วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแฟชั่น“หลวงพ่อคูณ”...ฉกฉวย หรือ“ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แฟชั่น“หลวงพ่อคูณ”…ฉกฉวย หรือ“ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง”

กลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกโซลเชียลในชั่วพริบตาหลังเพจ “Soul4Street” เพจดังที่จะคอยอัพเดทข่าวสารในวงการสตรีทแฟชั่น ได้ออกมาเปิดเผยคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุดของ Supreme แบรนด์สตรีทแฟชั่นชื่อดังว่า Supreme เตรียมวางจำหน่ายในคอลเลคชั่น SS21

โดยคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุด Spring/Summer 2021 ซึ่ง ครีเอตแจ๊กเก็ต Blessings Ripstop Shirts มีลวดลายปัก “ยันต์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” รุ่น มงคลปริสุทโธ (2536) สีเหลืองโดดเด่นสะดุดตา โดยมีให้เลือกด้วยกันถึง 3 สี ได้แก่ สีดำ ลายพราง และ สีน้ำเงิน เป็นการคอลแลปแฟชั่นกับความเชื่อจนสร้างความฮือฮา

น่าสนใจเมื่อศรัทธาและความเชื่อกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์สตรีท Supreme สร้างสรรค์แฟชันไอเทมจากศรัทธาความเชื่อเครื่องรางของขลัง ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน Supreme หยิบยกศาสนาพราหม์นำภาพเคารพของเทพฮินดู เช่น พระศิวะ พระพิฆเนศ ฯลฯ มาสกรีนลายลงบนแจ๊กเก็ต รวมทั้ง พวงกุญแจรูปพระพิฆเนศ จนสร้างความฮือฮาในวงการแฟชั่นมาแล้ว

cr / เพจ “Soul4Street”

การที่ Supreme เลือกหยิบผ้ายันต์หลวงพ่อคูณมาเป็นคอเล็คชั่น อาจจะมองเห็นโอกาสทางการตลาดสามารถขายความศรัทธาได้ จะว่าไปแล้วบริษัทระดับนี้ คงจะมีการวิจัยตลาดมาเป็นอย่างดี และรู้ว่า หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา นั้นได้รับฉายาจากเหล่าลูกศิษย์ที่ยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” เป็นที่เคารพศรัทธาไม่เฉพาะคนโคราชแต่เป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศ

ความศรัทธาคุณความดีที่หลวงพ่อคูณนำเงินทั้งหมดที่ได้จากการประกอบพิธีสร้างวัตถุมงคล หรือการบริจาคจากลูกศิษย์ไปบริจาคต่อ เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และถนนหนทาง ฯลฯ

cr/ วิหารเทพวิทยาคม ปริสุทธปัญญา วัดบ้านไร่

แต่เรื่องนี้เกิดประเด็นดรามา เมื่อมีผู้ออกมาว่า “ยันต์หลวงพ่อคูณ” ไม่ได้จดลิขลิทธิ์ทางการค้า ดังนั้น การที่แบรนด์สตรีทแฟชั่น Supreme นำลวดลายมาสร้างสรรค์แจ็กเก็ตนั้น น่าจะทำได้ จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติ ภาพวัตถุมงคล รูปพระสงฆ์ที่มีคนศรัทธาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อคูณ ควรจะต้องได้รับการอนุญาตจากทางวัดต้นสังกัดเสียก่อน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาให้ข้อมูลว่าตามกฎหมายลิขสิทธิ์ รูปหลวงพ่อคูณที่ปรากฏในผ้ายันต์ ถือเป็นงานศิลปกรรม ซึ่งจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันที เมื่อสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น ซึ่งกฎหมายจะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำงานไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ดังนั้น การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมบริษัทฝรั่งถึงเลือกจะขายความเชื่อความศรัทธา ก็ต้องบอกว่าในเรื่องความเชื่อในอำนาจของเครื่องราง ที่เป็นที่เคารพนับถือ และเอื้ออำนวยให้บรรลุผลสำเร็จทางโลก หรือมีฤทธานุภาพป้องกันภัยนั้น ไม่ได้มีอยู่เฉพาะสังคมไทยมีอยู่ในหลายๆสังคม

แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมเดียวในโลกที่ “เครื่องราง” กลายไปเป็น “สินค้า” ที่มีมูลค่าสูง ที่สำคัญ “เครื่องราง” ในสังคมไทยได้ยกระดับเป็น “อุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ มีการประเมินว่าจำนวนเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเครื่องรางของไทยมีไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของ GDP เลยทีเดียว

นอกจากนี้ในงานวิจัย Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ทั้งการพยากรณ์ โหราศาสตร์ ดูลายมือ ไพ่ยิปซี การบูชาพระเครื่องวัตถุมงคล ใส่เสื้อผ้าสีมงคล แสวงหาตัวเลขมงคล และเรื่องเหนือธรรมชาติ

จึงไม่แปลกที่บริษัทฝรั่งจะเห็นช่องว่างทางการตลาดแม้ขณะนี้บนหน้าเว็บไซต์ Supreme ยังไม่ได้ระบุราคา แต่เชื่อว่ากลยุทธ์ที่ Supreme จะใช้คือการออกเป็น “รุ่นลิมิเต็ด” ถูกออกแบบอย่างจำกัดจำนวน เสื้อประเภทนี้คนซื้อจะมีสองกลุ่มคือกลุ่มแรกซื้อเพราะอยากได้อีกกลุ่มคือ ผู้ซื้อแบบซื้อเพื่อนำไป “ขายต่อ” ซึ่งในส่วนของกลุ่มหลังนี้ มักจะเก็งกำไรได้สูงบางรุ่นตัวละเป็นแสนก็มี

เมื่อสินค้าผลิตอย่างจำกัดบวกกับความเชื่อและความศรัทธาที่คนไทยมีต่อหลวงพ่อคูณ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชี้ชัดว่า Supreme มองทะลุว่า เสื้อรุ่นนี้สร้างมูลค่าได้มากขนาดไหน

…………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img