วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSบันทึก‘เอ็มโอยู’ต้องคำนึงประโยชน์ชาติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บันทึก‘เอ็มโอยู’ต้องคำนึงประโยชน์ชาติ

คาดว่าบ่ายๆ วันจันทร์ที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา น่าจะมีความคืบหน้าในการแถลงข่าวถึงการทำ “เอ็มโอยู” หรือ MOU ภาษาทางการเรียกว่า “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” ระหว่างพรรคการเมืองที่จะร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นมิติใหม่ทางการเมือง

กล่าวสำหรับ “เอ็มโอยู” หรือ MOU (Memorandum of Understanding) หรือ “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” ครั้งนี้ ได้ระบุประเด็นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายที่ลงนามเข้าใจตรงกันและเห็นพ้องต้องกัน ประเด็นไหนไม่อยู่ในเอ็มโอยู ไม่ได้แปลว่า แต่ละฝ่ายจะไม่ทำ หรือไปผลักดันเองไม่ได้

สำหรับ ร่างเอ็มโอยูของพรรคก้าวไกลที่จะนำเสนอพรรคร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ค่าไฟแพง) จัดทำงบประมาณใหม่เป็นแบบฐานศูนย์ เพิ่มสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุและ ยกเลิกการผูกขาด เป็นต้น

แต่ก่อนที่จะลงนามหรือแถลงร่วมกัน พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ก็คงจะมีการขัดเกลา นำเสนอนโยบายของพรรคตนเข้ามา เรียกว่าเป็น การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างซึ่งกันละกัน  

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่นำเสนอ แม้จะสวยหรูแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องปฏิบัติได้ ไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมของประเทศ หรือพูดอีกอย่างก่อนที่จะดำเนินนโยบายใดๆรัฐบาลใหม่ จะต้องมองภาพรวมของประเทศให้ชัดก่อนว่า อยากจะนำพาประเทศไปทางไหน

ตัวอย่างง่ายๆ ปัจจุบัน ภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะอาชีพทำไร่-ทำนา ที่มีคนอยู่อาชีพนี้เกือบ 30 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรเป็นคนสูงอายุ ทำให้รายได้จากภาคเกษตรน้อยมากแค่ 7-8% ของจีดีพี.เท่านั้น รัฐบาลต้องตัดสินใจว่า จะปล่อยให้ภาคเกษตรเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วใส่เงินอุดหนุนในรูปแบบประกันราคา หรือจำนำแต่ละปีนับแสนล้านต่อไปอีกหรือไม่ ทีผ่านมาต้องถมงบประมาณไม่รู้เท่าไหร่ แต่เกษตรกรยังยากจน

รัฐบาลต้องชัดเจนว่า หากยังมีนโยบายว่าภาคเกษตรต้องอยู่ต่อ จะทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องมาอุดหนุนปลายทางเหมือนทุกวันนี้ หรือจะยกระดับด้วยการนำเอา “ดาต้า” และ “เทคโนโลยี” มาช่วยให้เป็นแบบ “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” เหมือนในต่างประเทศเป็นต้น

แม้แต่ ภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องดูว่า มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่จะทิ้งหรือจะอุ้มต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เมื่อไม่สนับสนุนแล้ว จะปล่อยทิ้งกลางทาง รัฐบาลจะต้องหาทาง ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้อยู่ได้ นี่คือ ภาพใหญ่ที่รัฐบาลต้องมองให้ออกว่าทิศทางของประเทศควรไปทางไหน

ขณะเดียวกันนโยบายหลาย ๆอย่างต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม แยกแยะให้ชัดเจน เช่น กรณี การผูกขาด ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป เช่น ผูกขาดจากความสามารถหรือเทคโนโลยีที่สูงกว่าคู่แข่ง ควรจะสนับสนุนส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้ ไปแข่งขันในต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ต้องตีโจทย์ให้แตก อย่าเหมารวม

แต่ที่ต้องรีบจัดระเบียบโดยเร่งด่วนที่สุดคือ ธุรกิจที่ผูกขาดโดยสัมปทานรัฐ หรือ ผูกขาดจากนโยบายรัฐ ตรงนี้ต้องสร้างกติกาใหม่ ให้เกิดความเป็นธรรม หรือต้องปล่อยให้เกิดการแข่งขันแบบเสรี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจ

นโยบายค่าแรง ก็เช่นกัน ด้านหนึ่งหากเพิ่มค่าครองชีพ แต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ในระยะเฉพาะหน้า จะต้องหามาตรการช่วยลดภาระผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี-SME” เช่น ลดค่าไฟฟ้า หรือใช้มาตรการภาษีมาช่วยพยุง มิเช่นนั้นจะมีผู้ประกอบการไปต่อไม่ได้ ต้องปิดกิจการจำนวนมาก ในระยะยาว การแก้ปัญหาค่าแรงต้องแก้ด้วยการสร้างงานเพิ่มขึ้นมากๆ ให้มากกว่าจำนวนแรงงานที่ว่างงาน ค่าแรงก็จะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” จะนิยามตัวเองว่าอยู่ ฝ่ายประชาธิปไตย ก็ตาม แต่หากดูนโยบายในการหาเสียง มีทั้งส่วนที่ใกล้เคียงและต่างกันมาก จนบางนโยบายก็ขัดแย้งกัน เช่น พรรคก้าวไกล จะเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การแก้ปัญหาค่าไฟแพงเพราะโครงสร้างราคาไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจเพราะมีการผูกขาด หรือการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณใหม่ เป็นแบบฐานศูนย์ เป็นต้น

แต่ พรรคเพื่อไทยค่อนข้างจะเน้นที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาปากท้องด้วยนโยบายประชานิยม เช่น แจกเงินดิจิตอลคนละหมื่นบาททุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แม้บางนโยบายที่เหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท แต่จะมีผลปี 2570 แต่ก้าวไกลเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท หลังจากนั้นขึ้นทุกปี โดยอัตโนมัติ

ตรงนี้แหละที่เป็นความยากลำบากในการจัดทำนโยบายของ “รัฐบาลผสม” แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกันก็ตาม ต้องชิงไหวชิงพริบเพื่อได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะนี่คือ คะแนนนิยม

แต่ทุกอย่างจะผ่านไปได้ หากทุกพรรคมองให้พ้นตัวเอง เอาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img