วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ฟุตบอลโลก”...เศรษฐกิจ-การเมืองและ “เสือนอนกิน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ฟุตบอลโลก”…เศรษฐกิจ-การเมืองและ “เสือนอนกิน”

นับจากนี้ไปอีกหนึ่งเดือน คนทั้งโลกจะถูกตรึงด้วย มหกรรมฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นเป็นมหากาพย์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ทุกประเทศต้องสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อจะมีโอกาสเป็นเจ้าภาพเกมกีฬาอันยิ่งใหญ่นี้ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวอีกด้วย

การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน จะให้มีกิจกรรมการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งจากการท่องเที่ยวและการบริการ นอกเหนือจากการจับจ่ายใช้สอยในระหว่างที่มีการก่อสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อนการแข่งขัน

ส่วนในระยะยาว อาจจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เหนือสิ่งใดยังเป็นโอกาสแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศเจ้าภาพและเมืองที่มีสนามแข่งขันมีศักยภาพนั้น เหมาะสมกับการลงทุนอันเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง

บทเรียนในอดีตจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นกรณีของ “เยอรมันนี” ถือเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2006 ใช้งบลงทุนแค่ 430 ล้านยูโรเท่านั้น เพราะ ไม่ต้องลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ของเดิมมีความพร้อมอยู่แล้ว ช่วงเวลาทีมีการแข่งขันยังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 400 ล้านยูโร อีกทั้งยังมีกำไรจากการจัดการแข่งขันถึง 56 ล้านยูโร อัตราการว่างงานก็ลดลง เศรษฐกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็มีหลายประเทศเช่นกันต้องขาดทุน จนเกือบจะล้มละลาย “บราซิล” เป็นตัวอย่างในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่ล้มเหลวมากที่สุด เนื่องจากหวังผลสูงกว่าความเป็นจริง โดยตั้งกำไรไว้ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนก็สูงถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กลับทำรายได้จากทัวร์นาเมนต์นี้เพียง 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น งานนี้บราซิลขาดทุนมากถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจของบราซิลต้องถดถอย โดยจีดีพี.ก่อนปี 2014 สูงถึง 6% หดตัวเหลือแค่ 4% มีปัญหาการว่างงานตามมา สิ่งก่อสร้างอย่างสนามกีฬา ก็ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์

สำหรับ ประเทศ “กาตาร์” เจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่มีขนาดเศรษฐกิจมีมูลค่า 1.46 แสนล้านดอลลาร์ แต่ทุ่มงบกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวและผู้ชมฟุตบอลจากทั่วโลก ซึ่งถือว่าลงทุนมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ และยังใช้เงินอีก 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างสนามกีฬา 8 แห่ง รวมถึงใช้เงินอีกหลายพันล้าน เพื่อสร้างรถไฟใต้ดิน สนามบินแห่งใหม่

คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจกาตาร์จะได้รับประโยชน์ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเดือนกว่าของศึกฟุตบอลโลก โดยจะมี “กำลังซื้อ” เพิ่มขึ้นจากนักกีฬาและทีมงานของชาติต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพื่อชมการแข่งขัน ผลทางเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กาตาร์จะได้รับ เพราะการเตรียมความพร้อม ทำให้รัฐบาลต้องลงทุนปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ การใช้จ่ายของรัฐบาลทำให้กระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มระดับการจ้างงานมากขึ้น

ขณะที่ในเรื่องของการเมือง ต้องไม่ปฏิเสธว่า การเมืองนั้นได้แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของวงการฟุตบอล ไม่ว่าการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก หรือการแข่งขันในระดับทวีป “นักการเมืองลูกหนัง” หรือ “มาเฟียลูกหนัง” ซึ่งเป็นสมาชิกระดับสูงของสมาพันธ์ หรือสมาคมฟุตบอลต่างๆ ที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์ การสืบทอดอำนาจ ผลประโยชน์ทับซ้อน วาระซ่อนเร้น

การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์จึงมีรอยด่างมากที่สุดครั้งหนึ่ง นับแต่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก ตั้งแต่ความไม่ชอบมาพากลในการได้มาซึ่งการเป็นเจ้าภาพ ที่มีการให้สินบนผู้แทนประเทศต่างๆ จนทำให้คนดังในวงการฟุตบอลของโลกต้องพ้นจากตำแหน่งหลายคน  

ขณะเดียวกันยังถูกต่อต้านจากประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันในเรื่องสิทธิมนุษยชน กรณีการกดขี่เอาเปรียบแรงงานต่างชาติทีเข้าไปทำงานก่อสร้างสนามกีฬา ระบบสาธารณูปโภคสำหรับการแข่งขัน จนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ภาพการต่อต้านทั้งจากนักฟุตบอล สปอนเซอร์ จากประชาชนประเทศต่างๆ ตอนนี้ก็เริ่มขึ้นประปรายและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างที่มีการแข่งขัน อาจจะกระทบกับภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือได้

แต่งานนี้คนที่รับไปเต็มๆ คงไม่พ้น ฟีฟ่า ที่คาดการณ์รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทีวี. การตลาด การขายโฆษณาและยังมีค่าสิทธิ์ต่อเนื่อง นอกเหนือจากลิขสิทธิ์จากการได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและการอนุญาตให้ใช้สิทธิคาดว่าในรอบ 4 ปีของการแข่งขันปี 2022 ที่กาตาร์จะมีรายได้ 6.56 พันล้านดอลลาร์…เลยทีเดียว

มหากาพย์แห่งกีฬาแห่งมวลมนุษย์ชาติอย่างฟุตบอลโลก จึงเจือปนไปด้วยการเมืองและเรื่องผลประโยชน์และส่งผลกระทบเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img