วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSพลิกปูม“ส่วยรถบรรทุก”... กติกาที่ไม่เป็นธรรม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พลิกปูม“ส่วยรถบรรทุก”… กติกาที่ไม่เป็นธรรม

ว่ากันตามจริง “ส่วยรถบรรทุกขนส่ง” นั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดมีมานานหลายสิบปี แต่ส่วยสมัยก่อน ไม่มีอะไรซับซ้อน เวลาที่คนขับรถบรรทุกโดนเรียก ก็จะโยนลงข้างทาง อันเป็นที่รู้กันของคนในแวดวง สำหรับรูปแบบ “ส่วยสติ๊กเกอร์” มีมาสักเกือบๆ 30 ปีน่าจะได้ จุดเริ่มในการใช้สติ๊กเกอร์จริงๆ ราวปี 39 ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นยุคฟองสบู่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ธุรกิจขนส่งสินค้าเติบโตขยายกิจการมากขึ้น เริ่มมีการเรียกเก็บส่วยหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

ต้นคิดในการนำสติ๊กเกอร์มาใช้ครั้งแรก โดย บริษัทขนส่งแห่งหนึ่งอยู่แถวๆ ภาคเหนือ ที่คิดรูปแบบทำเป็น “สติ๊กเกอร์ติดหน้ารถ” อันเป็นสัญญาลักษณ์ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่า รถบรรทุกคันนี้จ่ายส่วยแล้ว ซึ่งก็ได้ผลดี ต่อมาบริษัทรายนี้ก็เอาสติ๊กเกอร์ที่เป็นสัญญลักษณ์ของตัวเอง ไปขายให้กับบริษัทอื่นๆ โดยรับปากว่า มีการเคลียร์พื้นที่ผ่านสะดวกทุกด่าน

สำหรับสนนราคาสติ๊กเกอร์ ตอนนั้นราวๆ พันกว่าบาทต่อหนึ่งแผ่น เป็นค่าส่วยจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ 60% เจ้าของสติ๊กเกอร์ได้ 40% ว่ากันว่า บริษัทดังกล่าวมีกำไรจากการจำหน่ายสติ๊กเกอร์ปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท มากกว่ารายได้จากธุรกิจขนส่งที่เป็นธุรกิจหลักเสียอีก

ต่อมายุคหลังๆ แต่ละบริษัทก็ทำสติ๊กเกอร์ที่มีรูปแบบเป็นของตัวเองขึ้นมา เจ้าหน้าที่บางคน นักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพล ต่างก็ทำสติ๊กเกอร์ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ กันอย่างคึกคัก

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง สมาพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสติ๊กเกอร์มีมากถึง 50 รูปแบบ พร้อมแจงรายละเอียดว่า มีรูปแบบอะไรและเป็นของใครบ้าง ว่ากันว่าที่ข้อมูลเปิดเผยนั้น เป็นรายใหญ่ๆ เท่านั้น หากรวมรายย่อย-รายเล็ก-รายน้อยเข้าไปด้วย น่าจะ 100 กว่ารูปแบบ การเรียกเก็บค่าสติ๊กเกอร์มีหลายระดับราคา ตั้งแต่ 3,500-5,000-8,000 บาทต่อเดือน แต่ที่พิเศษสุดคือ มีแบบพรีเมี่ยม 20,000-25,000 บาทต่อเดือน โดยไม่จำกัดระยะทางและบรรทุกน้ำหนักเกินได้ไม่จำกัดผ่านทุกด่านฉลุย เช่น รถบรรทุก 22 ล้อ บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 50.5 ตัน ก็จะบรรทุกได้มาก 2 เท่าคือ 100 ตัน

ปัจจุบันรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนที่ต้องจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์ มีมากถึง 2 ใน 3 ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านคัน ประเมินว่า เม็ดเงินที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องจ่าย แต่ละปีเกือบ 2 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 20% ของตัวเลขที่มีการทุจริตรวมในแต่ละปี ส่วนรูปแบบการเก็บส่วย จะมีเอกชนเป็นตัวกลางหรือโบรกเกอร์ ทำหน้าที่เก็บเงินจากผู้ประกอบการ ไปเคลียร์กับตำรวจ ซึ่งสติ๊กเกอร์จะมีการเปลี่ยนทุกเดือน เพื่อเป็นการอัพเดทว่าสติ๊กเกอร์นี้จ่ายส่วยแล้วหรือไม่

พื้นที่ที่มีการเก็บส่วยหนักที่สุดอยู่ที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และแถบภาคตะวันตก คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และแถบตะวันออก คือ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นต้น อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ถามว่า ทำไมเจ้าของรถบรรทุกต้องบรรทุกน้ำหนักเกินทั้งๆ ที่อันตราย และทำให้ทั้งถนน ทั้งรถพังเร็ว แถมสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของประเทศ เพราะถนนพังเร็วเวลาซ่อมก็ใช้งบประมาณที่เป็นภาษีประชาชน รถที่พังเร็วก็เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

ต้องบอกว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ มองแค่ผลกำไรในช่วงสั้นๆ และคิดว่าถ้าไม่ทำ-คนอื่นก็ทำ ซึ่งเวลาไปประมูลงาน หรือไปจ้างงาน ก็ตัดราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ อีกทั้งยังได้รับแรงกดดันจากผู้จ้างงานหรือเจ้าของสินค้าที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ กดราคาค่าขนส่ง จึงแก้ปัญหาด้วยการบรรทุกเกินและยอมจ่ายส่วนระหว่างทาง

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อ สหพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายส่วย เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ได้เข้าร้องเรียนต่อ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล และ “วิโรจน์” ซุ่มเงียบเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง กระทั่งเลือกตั้งเสร็จ ก็นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ส่วยคือต้นทุนทางธุรกิจ ส่งผลกระทบถึงต้นทุนของผู้ประกอบการและต้นทุนประเทศ เพราะหากต้นทุนสินค้าสูงขึ้น การส่งออกย่อมเสียเปรียบคู่แข่ง อีกทั้งยังทำลายความเป็น “ฮับขนส่ง” หรือ ศูนย์กลางขนส่งแห่งอาเซียนของไทย อีกด้วย

หากจะให้เห็นผล ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สหพันธ์ผู้ประกอบการขนส่ง ภาคธุรกิจที่ใช้บริการขนส่งสังกัด เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องทำให้โปร่งใส ต้องมีมาตรการหรือรณรงค์ให้ภาคธุรกิจทำตามระเบียบกฎหมาย ตอนนี้มีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น เอสซีจี. กลุ่มโรงงานน้ำตาล ที่มีนโยบายไม่บรรทุกสินค้าเกินพิกัด เป็นเรื่องที่น่าชมเชย

ที่สำคัญรัฐต้องแก้กฎหมายหลายๆ ฉบับที่เก่า ไม่ทันสมัย ต้องปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องมารีดส่วย จะช่วยลดภาระนี้ได้ รวมทั้งภาคประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ใช้โซเชี่ยลช่วยเปิดโปงขบวนการเหล่านี้

ที่สำคัญเมื่อจุดไฟติดแล้ว อย่าปล่อยให้เป็นไฟไหม้ฟาง เหมือนในอดีต เที่ยวนี้ต้องช่วยกันทำให้ “ส่วย” เชื้อชั่วร้าย หายไปในรุ่นเรา เพราะนี่คือ “กติกาที่ไม่เป็นธรรม”

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img