วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเศรษฐกิจไทย...จาก''รุ่ง''กลายมาเป็น''ร่วง''
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจไทย…จาก”รุ่ง”กลายมาเป็น”ร่วง”

คงมิอาจปฏิเสธว่า เศรษฐกิจไทยในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา เริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ อีกทั้งยังไทยติด “กับดัก” ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มานาน 30 ปี โดยในปี 2564 ไทยรายได้ต่อหัวประชากร 7,097 เหรียญสหรัฐ กำลังพยายามจะยกระดับรายได้ให้ถึง 9,300 เหรียญสหรัฐ ระหว่าง 2566-2570

ตรงกันข้ามกับรายงานจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ปี 2565 ชาวมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 13,268 เหรียญสหรัฐต่อคน จากปี 2564 ที่มีรายได้ 11,399 เหรียญสหรัฐต่อหัว ทำให้มาเลเซียกลายเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” หนีไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งที่ไทยตั้งเป้าว่าภายใน 10-15 ปี จะหลุดจากกลุ่มประเทศกับดักรายได้ปานกลาง หมายความว่า จะต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่ที่ผ่านมา การเติบโตไม่ถึงร้อยละ 3.5 ต่อปีโดยเฉลี่ยเท่านั้น จึงไม่แรงพอที่จะผลักดันให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามที่ตั้งเป้าไว้ ยิ่งเมื่อเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 3.5 3.6 และ 3.4 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาใน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และ 5.1 ต่อปี ในปี 2565 และ 2566 จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน และโตช้าแบบเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเนื่องมาจากปัจจัยที่นำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทย ยังคงเป็นปัจจัยเดิมๆ และยังอิงอยู่กับพลวัตรเศรษฐกิจโลก ทั้งการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าและบริการมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66 ของ GDP ด้านสัดส่วนของการลงทุนภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 25 ของ GDP มาตั้งแต่ปี 2541 สะท้อนว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา บทบาทของการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด จึงไม่แปลกใจที่ เจพี.มอแกน มองจากความแข็งแรงของดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศ ฟันธงว่า ไทยและญี่ปุ่น ยังคงเป็นจุดที่อ่อนของเอเซีย ซึ่งตรงกันข้ามกับอินโดนีเซีย เวียดนาม ที่เติบโตเร็วกว่าไทยมาก

น่าเสียดายที่ครั้งหนึ่ง ไทยเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงจนเคยถูกมองว่าจะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” นักลงทุนต่างหลั่งไทยเข้ามาลงทุนมิขาดสาย ด้วยอาศัยค่าแรงราคาถูก นับตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพซบเซามาโดยตลอด ประกอบกับไทยยังสาละวนอยู่กับการแก้วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง การทุจริตคอรัปชั่นยังรุนแรง ระบบการศึกษาล้มเหลว ทำให้ขาดบุคคลากรคุณภาพมาพัฒนาประเทศ เราก็ถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไปแล้ว

ขณะที่ “เวียดนาม” กลายมาเป็นดาวเด่นเนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการลงทุนจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะจากจีนกันอย่างคึกคัก แม้แต่นักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนไม่น้อย เวียดนามมีจุดแข็งหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิพิเศษเต็มที่ ประชากรในประเทศกว่า 100 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนในวัยหนุ่มสาววัยทำงาน ทำให้คนชั้นกลางในเวียดนามมีขนาดใหญ่ คนกลุ่มนี้กล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีกำลังซื้อสูง

แต่ทีดึงดูดนักลงทุนมากที่สุด น่าจะเป็นผลมาจากที่ รัฐบาลเวียดนามได้ทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับ 54 ประเทศ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม เวียดนามกลายเป็นประเทศที่กำลังถูกจับตามองถึงความร้อนแรงในทุกๆด้าน จนทุกวันนี้ เวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลกขึ้นมาแทนจีน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐและเกาหลีใต้อย่าง “แอปเปิล-อินเทล ซัมซุง-แอลจี” ต่างก็พากันย้ายฐานเข้ามาลงทุน

อันที่จริง เวียดนามไม่ได้ต้องการเป็นแค่โรงงานโลกแต่ต้องการเป็น “ผู้ผลิต” และ “สร้างแบรนด์” สินค้าเป็นของตัวเอง จะเห็นได้จากกรณีการผลิตรถยนต์สัญชาติเวียดนามภายใต้แบรนด์ “วินฟาสต์” ออกสู่ตลาดโลก รวมถึงมีแผนปฏิบัติการ ที่จะสร้าง Silicon Valley เอกชนเป็นทัพหน้า โดยมีรัฐบาลหนุนเต็มที่ เพราะนั่นคือทิศทางที่มีความสำคัญในการพัฒนาชาติ อีกทั้งเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโต 7.72% และมีเป้าหมายจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2588 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ขณะที่ทางด้าน ผู้นำอินโดนีเซีย ก็ไม่นิ่งเฉย พยายามฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่บอบช้ำจากโควิดให้เร็วที่สุด เห็นจากตอนที่ไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “โจโควี” ได้แอบแวะไปหา “อีลอน มัสก์” แห่ง Tesla และ SpaceX ต่อมาเขาได้ให้สัมภาษณ์สื่อของสหรัฐฯว่า อินโดนีเซียยินดีใช้เวลาในการโน้มน้าวให้ “อีลอน มัสก์” เห็นว่าประเทศของเขาไม่ได้มีเพียงแค่ทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่เท่านั้นแต่ยังมีศักยภาพด้านอื่น ๆ อีกมาก เรียกว่าสวมบทบาทเป็นทั้ง นักการทูต และ นักกลยุทธ์ ผสมผสานกับความเป็น เซลส์แมน ได้อย่างน่าสนใจ

แอบมองเพื่อนบ้านในอาเซียน จะเห็นว่าหลายๆ ประเทศกำลังกลับมาคึกคักอย่างยิ่ง ผลสำรวจ ณ ไตรมาสแรกปี 2022 ของ Japan Center for Economic Research และ Nikkei พบว่า GDP ปีนี้ของอินโดนีเซียคาดว่าโตที่ 5% มาเลเซียโต 6.1% สิงคโปร์โต 4.6% ฟิลิปปินส์โต 6.3% ขณะที่ไทยโตแค่ 3.1% เท่านั้น ขยายตัวต่ำสุด ใกล้เคียงกับที่ OECD ประเมินโดยคาดว่า ปีนี้อินโดนีเซียขยายตัว 5.2% มาเลเซีย 6% ฟิลิปปินส์ 7% (สูงสุดในอาเซียน) เวียดนาม 6.5% สิงคโปร์ 4% บรูไน 3.5% ส่วนไทยขยายตัวที่ 3.8%เท่านั้น

คิดแล้วอ่อนใจ จากที่เคยรุ่งต้องกลายมาเป็นร่วง จนเพื่อนบ้านแซงหน้าไปหมด หากยังเป็นอย่างนี้อีกต่อไป อีกไม่นานจากที่เคยอยู่หัวแถวของอาเซียน อาจจะต้องมาอยู่ท้ายแถวก็เป็นได้

……………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img