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันอีก ปัจจัยหนึ่งเนื่องมาจากนักท่องเที่ยวลดลง ราคาน้ำมันแพงขึ้น และการขาดดุล ทั้งดุลการค้าและดุลบริการ ส่งผลให้มีเงินไหลออกนอกประเทศมากกว่าเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อแก้ปัญหาแบบ “เกาให้ถูกที่คัน” คือ ต้องทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด กลับมาเกินดุล อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่ามากเกินไป

“กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา” จะต้องมีนโยบายและมาตรการจูงใจนักท่องเที่ยว กลับมาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น “กระทรวงพาณิชย์” ต้องเร่งหาตลาดเพื่อระบายสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดต่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศให้มากๆ

อีกทั้ง เมื่อดอลลาร์แข็งค่าและส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐกว้างขึ้น โดยเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% แต่ไทยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกไปยังสกุลเงินที่มีมูลค่ามากกว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย จึงควรต้องปรับให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด

อันที่จริงค่าเงินบาทอ่อน น่าจะเป็นผลดีมากกว่าค่าเงินบาทแข็ง แต่ต้อง “อ่อนค่า” อย่างสมเหตุสมผลเพราะค่าเงินบาทอ่อนทำให้เราขายของได้มากขึ้น คนอยากมาเที่ยวมากขึ้น เพราะเท่ากับได้ของราคาถูกลง และเมื่อนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาท ก็ได้มากขึ้น ทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ประชาชนก็จะมีงานทำ จีดีพี.ก็โตขึ้นตาม

“ผู้นำ” ไม่ว่าประเทศไหนๆ ต้องรู้ว่า การเมืองเป็นของแสลงของ “ค่าเงิน” และเป็นของต้องห้ามสำหรับการเมืองไม่ให้เข้ามายุ่งมาชี้นำ คงจำได้สมัยที่ค่าเงินเป็นอัตราคงที่ ยังไม่ลอยตัวอย่างในปัจจุบัน การที่ผู้นำรัฐบาลจะตัดสินใจเกี่ยวกับค่าเงิน ถือเป็นความลับสุดยอดจริงๆ เพราะมีคนได้-คนเสียและสร้างผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจมหาศาล

ดังนั้นการส่งสัญญาณอะไร จะต้องรู้บทบาท หน้าที่ ไม่ใช่คิดแต่จะเอาการเมืองนำทุกเรื่อง จะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสีย

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img