วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“Virtual Bank” ธนาคารไร้สาขา… ตอบโจทย์รายย่อย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“Virtual Bank” ธนาคารไร้สาขา… ตอบโจทย์รายย่อย

จะว่าไปแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จากเดิมสมัยก่อนเมื่อ 40-50 ปีก่อน สาขาของธนาคารจะเป็นตึกสำนักงานโดดๆ ต้องลงทุนสูง ต่อมายุคสมัยเปลี่ยนไป ธนาคารเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า เพราะเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ เข้าไปอยู่ในปั๊มน้ำมัน เกือบ 30 ปีก่อนก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้า เช่น ตู้ ATM และมีพัฒนาการเรื่อยมาเป็น Mobile Banking เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ยังอยู่กับธนาคารรูปแบบเดิม

ปัจจุบัน ธนาคารหลายแห่งเริ่มปรับตัวไปในทิศทาง Virtual Bank มากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่มี Virtual Bank ในไทย แต่ไทยเรามีบริการทางการเงินในรูปแบบ Social Banking หรือ บริการธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นบริการทางการเงินที่ผู้ใช้บริการ สามารถใช้ได้ในแอปพลิเคชัน ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปแบบเท่านั้น ปัจจุบันไทยมีธนาคารทั้งหมด 14 แห่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ 6 แห่ง และกลาง/เล็กอีก 8 แห่ง ประเด็นสำคัญคือ ธนาคารขนาดใหญ่มักเป็นผู้กำหนดนโยบายราคา/อัตราดอกเบี้ยไปในทางเดียวกัน ส่วน ธนาคารขนาดเล็กจำเป็นต้องยอมรับนโยบายราคาของธนาคารขนาดใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าระบบธนาคารไทยเป็น “ระบบผูกขาด” ทำให้บรรดาลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการ SME เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ต้องหันไปกู้นอกระบบ ต้องรับภาระดอกเบี้ยสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” จึงมีนโยบายเปิดให้มี Virtual Bank หรือ “ธนาคารไร้สาขา” เพื่อมาช่วยตอบโจทย์กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการการเงิน พร้อมวางกรอบการอนุญาตจัดตั้ง โดย Virtual Bank สามารถทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ

Virtual Bank-ธนาคารไร้สาขา

ทั้งนี้ผู้ขอจัดตั้ง จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิดดำเนินการ และทยอยเพิ่มทุนให้มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบและปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเหมือนธนาคารพาณิชย์ทุกอย่าง เพื่อให้ดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน

เริ่มต้นจะออกใบอนุญาตให้แค่ 3 ใบก่อน เป็นการชิมลาง ถือเป็นการทดลองหาข้อบกพร่องเพื่ออุดช่องโหว่ ส่วนการจัดตั้งมี 3 รูปแบบดังนี้ คือ

1.ตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์เดิม

2.ตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-Bank

3.การร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่างๆ เช่น การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์เดิมกับ Non-Bank  หรือการร่วมทุนระหว่าง Non-Bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกันได้

คุณสมบัติผู้ที่จะขอจัดตั้ง จะต้องมีความเชี่ยวชาญการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมทั้งเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลาย เช่น นำพฤติกรรมการใช้จ่ายมาใช้ประเมินความเสี่ยง วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องนำเสนอบริการการเงินรูปแบบใหม่ให้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและครบวงจร

ขณะนี้มีหลายๆ กลุ่มสนใจที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ แต่ที่ประกาศความพร้อมเป็นรายแรกๆคือ “กัลฟ์-เอไอเอส-กรุงไทย” ที่ประกาศพร้อมยื่นขอใบอนุญาต ทันทีที่แบงก์ชาติเปิดให้ยื่นใบสมัคร

อีกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับตามองคือ กลุ่มซี.พี. ที่สนใจจะเข้าสู่ธุรกิจธนาคารมานาน เที่ยวนี้ถือเป็นโอกาสดี โดยมีบริษัทในเครืออย่างกลุ่มทรู และแอสเซนด์ กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของอีวอลเลต “ทรูมันนี่” อีกทั้งมีร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” อยู่เกือบ 14,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นช่องทางเติมเต็มการบริการ

กลุ่ม JMART ก็เป็นอีกรายที่ประกาศตัวว่าจะเข้าชิง จะมีพันธมิตรอย่าง KB Financial Group และ กลุ่มธุรกิจการเงินของเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจกลุ่มนี้มีฐานลูกค้าจาก “ซิงเกอร์” ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินในระบบได้ ทำให้ JMART มีความพร้อมในการเข้าลงทุนในธุรกิจนี้ ไม่น้อยกว่ารายอื่นๆ

จากการเปิดเผยของแบงก์ชาติ มีผู้สนใจที่จะลงทุนธนาคารไร้สาขา กว่า 10 รายเลยทีเดียว

Virtual Bank / ธนาคารแห้งประเทศไทย

ข้อดี ของ Virtual Bank คือ จะไม่มีสาขาและตู้ ATM ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งกระบวนการ มีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารรูปแบบเดิม สามารถออกนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค

อีกทั้ง มีบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก ซึ่งเจ้าของบัญชีสามารถแบ่งบัญชีออกเป็นบัญชีย่อยได้ตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงิน บัญชีเงินฝากจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวันและมี AI ที่ช่วยแนะนำการออมและการใช้จ่าย ให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี  

นอกจากนี้ ให้สินเชื่อโดยผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว มีบริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย เช่น เชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์ เป็นต้น

ปัจจุบันมีหลายประเทศได้ออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และดำเนินธุรกิจไปบ้างแล้ว เช่น  บราซิล สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และจีน โดยเฉพาะ ANT เป็น Virtual Bank ที่มีมูลค่าธุรกิจมากที่สุดในโลก และมีผู้ใช้งานมากถึง 1,300 ล้านคน  

ในอาเซียนก็มี สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย มีการดำเนินการธนาคารดิจิทัลภายใต้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จากประสบการณ์ในต่างประเทศ พบว่า Virtual Bank มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรับสมัครลูกค้าได้ง่าย

Virtual Bank / http://smartcitythailand.com/

ที่สำคัญ Virtual Bank หรือ “ธนาคารไร้สาขา” จะช่วยลดต้นทุนทั้งพนักงาน อาคาร/สถานที่ ที่ถือเป็นต้นทุนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนการให้บริการประชาชนได้ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม ซึ่งจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา แบงก์ชาติต้องควบคุมดูแล Virtual Bank อย่างใกล้ชิด ต้องไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อ จนประชาชนมีหนี้สินเกินตัว รวมถึงต้องไม่ให้มีการขยายธุรกิจจนเกินตัว อันจะนำไปสู่การล้มละลาย จนอาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้

เนื่องจาก Virtual Bank เป็นของใหม่ แบงก์ชาติต้องเร่งให้ความรู้และความมั่นใจกับประชาชนที่ใช้บริการ อย่าลืมว่า คนจำนวนหนึ่งค่อนข้างกังวลเรื่องของความปลอดภัย ด้วยความที่ธุรกรรมทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ ดังนั้นก็อาจจะกังวลไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเงินของพวกเขาหรือไม่

นอกจากนี้จะต้องไม่มองข้ามว่า ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีทักษะด้านโซเชี่ยล คนกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากธนาคารไร้สาขาอย่างไร คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาต่อไป แต่อย่างน้อยๆ ก็คงเป็นที่พึ่งของรายย่อย ที่จะเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

…………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img