วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS3 กับดัก“เศรษฐกิจไทย” ... ความท้าทายรัฐบาลใหม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

3 กับดัก“เศรษฐกิจไทย” … ความท้าทายรัฐบาลใหม่

ผ่านไปเรียบร้อยโรงเรียนก้าวไกล สำหรับการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผลออกมาถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเลือกตั้งของไทย เมื่อ พรรคก้าวไกล มาอันดับ 1 แบบเหนือความคาดหมายพอสมควร ต่อจากนี้คงฝุ่นตลบอยู่กับการจับขั้วตั้งรัฐบาล เจรจาต่อรองเก้าอี้กัน คะแนนเสียงแต่ละพรรคที่ได้มา โดยเฉพาะพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 กว่าจะเจรจาต่อรองกันได้ จนตั้งรัฐบาลได้ คงต้องใช้เวลานานพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการหาเสียงที่ผ่านมา พรรคการเมืองหาเสียง มีความน่าเป็นห่วง เพราะแต่ละพรรคเน้น “ประชานิยม” ไปกระตุ้นการบริโภค ด้วยการแจกเงินชาวบ้านไปจับจ่ายใช้สอยจนกลายเป็นการเสพติดไปแล้วนั้น ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่นโยบายประชานิยมแพร่ในบ้านเรา และนับวันยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านต้องคอยแบมือขอการอุปถัมภ์จากรัฐ จนกลายเป็นความเคยชิน

นโยบายประชานิยมนั้น ได้ผลระยะสั้นๆ แต่กลับสร้างปัญหาระยะยาว เช่น สร้างหนี้ครัวเรือนมากขึ้น เพราะนโยบายประชานิยมเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ แต่ประชาชนติดนิสัยในการบริโภค ต้องไปก่อหนี้เพื่อมาจับจ่ายใช้สอย นโยบายทั้งหลายที่รัฐเอาใจประชาชน ก็ต้องไปล้วงเอาเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน เมื่องบประมาณไม่พอก็ขยายเพดานหนี้ เพื่อจะเปิดช่องให้ก่อหนี้เพิ่ม

การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยวิธีกระตุ้นกันแบบนี้ เศรษฐกิจไทยจึงขยายตัวเชิงปริมาณไม่ใช่คุณภาพ ไม่ยั่งยืน และกลายเป็นกับดัก ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญซึ่งเป็นโจทก์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้พออนุมานได้มี 3 เรื่องที่จะเป็นกับดักในอนาคต

กับดักแรก อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำมานาน “เติบโตช้า” ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากๆ “จีดีพี.” อยู่ระดับ 3% กว่าๆ แต่ที่ยังไปต่อได้ เพราะไทยยังมี “บุญเก่า” ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศตั้งในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีทรัพยากรโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว คนที่มีความสามารถหลากหลาย ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจึงพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่นับวันสิ่งเหล่านี้เริ่มเสื่อมลง บุญเก่าก็จะหมดไปเรื่อยๆ

จะเห็นได้จากพัฒนาการในอดีต ตั้งแต่ก่อนยุคต้มยำกุ้งที่ประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมเกษตรมาเป็นยุคอุตสาหกรรม มีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นแม่เหล็กดึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาลงทุนทำให้ จีดีพี.ของไทย ในยุคไม่ต่ำกว่า 7%

แต่หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง จีดีพี.ดิ่งวูบ ติดลบ 7% กว่าในปี 2541 แต่พอมาในยุคประชานิยมเข้ามาระบาดในปี 2544 จีดีพี.ก็ขยับอยู่ราว 5% โดยเฉลี่ยแต่หลังจากนั้นเกิดกีฬาสีการเมือง จีดีพี.ก็โตอย่างกระท่อนกระแท่นอยู่ระหว่าง 3-3.5 เท่านั้น

กับดักที่สอง “ความเหลื่อมล้ำสูง” ขณะที่ จีดีพี.ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่กลับมีปัญหาการกระจายรายได้สังคมไทยเป็นสังคม “รวยกระจุก จนกระจาย” เม็ดเงินที่เป็นรายได้ของประเทศน้อยอยู่แล้วกลับไปโป่งอยู่ในกระเป๋าของ “ทุนขนาดใหญ่” ไม่กี่ตระกูล สังคมไทยวันนี้ จึงเกิดการ “เหลื่อมล้ำสูงมาก” นับวันก็จะยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆจนติดอันดับต้นๆของโลก

ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” ในบ้านเราเป็นความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทั้งการศึกษา และทรัพย์สิน ที่ดินทำกินคนรวยที่สุดของไทยถือครองทรัพย์สินมากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศและสัดส่วนที่ถือครองทรัพย์สินที่ถือครองโดยคน 1% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ในเรื่องการศึกษานั้น ยิ่งจะเห็นชัดเจนระหว่าง “ลูกคนรวย” กับ “ลูกคนจน” ความเหลื่อมล้ำการศึกษาได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งทิ้งห่างมากขึ้น ดังนั้นเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤติ “คนจน” มักจะได้รับผลกระทบมากกว่า “คนรวย” หากปล่อยไว้ นานไปจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ระเบิดใส่สังคมไทยในอนาคต

กับดักที่ 3 “ไม่ยั่งยืน” นอกจากนี้ ปัญหาด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด เช่น ฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มส่งผลกระทบธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการหารายได้เข้าประเทศ และยังกระทบกับสุขภาพของประชาชนที่จะกลายเป็น สังคมคนขี้โรครัฐจะต้องสูญเสีย งบประมาณในการดูแลมากขึ้น

เราต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ ไทยอย่างเร่งด่วน ให้มีประสิทธิภาพมีคุณภาพมากขึ้น ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น เพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญให้น้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ที่สำคัญต้องใช้งบประมาณประเทศอย่างประสิทธิภาพ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการ กฎกติกาที่เป็นอุปสรรคต้องรื้อและปฏิรูปใหม่ทั้งหมด ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพัฒนาคนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

นั่นแปล่า ต้องฉีดยาแรงเท่านั้น เศรษฐกิจไทยจึงจะหลุดพ้น 3กับดัก…นี้ได้

………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img