วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ธนินท์-ทักษิณ”ประชันกึ๋น กู้วิกฤติ SMEs
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ธนินท์-ทักษิณ”ประชันกึ๋น กู้วิกฤติ SMEs

คลับเฮาส์กำลังกลายเป็นที่ ที่ “กูรู” ในบ้านเราใช้ปล่อยของก่อนหน้านี้ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) สร้างความฮือฮาเข้ามาติวเข้มให้ “เถ้าแก่ใหม่”

ไม่กี่วันต่อมา “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” ในชื่อแอคเคาน์ว่า “โทนี่ วู๊ดซัม” เปิดสอนหลักสูตรธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังทะยอยปิดกิจการจากพิษวิกฤติโควิด-19

วันนั้น “เจ้าสัวธนินท์” ทักทายผู้ฟังด้วยประโยค “เศรษฐกิจยุคใหม่ไม่เหมือนแบบเก่า เราต้องเปิดใจเรียนรู้กับคนใหม่ ๆ เรามันรุ่นเก่า ประสบการณ์ของเราผ่านมากับธุรกิจที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับคน การบริหารคน การลงลึก รู้จริง”

พร้อมกับสอนให้รู้จักการวางแผนว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวกสบายได้มากมาย แม้กระทั่งการทำงานในยุคนี้ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศอย่างเดียวเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ในยุคใหม่เราควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับยุคสมัย ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

ในยามเศรษฐกิจไม่ดีไม่มีคนซื้อ ให้เรียนรู้จากธุรกิจคนอื่นและต่อยอด เราต้องศึกษาธุรกิจของเราก่อน แล้วดูธุรกิจของคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรา ควรจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนในรูปแบบการต่อยอดมากกว่าเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่ถนัด ยกตัวอย่าง ธุรกิจกระเป๋าเดินทาง ปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซา คนเที่ยวน้อย ยอดขายตก อาจจะต้องเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งาน หรือเพิ่มฟังก์ชันให้น่าสนใจ เช่น ทำกระเป๋าที่สามารถเก็บความเย็น หรือกระเป๋าสำหรับการขนส่ง ก็น่าจะมีตลาดอยู่

beartai

ส่วนการจะพัฒนาคนในตอนนี้ ผู้คนมีอารมณ์หดหู่จะปลุกพลังคนในองค์กรอย่างไร? ต้องคิดว่าทีมงานของเราเหมาะสมกับอะไร ศึกษาคนเพื่อให้อำนาจและให้โอกาสเขา ให้ลองถูกลองผิด ให้โอกาส ให้เงินเขา แล้วชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ เรามีหน้าที่สนับสนุนมีหน้าที่ติดตาม

ส่วนในเรื่องกลยุทธการทำธุรกิจและวิธีแก้ปัญหานั้น “เจ้าสัวธนินท์” แนะนำว่า ต้องดูว่าพระเอกหลักเรามีปัญหาไหม ถ้าจะก้าวเร็ว แต่เงินเราไม่พอ ก็ต้องควบรวม ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์ แต่ถ้าไม่มีธุรกิจหลัก ก็ต้องอยู่รอดก่อน ถ้ากำลังของเรายังไม่พร้อม จะยังไม่ไป หรือถ้าจะไปก็ต้องหาทางควบรวม

แต่ก็ต้องหาปัญหาให้เจอว่าอยู่ไหน จะทำให้สำเร็จต้องทำยังไง ทุกขั้นตอนต้องสอดคล้องกัน มันถึงจะเร็วและมีประสิทธิภาพ ตอนต้มยำกุ้ง ซีพีก็ต้องขายธุรกิจทิ้งไปหลายอย่าง เพื่อรักษาธุรกิจหลักเอาไว้ให้ได้ ในวิกฤตินี้ต้องดูพลังของเราก่อน รักษาแกนไว้ให้ได้ ถ้ามีโอกาสค่อยพุ่ง แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็อย่าเพิ่งออกไป

อย่างไรก็ตามวันนั้น เจ้าสัวได้สารภาพว่า ตัดสินใจผิดที่ไม่ยอมให้ทุนกับ “แจ็ค หม่า” ตอนนั้นไปฮ่องกงเจอแจ็ค หม่า ได้ฟังที่นำเสนอไม่เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาทำธุรกิจหนักมาตลอด แล้วยังนึกภาพไม่ออกธุรกิจเบาอย่างอี-คอมเมิร์ช ที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างตอนนั้น จะเป็นเงินได้ยังไง เหมือนตอนนี้ที่ยังไม่รู้จักบิทคอยน์ ลึกเท่าไหร่ ถ้าตอนนั้นไปลงทุนกับแจ็ค หม่า ก็คงรวยไม่รู้เรื่องแล้ว

ส่วน “อดีตนายกฯทักษิณ” เล่าบทเรียนการทำธุรกิจว่าสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือ ต้องมีไอเดีย ค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ เรียนรู้ ต้องรู้จักคบเพื่อน เรียนรู้จากประสบการณ์และหาความรู้ตลอดเวลา “คนเราโง่มาก่อนฉลาดเสมอ” นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

เราต้องมีไอเดียในการทำธุรกิจ ดู Business Model ดี ๆ อย่าเพิ่งเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันดีที่สุดแล้ว อย่าไปหลงรักไอเดียตัวเอง แล้วต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าที่ทำอยู่ทำเงินกับเราจริงไหม ไอเดียเราถูกไหม ถ้าไม่ดีต้องทำให้ดีขึ้น ถ้าดีแล้วต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก

ต้องอัพเดตตามโลกให้ทัน เพราะเราต้องศึกษาปัจจุบันแล้วทำธุรกิจเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่ทำธุรกิจของเมื่อวาน เราก็จะต้องแข่งกับคนอื่นไปตลอด แต่ SMEs ต้องอดทน วันนี้ทั่วโลกลำบากหมด เหมือนกับการดำน้ำถ้าเราดำได้นานกว่าเราก็ชนะ สำคัญคือรัฐต้องสนับสนุนให้ธุรกิจอยู่ได้และเติบโต

วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามันใช้ไม่ได้องค์กรก็แย่ หัวหน้าต้องลุยไปด้วยกันกับลูกน้อง หัวหน้าต้องทำเอง และเรียนรู้ไปกับลูกน้อง ไม่มีใครเก่งที่สุดในทุกด้าน เราต้องทำงานด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน จะทำให้การทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นต้องยุติธรรมกับลูกน้อง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

พร้อมแนะเคล็ดลับว่า ต้องกล้าลงทุน กล้าเสี่ยง ยิ่งเสี่ยงยิ่งได้เงิน แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่เราคำนวณแล้วว่าเรารับไหว บางที SMEs มักจะเป็นธุรกิจความเสี่ยงสูง ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้เพราะกลัวความเสี่ยง ฉะนั้นถ้าอยากให้เศรษฐกิจเดินหน้า รัฐจะให้แค่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องประกันความเสี่ยงด้วย เช่น ถ้าทำเจ๊งรัฐจะรับประกันให้ 25% เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจกล้าเสี่ยง แล้วรัฐต้องกล้ารับความเสี่ยงและช่วยกระจายความเสี่ยงด้วย

ในการทำธุรกิจต้องใช้คนให้ถูกกับงานเลือกคนให้ถูกกับงาน ใครเก่งด้านไหนก็ทำด้านนั้น บางคนไม่เก่งแต่เป็นคนดี ก็หาที่ที่เขาอยู่ได้แล้วใช้ความสามารถที่มีได้เต็มที่และดูให้รู้ว่าอะไรคือปัญหาและแก้ไขตรงนั้นให้ถูกจุด บางทีกฎเกณฑ์ที่มากไปก็ทำให้พนักงานรีดความสามารถตัวเองออกมาได้ไม่เต็มที่ต้องเลือกใช้คนให้ถูก ใครมีศักยภาพก็ดึงขึ้น ใครศักยภาพลดก็ดึงลง ต้องเปิดโอกาสให้คนเก่งได้ทำงาน คนเก่งต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

ที่สำคัญคือ ต้องรักษาลูกน้องไว้ ถึงเศรษฐกิจจะแย่ ตัวเขาไม่เคยจ่ายเงินให้พนักงานช้า เพราะพนักงานก็ต้องเลี้ยงครอบครัว ถ้าเราจน ก็อย่าให้พนักงานจนด้วย อย่าให้พนักงานรู้ว่าเราแย่ ค่าใช้จ่ายมันอาจจะสูง แต่ถ้าเราเลี้ยงดูพนักงานดี ๆ ร่วมหัวจมท้ายไปด้วย ยังไงเราก็พึ่งเขาได้แน่นอน

“หลังโควิด หลังล็อคดาวน์ คนจะอยากช็อปปิ้งล้างแค้นเพราะไม่ได้ช็อปกันมานานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่แบบออฟไลน์จะลดลง ออนไลน์จะมาแรง คนได้เรียนรู้และชินกับพฤติกรรมจากการ Work from Home แล้ว ทำให้เราเรียนรู้ที่จะ Buy from Home เพราะสะดวก ดังนั้นต่อไปนี้ใครที่เปิดร้านขาย ถ้าไม่ทำออนไลน์ด้วยจะลำบาก” อดีตนายกฯทักษิณทิ้งท้ายด้วยการมองทิศทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป

นี่คือเคล็ดลับความสำเร็จของสองมหาเศรษฐีเมืองไทยที่บุกคลับเฮาส์ติวเข้มผู้ประกอบการฝ่าวิกฤติโควิด-19

…………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img