วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเบื้องลึก“ดัชนีคอรัปชั่นไทย”ร่วง ...ดับฝันฟื้นลงทุน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เบื้องลึก“ดัชนีคอรัปชั่นไทย”ร่วง …ดับฝันฟื้นลงทุน

เมื่อสองสามวันก่อนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลสำรวจการจัดอันดับความโปร่งใสของ “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” ที่ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก

ปรากฏว่า ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2019 จัดอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน เท่ากับเวียดนาม

คะแนนที่ได้รับเท่ากับตบหน้ารัฐบาลประยุทธ์อย่างแรง อย่าลืมว่าปัญหา “การทุจริตคอรัปชั่น” เป็นประเด็นหนึ่งที่ “คสช.” ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557จนถึงวันนี้สถานการณ์การทุจริตคอรัปชั่นกลับรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากย้อนไปในช่วงนี้ ปี 2562 ไทยได้คะแนนดัชนีรับรู้การทุจริตเพียง 36 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก แถมได้อันดับแย่กว่าปี 2561 ซึ่งอยู่อันดับที่ 99 ปี 2563

cr /www.nacc.go.th

หากเปิดไส้ในรายงานฉบับนี้จะเห็นว่า ต้นเหตุที่ทำให้ไทยถูกหั่นถึง 4 แต้ม มีหลายประเด็นดังนี้ ติดสินบน-คอรัปชั่นเจ้าหน้าที่รัฐ นักธุรกิจ-นักลงทุน ต้องจ่ายใต้โต๊ะแลกสัญญา-สัมปทานโครงการรัฐ จ่ายค่าน้ำร้อน น้ำชาให้ทางสะดวก รวมถึงการ “คอรัปชั่นในระบบการเมือง” ทั้งระบบพวกพ้อง-อุปถัมภ์ สนับสนุนเงินให้กับพรรคการเมืองแบบลับ ๆ และคะแนนประชาธิปไตยย่ำอยู่กับที่

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นมากมายหลายองค์กรรวมทั้งมีงานวิจัยและรายงานการศึกษาต่างๆมากมายเพื่อหาทางแก้แต่การทุจิตคอรัปชั่นกลับไม่ลดลงแถมยังเพิ่มขึ้นทุกปี

เมื่อเร็วๆ นี้ คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการวิจัย โดยใช้วิธี “การตลาดเชิงประยุกต์” มาใช้วิจัยเรื่อง “การคอรัปชั่น” เป็นครั้งแรก โดย สำนักงานวิจัยแห่งชาติให้การสนับสนุน มี ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค เป็นหัวหน้าคณะวิจัย มีการศึกษาถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะการกำหนดนโยบายและกลไกการต่อต้านคอรัปชั่นของรัฐบาล มีลักษณะ “จากบนลงล่าง” ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และการมีส่วนร่วมจากประชาชนน้อย

จากการลงพื้นที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 719 คน ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.The Frontline กลุ่มที่เชื่อว่าปัญหาสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกระทำของตน มี 17.10% 2.The Exampler แม้จะมีความต้องการต่อต้านคอรัปชั่นเหมือนกลุ่มแรก แต่ไม่ถึงขั้นร่วมปราบปรามคอรัปชั่น มี 27.68% 3.The Mass กลุ่มที่ไม่ชอบคอรัปชั่น แต่ไม่ออกมาต่อต้าน มี 45.34% 4.The lndividualist กลุ่มที่ไม่สนใจและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการต่อต้านคอรัปชั่น มี 9.88%

ผลการวิจัยยังพบว่า “บรรทัดฐานส่วนตน” และ “ความเป็นชาย” เมื่อทดลองโดยใช้เทคนิคเชิงจิตวิทยาและเกมคอมพิวเตอร์พบว่า มีความสัมพันธ์ทางตรงกับการต่อต้านคอรัปชั่น โดย “ผู้ที่มีบรรทัดฐานส่วนตนต่ำ จะต่อต้านคอรัปชั่นต่ำ” ดังนั้น การให้ความรู้และปลุกจิตสำนึก เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้สูงขึ้น จะส่งผลให้การต่อต้านคอรัปชั่นสูงขึ้นด้วย

ส่วน “กลุ่มที่มีความเป็นชายสูง จะมีการต่อต้านคอรัปชั่นต่ำ กลุ่มที่มีความเป็นชายต่ำ จะมีการต่อต้านคอรัปชั่นสูง” ถ้ามีการปลุกจิตสำนึกและทัศนคติ ด้านความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง ทั้งในแง่ ความสามารถ การได้รับการยอมรับ อาชีพหน้าที่ จะสามารถเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างให้เกิดการต่อต้านคอรัปชั่นได้มากขึ้น

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานบริหารแผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายคนไทย 4.0 ผู้สนับสนุนงานวิจัยนี้ ระบุว่า เรื่องการคอรัปชั่นเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขของประชาชน อันเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนงานคนไทย 4.0 ดังนั้น จึงต้องออกแบบการสื่อสารที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่ต้องการต่อต้านคอรัปชั่นให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มที่มีพลังผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ยูทูบ ติ๊กต่อก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก

เมื่อสองปีก่อนเคยมีรรายงานจาก “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” สำรวจความเห็นของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในไทย พบอุปสรรคการลงทุนในไทย 5 ด้าน 1.การทุจริตคอรัปชั่น 2.ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/การปฏิวัติ 3.ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4.ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5.โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ

จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติ ได้ให้ความสำคัญกับทุจริตคอรัปชั่นเป็นอันดับหนึ่ง เพราะการที่เขามาลงทุนต้องมาจ่ายใต้โต๊ะจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา เป็นต้นทุนที่เขาต้องแบกรับและเมื่อต้นทุนสูงขึ้น การแข่งขันก็จะสู้คู่แข่งที่ไม่มีต้นทุนที่ไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะไม่ได้

ผู้ใหญ่ที่เคยนั่งในรัฐบาลคสช. เล่าให้ฟังว่า เคยมีกรณีนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอบีโอไอ.ได้แล้ว กำลังจะตั้งโรงงาน ก็โดนผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเรียกค่าคุ้มครองและบังคับให้นักลงทุนต่างชาติรายนั้น จ้างบริษัทผู้มีอิทธิพลคนนั้นถมดิน จนนักลงทุนทนไม่ไหว หนีไปลงทุนประเทศอื่นแทน

นี่ยังไม่รวมกับที่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรา ต้องผ่านด่านราชการจ่ายเบี้ยใบ้รายทางอีกไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งทุกวันนี้นักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกมากขึ้น เรื่องการทุจริตคอรัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกที่จะลงทุนที่ไหน

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในบ้านเราน้อยลงเรื่อยๆ

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img