วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘วัคซีนการเมือง’กับอนาคตเศรษฐกิจไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘วัคซีนการเมือง’กับอนาคตเศรษฐกิจไทย

เจอโควิดระลอก 3 เที่ยวนี้ ทำเอา รัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศบค. เป๋ไม่เป็นขบวนเลยทีเดียว การบริหารงานในรัฐบาลตอนนี้ อยู่ในสภาพเละตุ้มเป๊ะ

เข้าตำรา “นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง” แถมมีแอบนินทาลับหลังจน “ลุงตู่” ต้องออกมาปรามแบบกระทบชิ่งถึงรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลบางคน

ความบาดหมางใจจนกลายเป็นรอยปริร้าวระหว่าง “ลุงตู่” กับ “นายอนุทิน ชาญวีระกุล” รมว.สาธารณสุขและพรรคภูมิใจไทย สำหรับความขัดแย้งร้าวลึกความไม่วางใจกันลามไปสู่พรรคร่วมรัฐบาล จนในที่สุด “ลุงตู่” ก็ริบอำนาจการบริหารจัดการ “โควิด” ไว้ในมือคนเดียวแบบเบ็ดเสร็จ

www.thaigov.go.th

โควิดระลอก 3 นอกจากสร้างความหวาดวิตกให้กับคนไทยแล้ว ยังมีอิทธิฤทธ์เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลอย่างมิอาจปฏิเสธได้ แถมยังทำให้เครดิตรัฐบาลที่เคยได้รับเสียงชื่นชมจากการระบาดระลอกแรก ไม่หลงเหลือแม้แต่น้อย

สะท้อนจาก “กรุงเทพธุรกิจโพล” ทำผลสำรวจ 200 ซีอีโอ โหวต “นายกฯ-อนุทิน” สอบตก โดยเฉพาะ “อนุทิน” เต็ม 10 ให้ 1 คะแนน พร้อมจี้ปรับ ครม. ดึงคนเก่งร่วมบริหาร หลังโควิด “วิกฤตหนัก” ส่วนรัฐมนตรีที่ควรถูกปรับออกมากที่สุด โพลระบุว่า “สาธารณสุข” ควรปรับออกมากที่สุด

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ถ้ารัฐบาลใจกว้างและไม่กลัวเสียหน้า ยอมเปิดให้นำเข้าวัคซีนเสรี ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่แรก สถานการณ์คงไม่วุ่นวายปั่นป่วนอย่างวันนี้ สาเหตุที่เกิดการระบาดอย่างหนักในระลอก 3 เพราะ “คนไทย” ได้ฉีดวัคซีนช้า มีคนจำนวนน้อยที่ได้ฉีดสัดส่วนไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศ และมีให้เลือกแค่ 2 ยี่ห้อคือ “เอสตร้าเซเนก้า” และ “ซีโนแวค” เท่านั้น

ความผิดพลาดทั้งหลาย เพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถใน “การบริหารจัดการยามวิกฤติ” ยังใช้วิธีบริหารแบบเดิมๆ เสมือนไม่มีวิกฤติอะไรเกิดขึ้น กฏหมาย กฏระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ ก็เป็นกฏหมายกฏระเบียบเก่าๆ แทนที่จะออกใหม่สำหรับใช้ในยามวิกฤติ

คุณหมอเจ้าของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ในการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลกับนักธุรกิจ เวลาที่นักธุรกิจเสนออะไรไป รัฐบาลมักจะไม่ฟัง จะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการวัคซีนเพื่อให้เร็วขึ้น ก็ถูกปฏิเสธว่ารัฐบาลมีศักยภาพสามารถจัดหาได้อย่างเพียงพอ หรือจะเสนออะไร ก็อ้างว่าติดกฏระเบียบเก่าๆ ที่ใช้มาเป็นสิบๆ ปี ทำให้ล่าช้าไม่ทันกาล

ฟังแล้วน่าเป็นห่วงจริงๆ ยิ่งคุณหมอเล่าให้ฟังด้วยว่า โควิดระลอกนี้ รุนแรงกว่าที่ผ่านมา 2 ระลอก เพราะตัดวงจรลำบากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ฝังตัวนานกว่าสายพันธุ์เดิม ตรวจสองครั้งอาจยังไม่เจอ แต่จะเจอรอบ 3 รวมถึงเชื้อกระจายตัวไปทุกกลุ่ม ทุกระดับ ตั้งแต่เด็กวัยรุ่น วัยทำงาน จนไปถึงคนแก่

นโยบายเร่งด่วนตอนนี้ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤตสูงสุดครั้งนี้ ในสายตาซีอีโอ 200 คน ปรากฏว่า มากกว่า 86.9% ต้องการให้เร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด รองลงมา 54.5% เร่งระดมภาคเอกชน โรงพยาบาลและทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุน เตียง สถานที่รักษา รองรับผู้ป่วย ทั้งนี้ ซีอีโอมากกว่า 43% อยากให้มีบทลงโทษทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนมาตรการสาธารณสุขเข้มงวด และ 42.9% ต้องการให้ใช้ระบบเทเลเมดิซีนเต็มรูปแบบ รองรับผู้ป่วยที่ต้องให้คำแนะนำ

จะเห็นว่า การบริหารจัดการวัครซีน เป็นเรื่องใหญ่และเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลต้องแก้ให้ได้ ตราบใดที่วัคซีนมาช้า มีจำนวนจำกัดและฉีดให้ประชาชนน้อย ย่อมมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ดังนั้นชะตากรรมเศรษฐกิจไทยได่ฝากอนาคตไว้กับ “วัคซีน” ตัวเดียวเท่านั้น

หากยังฉีดได้น้อย ธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนเกือบๆ 20% ของจีดีพี. ก็ยังอยู่ในสภาพ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี” คงไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติคนไหน อยากเอาชีวิตมาเสี่ยงกับประเทศที่ไม่ปลอดภัยจากไวรัสโควิ-19

ต้องยอมรับว่า การติดเชื้อครั้งนี้ รุนแรงรวดเร็วกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ประชาชนและผู้ประกอบการต่าง “บอบช้ำ” มากกว่าปีที่แล้วหลายเท่า ครั้งนี้คงจะอึดได้ไม่นานเท่าครั้งที่แล้ว หากรัฐบาลจะล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จและยาว เช่นปีที่แล้ว คงทำไม่ได้ มิเช่นนั้นเศรษฐกิจเสียหายและผู้ประกอบการต้องล้มหายตายจากไปอีกมาก

ยิ่งรัฐบาลไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนเพียงพอเหมือนครั้งแรกๆ วิธีเดียวทำได้ คงต้องมีการบริหารจัดการให้มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ และต้องบริหารความสมดุล ระหว่างผลกระทบจากการเจ็บป่วย และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ให้พอดี ไม่สุดโต้งด้านใดด้านหนึ่ง

นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องทำงานอย่างเป็นเอกภาพและเป็นระบบ ควรจะเปิดใจให้กว้าง รับฟังทุกฝ่าย เลิกเล่นการเมืองในเรื่องที่กระทบชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ เสียที

………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img