วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐกิจไทย”จะฟื้นแบบไหน... “ไต้หวัน” หรือ “อิตาลี”โมเดล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐกิจไทย”จะฟื้นแบบไหน… “ไต้หวัน” หรือ “อิตาลี”โมเดล

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ทั่วโลกมีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งสหรัฐ อังกฤษ บราซิล เยอรมัน มีผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวัน จำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตต่อวัน ก็ลดลงเช่นกัน

ขณะเดียวกันประเทศไทยและหลายๆ ประเทศทั่วโลก ก็เริ่มมีการระดมฉีดวัคซีนกันขนานใหญ่ ทั้งสหรัฐฉีดกว่า 65% ของจำนวนประชากร ส่วนอังกฤษ เยอรมัน บราซิล อินเดีย และจีน ก็เริ่มฉีดกันแล้ว ประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น พม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม ก็เริ่มมีการทะยอยฉีดเช่นกัน

แต่กว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายจริงๆ ทั่วทั้งโลกคงต้องใช้เวลาเกือบๆ 5 ปี นั่นแปลว่ากว่าเศรษฐกิจจะเข้าที่เข้าทางกลับมาเหมือนเดิม คงจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น ยิ่งประเทศไทยที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว สัดส่วน 12% ของจีดีพี. ก็คงต้องรอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความพร้อมและมั่นใจเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศก็เตรียมพลิกฟื้นประเทศขนานใหญ่ หลังจากที่ประชาชนในประเทศตัวเองได้รับวัคซีนในระดับหนึ่ง ว่าประเทศจะก้าวเดินไปทางไหนที่เห็นชัดเจน เช่น รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุด สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวยกย่องความสำเร็จของประเทศที่สามารถขจัดความยากจนขั้นสูงสุด เป็นปาฏิหาริย์ที่จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลเวียดนามก็ประกาศว่า เวียดนาม จะก้าวขึ้นแท่นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 25 ปีข้างหน้าและกำหนดทิศทางไว้ จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมขั้นสูงที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกับการเป็น “ห่วงโซ่คุณค่า” ของโลก

แต่ที่ประกาศชัดเจนที่สุดและพลิกประเทศแบบหน้ามือเป็นหลังมือคือ สิงคโปร์ ที่กำลังเร่งสร้างรูปแบบเศรษฐกิจใหม่อาศัยแนวคิด 4 เปลี่ยน 3 หลักการ คือ 4 เปลี่ยน ประกอบด้วย 1.การเมืองโลกเปลี่ยน 2.โลกธุรกิจเปลี่ยน 3.รูปแบบงานเปลี่ยน 4.สังคมเปลี่ยน

ส่วน 3 หลักการ คือ 1.ธุรกิจต้องปลอดภัยและยั่งยืน 2.รัฐบาลต้องพร้อมช่วยธุรกิจปรับตัวโดยเฉพาะในธุรกิจที่กำลังมีโอกาส เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ หรืองานด้านวิศวกรรม ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ และ 3.รัฐบาลต้องเชื่อมธุรกิจในประเทศกับตลาดโลก

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม รัฐบาลมาเลเซีย ก็ประกาศยุทธศาสตร์ประเทศใหม่ว่า นับจากนี้อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศมาเลเซียจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง

มองดูคนอื่นแล้วหันกลับมาย้อนตัวเรา ยังไม่เห็นความชัดเจนใดๆจาก “รัฐบาลลุงตู่” ว่าหลังจากประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว จะนำพาประเทศไทยก้าวเดินไปในทิศทางไหน หรือยังจะอาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยวและส่งออกแบบเดิมๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจำเป็นต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ก็คงต้องกลับมาคิดใหม่ว่าเราจะอาศัยท่องเที่ยวที่ “เน้นปริมาณ” แบบทัวร์ศูนย์เหรียญต่อไป ด้วยการขายของราคาถูก หรือ ขาย sea-sun-sand และ sex เหมือนที่ผ่านมา หรือจะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ “คุณภาพ” ที่หลายคนบอกว่าจะต้องยกระบบเป็น “ทัวร์สุขภาพ”

แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าจะจับลูกค้ากระเป๋าหนัก หรือลูกค้าระดับไฮเอ็น ก็ต้องคิดต่อไปว่า แล้วโรงแรม รีสอร์ท ที่พักต่างๆ ที่จับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ที่สร้างรองรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนก่อนหน้านี้ จะต้องกลายเป็นส่วนเกิน จะทำอย่างไร หรือจะปล่อยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ต้องล้มละลาย

ส่วนเรื่องการส่งออกที่เป็นรายหลักเกือบๆ 70% ของจีดีพี. แต่เมื่อไปดูไส้ในการส่งออกของไทยแล้ว กลับพบสิ่งที่น่าตกใจว่า ในจำนวน 50 บริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย…ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีบริษัทของคนไทยเลย หลังจากนี้เราจะให้บริษัทต่างชาติผูกขาดการส่งออกต่อไปหรือไม่

อย่างที่รู้ๆ กัน ตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด ธุรกิจเอสเอ็มอี.ในไทยที่มีอยู่กว่า 3 ล้านรายทะยอยล้มหายตายจากไปจำนวนไม่น้อย เพราะผู้ประกอบการ เข้าไม่ถึงซอล์ฟโลนของรัฐบาลที่จัดหาให้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากที่เราไม่ได้สร้างให้ธุรกิจเอสเอ็มอี. เข้มแข็ง

ในบางประเทศอย่าง ไต้หวัน ได้สร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วยธุรกิจเอสเอ็มอี. แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เช่น พวกอิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซอล์ฟแวร์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็มีหลายรายที่เริ่มต้นจากเอสเอ็มอี. แล้วพัฒนาเป็นบริษัทข้ามชาติ และขยับเป็นแบรนด์ระดับโลก

อีกโมเดลที่น่าสนใจนนั่นคือ อิตาลี อันที่จริงพื้นฐานเศรษฐกิจการของเมืองของไทย มีอะไรหลายๆ อย่าง คล้ายกับอิตาลี ทั้งเอสเอ็มอี.ของเรา ที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้กัน อาหารไทยก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อาจเป็นรองแค่อาหารญี่ปุ่นและอิตาลีเท่านั้น เมนูหลายๆ อย่างก็ได้รับการยอมรับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น ต้มข่าไก่ เป็นต้น

ขณะที่รายได้หลักของอิตาลี ส่วนหนึ่งคือการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับไทย แต่อิตาลีเขาสามารถผลักดันเศรษฐกิจของเขาให้แข็งแกร่งเป็นอันดับ 3 ของยุโรป ทั้งที่การเมืองอิตาลีคล้ายๆ ไทย มีการเลือกตั้งบ่อยๆ รัฐบาลไม่มีเถียรภาพ

แต่จุดแข็งคือ การเมืองท้องถิ่นของอิตาลี มีความเข้มแข็งรัฐบาลกลางให้อำนาจในการตัดสินใจเต็มที่ เช่น นักลงทุนยื่นขอลงทุนกับท้องถิ่นได้เลย ไม่ต้องผ่านส่วนกลาง ต่างจากองค์กรท้องถิ่นของไทยที่อ่อนแอและไม่มีอำนาจอะไร

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img