วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“หนี้ครัวเรือน”...อย่าปล่อยให้เรื้อรัง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หนี้ครัวเรือน”…อย่าปล่อยให้เรื้อรัง

สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ของไทยยังนับว่าอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นจุดเปราะบางสำคัญและน่ากังวลอย่างยิ่งของระบบเศรษฐกิจการเงินและสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงบรรยากาศการเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองนำเสนอ “นโยบายประชานิยม” ลด-แลก-แจก-แถม แบบไม่บันยะบันยัง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือน เพราะไปกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น บางครั้งจนแทบสำลัก

ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ตัวเลขยอดหนี้รวมของครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับสูง และโตเร็วเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจึงสวนทางกับการเติบโตของ GDP ไทยที่โตไม่ถึง 5% มานับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ในปี 2565 การเติบโตของ GDP ไทยยังต่ำที่สุดอยู่ที่ 2.6% เท่านั้น การบริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกวันนี้ จึงเกิดจาก “การกู้หนี้” มาจับจ่ายใช้สอย

จึงไม่ต้องแปลกใจที่หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP ในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง หนี้ของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ข้อมูลล่าสุดหรือในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 15,092,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 14,576,844 ล้านบาท

ที่สำคัญหนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เปรียบเทียบข้อมูลในปี 2553 หนี้สินครัวเรือนจากระดับ 60% ต่อ GDP มาอยู่ที่ประมาณ 90% ต่อ GDP ในปี 2563 และรักษาระดับสูงไว้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 หนี้สินครัวเรือนไทยมีจำนวน 14.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.8% ต่อ GDP ลดลงจากเดิมถือเป็นสัญญาณที่ดีแต่เป็นการลดลงชั่วคราวเท่านั้น

การที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคธุรกิจมีกลยุทธ์ มีโปรโมชั่น ลด แลก แจกแถม จูงใจลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ซึ่งตรงจริตของคนไทย “ช้อป ง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” จึงทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีหนี้มากขึ้น ไม่ว่าหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตสูงสุดของสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ทั้งนี้คนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคน มาเป็น 1.5 แสนบาทต่อคนในปี 2560 ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เข้าไปด้วย

ล่าสุดข้อมูลสินเชื่อในระบบจากเครดิตบูโร ที่รายงานโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทย 25 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรมีหนี้ในระบบ โดยมีมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 527,000 บาท และ 1 ใน 5 ของผู้ที่เป็นหนี้กำลังมีหนี้เสีย

ที่น่าวิตกกังวลตรงที่ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยเป็นหนี้ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพไม่สร้างรายได้ โดย 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป จากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงาน และเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก

แต่ที่น่าเศร้าใจตรงที่…มากกว่า 50% ของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และมีสัดส่วนผู้กู้อายุต่ำกว่า 25 ปีนับวันยิ่งจะสูงขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิมที่มีหลายบัญชี สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูงขึ้นด้วย ข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาส 3 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ปริมาณหนี้ไม่ลดแม้เข้าสู่วัยใกล้เกษียณ โดยกลุ่มลูกหนี้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีมูลค่าหนี้เสียค่อนข้างสูง เฉลี่ยมีหนี้เสียสูงถึง 77,942 ต่อบัญชี

ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือ “เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะรายได้ประชากรในภาคเกษตรเมื่อรายได้ไม่เพิ่ม ขณะที่มีความต้องการบริโภค จึงต้องกู้ ต้องก่อหนี้ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มก็ไม่ลดลง เพราะประชาชนก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากขึ้น เรื่อยๆจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เศรษฐกิจที่เติบโตด้วยหนี้” ของชาวบ้านที่เรียกว่า “หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอยสัญญาณหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้ ต้องรีบตัดไฟไม่ให้ลามมากกว่านี้ หากชักช้าถึงตอนนั้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาได้

…………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img