วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“มัจจุราชเงียบ” PM 2.5 …หายนะเศรษฐกิจ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“มัจจุราชเงียบ” PM 2.5 …หายนะเศรษฐกิจ

ในวันที่ ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่หลายคนบอกว่า “มัจจุราชเงียบ” หรือ “มัจจุราชมืด” ของไทยสูงติดอันดับ Top 5 ของโลก โดยเฉพาะ 2 เมืองใหญ่นั่นคือ กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ เป็นช่วงจังหวะที่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวพอดิบพอดี

ครั้นมีฝุ่น PM 2.5 ปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ นักท่องเที่ยวก็เริ่มจะหนี โรงแรม รีสอร์ต ในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกนักท่องเที่ยวยกเลิกการจองกันเป็นแถว ข่าวฝุ่น PM 2.5 แพร่ไปทั่วโลก ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหาย นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่กล้ามาเที่ยว

จากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 คาดว่า ธุรกิจท่องเที่ยวเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยไม่รวมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ จะเสียหาย 1,000-2,400 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วน หลีกเลี่ยงการเดินทาง และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัดอีกไม่น้อยกว่าปีละ 200-600 ล้านบาท

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ได้จำกัดวงและสร้างความเสียหายเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงปัญหาสุขภาพที่มีราคาที่ต้องจ่ายอีกด้วย ผลการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช พบว่า ในปี 2562 ฝุ่น PM 2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 9% ของจีดีพี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ประมาณ 6,800 บาท/ครัวเรือน/1 ไมโครกรัมของฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน/ปี

คนเมือง / cr : กสิกรไทย

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ข้อมูลจาก State of Global Air รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอากาศพิษฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 32,200 คน ในปี 2562 ช่วงปี 2563 โควิดระบาด การเดินทางมีน้อย ฝุ่นพิษก็มีน้อย แต่ปี 2564 อากาศพิษจากฝุ่นพิษกลับมาเข้มข้นเหมือนเดิม ทำให้คนไทยต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึง 29,000 คน สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยาเสพติด และฆาตกรรม ช่วง 4 ปี

ขณะเดียวกัน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้เปิดเผยว่า ผลระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีที่ผ่านมาคิดเป็นเม็ดเงินรวมราว 3.2-6 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) 2,000-3,000 ล้านบาท โดยกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล

อันที่จริงฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่ไม่มีใครทำจริงๆ จังๆ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบง่ายๆ คือ ใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ปิดเมือง เหมือนช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ “ปิดแบบชั่วคราว” แค่ช่วงสั้นๆ อาจจะ 1-2 วันต่อสัปดาห์ในวันที่มี PM 2.5 หนาแน่น เพื่อหยุดกิจกรรมในการเดินทาง ให้ทำงานที่บ้านแทน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องหยุด รถที่ปล่อยควันพิษห้ามออกมาวิ่งชั่วคราว วิธีนี้พอจะบรรเทาปัญหาลงได้

ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมเมือง

สำหรับใน ระยะยาว ต้องมีกฎหมายสำหรับแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะ และต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง เด็ดขาด ไม่มียกเว้น ทุกวันนี้เราใช้กฏหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายขนส่ง ซึ่งเป็นแบบคลุมๆ ไม่เฉพาะเจาะจง จึงไม่ได้ผล ไม่ทันสถานการณ์และยังกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐเก็บส่วยจากรถควันดำ และชาวไร่เผาอ้อย สุดท้ายก็ปล่อยไปปัญหาก็กลับมาเหมือนเดิม

ต้องบอกว่าตั้งแต่รัฐบาล คสช.จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมาตลอด ไม่ได้แก้ไขปัญหาอากาศพิษฝุ่นพิษให้ดีขึ้นเลย ได้แต่เตือนให้คนไทยดูแลตัวเอง ยิ่งช่วงนี้ ทั้งรัฐมนตรี ข้าราชการ และคณะกรรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพากัน “เกียร์ว่าง” เพราะใกล้เลือกตั้ง

คงถึงเวลาแล้วที่จะขยับ เดินหน้าร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมก่อนที่ปัญหานี้จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศมากกว่านี้

ระวังเมื่อถึงวันที่เอาไม่อยู่ “เศรษฐกิจไทย” คงสำลักฝุ่นควันพิษ PM 2.5 จนเจ็บป่วยและอ่อนแอ เหมือนคนไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img