วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘บัณฑูร’แนะคาถา 4 ข้อ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘บัณฑูร’แนะคาถา 4 ข้อ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’

ไม่อาจปฏิเสธว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้น มาจากหลายสาเหตุ เบื้องต้นเลยที่เป็นเรื่องพื้นฐานคงเป็นเรื่องที่ “คนไม่เท่ากัน” เพราะเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะไม่เท่ากันและต่างกันมาก ทำให้ ฐานะเศรษฐกิจ ไม่เท่ากัน การศึกษา ต่างกันไกลลิบ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงปัจจัยต่างๆ ไม่ว่า ระบบสาธารณะสุข และ กระบวนการยุติธรรม ไม่เท่ากัน

ที่ผ่านมามีหน่วยงานองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้พยายามเสนอทางแก้ไข แต่ไม่เคยสำเร็จ ตรงกันข้ามนับวันความเหลื่อมล้ำกลับยิ่งถ่างกว่างขึ้นเรื่อยๆ และครอบคลุมในทุกมิติ

ล่าสุด “บัณฑูร ล่ำซำ” ไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดญาณสังวราราม มีข้อเสนอน่าสนใจผ่านปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยบนความไม่แน่นอน” ในงาน “The STANRARD ECONOMIC FORUM 2022” ถึงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ เรียงจากง่ายไปยาก

1) การเก็บภาษีอย่างทั่วถึง เก็บให้หมดทุกอย่าง คือ เก็บเท่าไหร่ เก็บอย่างไร ให้ไปตกลงในรัฐสภา

2) ช่วยให้สู้กันได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ SMEs ที่ไม่มีทุน ไม่มีความรู้จะสู้กับเจ้าสัวได้ยังไง แต่ต้องพยายามให้ได้มีความรู้ ให้ได้ทุน ให้ได้ระบบที่เอื้ออำนวย ไม่ให้เบียดกันเกินไป ก็ลองไปทำดู

3) อะไรที่มีจำนวนจำกัด ต้องมีการจำกัด ไม่ให้ใครเอาไปหมด ตัวสำคัญที่สุดคือ ที่ดิน ที่ดินมีจำกัด ถึงจุดหนึ่งต้องมีวิธีจำกัดว่า คนหนึ่งมีเท่านั้นเท่านี้ได้ เรื่องนี้ก็ไม่ง่าย ก็ไปถกกันในรัฐสภา

4) ถ้าทำได้ก็จะชะงัดมากเลย คนทำผิดเหมือนกันต้องรับโทษเหมือนกัน

คุณบัณฑูร ได้อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมว่า “เมาเหล้าชนคนตาย มันไม่สำคัญว่า รถที่ชนนั้น จะเป็นซุปเปอร์คาร์หรูหรา หรือรถคันเล็กๆ กระป๋อง ต้องรับโทษเท่ากัน อันนี้จะแก้ความเหลื่อมล้ำในหัวใจคนได้ทันที แล้วมันพิสูจน์ได้ในเชิงคณิตศาสตร์ เพราะว่าคนมีร้อยบาทกับคนมีร้อยล้านบาท ซื้อระบบยุติธรรมไม่ได้ เท่ากับเป็นศูนย์ ความเหลื่อมล้ำในหัวใจ คือที่ที่ความเหลื่อมล้ำน่ากลัวที่สุดที่อยู่ในหัวใจจะหายไปทันที และก็พูดตรงๆ อันนี้ทำยากที่สุด แต่จะทำได้”

สิ่งที่คุณบัณฑูรพูดนั้น เป็นเรื่องที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และนับวันความเหลื่อมล้ำในบ้านเรา ก็ยิ่งถ่างออกไปทุกที จนติดอันดับต้นๆของโลก ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” ในบ้านเราเป็นความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น เหลื่อมล้ำด้านรายได้ เหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ที่ดินทำกิน

“Credit Suisse” ประเมินว่า คนรวยที่สุดของไทย ถือครองทรัพย์สินมากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนที่ถือครองทรัพย์สินที่ถือครองโดยคน 1% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008-2018

ขณะที่ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ แม้ตัวเลขของทางราชการจะดูดีขึ้น นั่นหมายความว่า สถิติคนจนในประเทศลดลงในความหมายของราชการ แต่ในความเป็นจริงนั้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ นับวันยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆ ส่วนด้านการศึกษานั้น ยิ่งจะเห็นชัดเจนระหว่างลูกคนรวยกับลูกคนจน คนรวยจะส่งลูกเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนชื่อดังของประเทศ แล้วไปเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้นๆ หรือส่งไปเรียนต่างประเทศ จบออกมาทำงานดีๆ มีรายได้สูงๆ ต่างจากลูกคนจนเรียนโรงเรียนวัด โรงเรียนในชนบท ไม่มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยดีๆ จบมาก็ทำงานในโรงงาน รายได้ไม่สูง ความเหลื่อมล้ำการศึกษา กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งทิ้งห่างมากขึ้น กระทั่งความแตกต่างกันในเรื่องในการเข้าถึงแหล่งความรู้นอกห้องเรียนและแหล่งทุน ก็ยังเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก

ทุกวันนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้นมาอีกมิติอย่างที่ “บัณฑูร” บอกว่าเป็น “ความเหลื่อมล้ำในหัวใจ คนจนมักจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ต่างจากคนรวยที่เข้าถึงและได้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมมากกว่า คนรวยจะมีเครือข่ายมีคนรู้จักที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องการทำมาหากินการวิ่งเต้น เป็นต้น”

ทุกครั้งที่ประเทศเกิดวิกฤติ “คนที่เปราะบาง” หรือ “คนจน” มักจะได้รับผลกระทบมากกว่า “คนรวย”

ล่าสุด วิกฤติโควิด ในช่วงเกือบๆ 3 ปีจะเห็นว่า “คนจนกับคนรวย” ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน คนจนได้รับผลกระทบมากกว่าจากการไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว กล่าวคือ มีช่องทางในการหารายได้น้อยกว่า รวมถึงการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขได้ยากกว่าคนรวย จะเห็นว่า คนรวย 10% สังคมไทยไม่เดือดร้อนจากปัญหาโควิด-19 แต่คนจนกลับต้องอยู่ภายใต้วิกฤตและเงื่อนไขแวดล้อม ที่ทำให้สภาพชีวิตเหลื่อมล้ำมากขึ้น

“ความเหลื่อมล้ำ” คือ “ความเสี่ยงของประเทศ” ยิ่งปล่อยให้นานไปจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่บอมบ์ใส่สังคมไทยให้พินาศในพริบตาได้ อย่าได้นิ่งนอนใจ

…………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img