วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ปล่อยก๊าซฯ..รุกป่า”…ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปล่อยก๊าซฯ..รุกป่า”…ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่า เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยติดอันดับ 9 ของโลกจาก 180 ประเทศ แต่ละปีจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 350 ตัน เข้าขั้นวิกฤติ แม้ในบ้านเราจะพูดคุยถึงเรื่อง “โลกร้อน” กันมานาน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน

แทบไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันน้อยมาก ทั้งที่มีความสำคัญระดับโลก คงถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่ใช่แค่เรื่องที่พูดถึงกันลอยๆ แต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะมันใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที ประเทศต่างๆ พยายามออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย

ข้อมูลจากองค์การค้าโลก ระบุว่า มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ณ สิ้นปี 2564 มีถึง 17,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นราว 6 เท่าจากปี 2554 ประเทศที่ออกมาตรการจำนวนมาก มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน บราซิล

ประเทศที่ทำมาค้าขายกับไทยเป็นตลาดส่งออกสำคัญ อย่างกลุ่มประเทศอียู. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ กระตือรือร้นในการออกกฎหมายที่จะเก็บภาษีสูงขึ้น โดยออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในอียู (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

คาร์บอนเครดิต…คืออะไร???

มาตรการนี้จะเริ่มทยอยออกมาใช้ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อบังคับให้ประเทศนอก “อียู” ต่อไปนี้ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงส่งสินค้าออกไปยังอียู. จะต้องซื้อใบรับรอง CBAM เพื่อชำระส่วนต่างราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิตสินค้ากับราคาคาร์บอนในอียู ซึ่งจะส่งผลให้ “สินค้าไทย” มีราคานำเข้าสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง สินค้าที่อียูจะนำร่อง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ในอนาคตจะทยอยขยายไปสินค้าอื่นๆ ต่อไป

ในฝั่งของสหรัฐ ทางสมาชิกวุฒิสภาได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง คาดว่าจะบังคับใช้ในสินค้าหลายชนิด อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล โดยจะเริ่มในปี 2567 และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิตอีกด้วย

ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังอียูและอเมริกา มีสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และในอนาคตญี่ปุ่น จีนก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการนี้เช่นกัน มาตรการดังกล่าวนี้ในด้านหนึ่งก็เป็น “มาตรการกีดกันทางการค้า” ที่ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยง

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ภาครัฐอยู่เฉยๆ ไม่ได้ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าปลูกป่าชายเลนในปีแรกเนื้อที่ 44,721.9ไร่ โดยรัฐเป้าหมายทั้งป่าชายเลนและป่าบก 6 แสนไร่ เงื่อนไข ภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้ 10% ระยะเวลาโครงการ 30 ปี

ป่าชายเลน / Blue Carbon Society

ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการปลูกป่าชายเลนเรียกว่า “บลูคาร์บอน” เป็นคาร์บอนที่ดีที่สุด ส่วนพื้นที่ที่เอกชนได้รับอนุมัติ ถือเป็นการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าชายเลนให้มีทัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ไปล้อมรั้วหรือไปปิดกั้นคนในชุมชน คนในชุมชนเข้ามาทำเกษตรกรรม ทำประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำได้ ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการจ้างงานเพื่อดูแลพื้นที่ป่าอีกด้วย

ทุกวันนี้ภาคเอกชนเองเริ่มเห็นแล้วว่า คาร์บอนเครดิตมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศและต่อการทำธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งเอกชนรายใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากๆ เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน ซีเมนต์ ต่างก็เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต เพื่อทดแทนในส่วนที่บริษัทได้ก๊าซปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ยังมีอีกปรากฏการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก อียู.เพิ่งผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งด้วยเสียงท่วมท้น เนื้อหาสาระคือ ที่ดิน ผืนป่าที่ถูกบุกรุกตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นมา ถ้าที่ดินหรือป่านั้นนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชแล้ว ถูกสั่งห้ามนำเข้ามาในอียูเด็ดขาด ซึ่งเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ คงกีดกันพวกอเมริกาใต้ ที่บุกรุกป่าอะเมซอน

แต่ประเทศไทยเองก็ถูกพูดถึงมากเช่นกัน กรณี “ยางพารา” (เข้าใจว่าอียู.มีตัวเลขสวนยางรุกป่า) และเริ่มมีการพูดถึงพวกเนื้อสัตว์ เช่น ฟาร์มไก่ การทำปศุสัตว์ที่รุกป่าสงวน ที่ดินสาธารณะ ซึ่งเป็นภาระของแต่ละบริษัทจะต้องทำความเข้าใจ และต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ทำเรื่องแบบนี้

ทั้งหมดนี้อาจจะบอกว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ก็ว่าได้ แต่เป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยง ทางออกที่ดีที่สุดคือ ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเตรียมรับมือไว้ให้ดีและต้องตั้งรับไว้เนิ่นๆ หากชักช้าส่งผลกระทบส่งออกไทยเสียหายมหาศาล

………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img