วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐกิจไทย” ใต้เงา“ทุนจีน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐกิจไทย” ใต้เงา“ทุนจีน”

ความน่ากลัวจากการไหลบ่าทะลักเข้ามาของ “กลุ่มทุนจีน” ที่ทุกวันนี้เข้ามาทำมาหากินในบ้านเรา อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนประเทศไทยกลายเป็นสวรรค์นักลงทุนจีนไปแล้ว อันที่จริงคนจีนไม่ใช่เพิ่งมาตั้งหลักปักฐานทำมาหากินบ้านเรา “จีนยุคใหม่” เข้ามาไม่ต่ำกว่าสิบปีแล้ว หลังจาก “การเปิดเสรีการค้า” หรือ “เอฟทีเอ” ระหว่าง “อาเซียนกับจีน” 

แรกๆ ก็มาแบบกองทัพมด ขนสินค้าจากจีน เริ่มจากสินค้าเกษตรพืชผักผลไม้ เข้ามาตีตลาด จนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ไหลทะลักข้ามแดนเข้ามาทุบสินค้าไทยกระเจิดกระเจิง ต่อมาก็พัฒนาเป็นธุรกิจขนาดเล็ก พาเหรดเข้ามา ส่วนใหญ่พวกร้านอาหาร “ร้านหมาล่า” ได้ยกมาถล่มไทย จนทำให้บรรดาร้านอาหารประเภทหม้อร้อนของไทย ต้องปรับตัวเสิร์ฟเมนู “หมาล่า” สู้บ้าง 

ล่าสุดคราวนี้ มาแบบทัพใหญ่เป็น “กลุ่มทุนขนาดใหญ่” เริ่มจาก อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ที่พาเหรดเข้ามาตั้งโรงงานในเมืองไทย รุมตีค่ายรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่นกระเจิดกระเจิง จนตั้งรับไม่ทัน

ทั้งๆ ที่ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นย้ายฐานเข้ามาเมืองไทยกว่า 30 ปี สร้างงานให้คนไทยนับแสนๆ ตำแหน่ง สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยไม่น้อย

แต่การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นค่ายระดับกลางๆ เช่น “ซูบารุ-ซูซูกิ” ทนแรงเสียดทานไม่ไหวต้องเลิกผลิตในเมืองไทย หันนำเข้ามาจำหน่ายแทน

หากมองผลกระทบของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งโรงงานที่ปิดตัวของแบรนด์ใหญ่ค่ายรถญี่ปุ่น อย่าง “ฮอนด้า” ยุติสายการผลิตที่โรงงานอยุธยา ไปผลิตร่วมกันในโรงงานที่แปดริ้วแทน หรือ “ซูซูกิ ซูบารุ” หยุดสายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ปลายปี 2568 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีความเคลื่อนไหวของธุรกิจขนส่งศูนย์เหรียญของจีน โผล่ในไทยผ่านบริษัทนอมินี เปิดบริษัทรถขนส่งของจีนเองในไทย ประเดิมครั้งแรกราว 10,000 คัน ใช้ขนส่งสินค้าจากจีนทั้งหมด พร้อมกับตั้งคลังส่งสินค้าพ่วงด้วย เรียกว่ามาแบบ “ครบวงจร” ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก 

แต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดตอนนี้ น่าจะเป็น “ธุรกิจร้านอาหาร” ที่โดนถล่มจนต้องปิดตัวเองไปแล้วราว 50% “กลุ่มทุนจีน” ที่ทำธุรกิจร้านอาหาร กำลังทะยอยเข้ามาเรื่อยๆ มาชิงขุมทรัพย์กว่า 4 แสนล้านบาท 

กระแสดังตอนนี้มี “MIXUE” ร้านชานมและไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ทั้งในห้างค้าปลีก ตามถนน ตรอกซอยต่างๆ “WEDRINK” ร้านแฟรนไชส์ชานมและไอศกรีมจากจีน แต่ที่ฮือฮาไม่พ้น “Zhengxin Chicken” แฟรนไชส์ไก่ทอดจากจีน ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 15 บาท และมีเมนูอื่นๆ ทั้งไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ แฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นเปิดตัวแจกทองคำ มือถือกันล่อใจ และร้านกาแฟ “Cotti Cofee” ชูราคา 55 บาท เป็นต้น 

แต่ที่น่ากลัวมากๆ หนีไม่พ้น แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ช Temu ที่มีจุดแข็งอยู่ที่การนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย ราคาเข้าถึงได้ จัดส่งอย่างรวดเร็ว วิธีการบุกตลาดจูงใจด้วยโปรโมชั่นน่าสนใจ และสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพและบริการที่ดี และทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ 

น่าสังเกตว่า กลุ่มทุนจีนจะมาในรูปแบบการลงทุนโดยตรง และเต็มรูปแบบ มีอาวุธลับสำคัญคือ “มีต้นทุนต่ำ” ในระยะแรกไม่เน้น “ทำกำไร” โดยใช้กลยุทธ์ “ราคา” ทุบตลาด ทำให้ “ทุนท้องถิ่น” ทะยอยเลิกกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” เจ๊งระเนนระนาด

กลุ่มทุนจีนจะกระจายไปทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่มาเมืองไทย เพราะเข้าง่าย-ออกง่าย กฏหมายไม่เคร่งคัด คนไทยยอมเป็น “นอมินี” รัฐบาลไม่มีมาตรการกีดกัน เหมือนอย่าง อินโดนีเซีย ที่ตอนนี้ รัฐบาลสกัดสินค้าจีนเข้าถล่มด้วยมาตรการภาษี 200% กระทั่งได้เปรียบดุลการค้าจากจีนไปแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังมะงุมมะหงารา 

การที่จีนทุ่มตลาดอย่างหนัก สินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาทำตลาดในทุกอุตสาหกรรมของไทย เกิดการ “ดิสรัป” อย่างรวดเร็ว เพราะราคาของสินค้าที่จีนทำออกมา โดนใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ แต่ก็กระทบกับ “อุตสาหกรรมไทย” ไม่น้อย จะเป็นผลเสียระยะยาว

ในมุมของ ผู้บริโภค เป็นโอกาสที่เข้าถึงสินค้าราคาไม่แพง อย่างไก่ทอด ชิ้นละ 15 บาท ถ้าไปกินไก่ทอดที่มาจากประเทศตะวันตก เซ็ตละหลายร้อย ดังนั้นเรื่องนี้ก็เหมือน “เหรียญสองด้าน” มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ 

คำถามคือว่า ทำไมสินค้าที่มาจากจีน จึงมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย ก็อาจจะบอกได้ว่า เพราะธุรกิจบ้านเราอยู่ในมือ “กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม” ไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี เมื่อมีการผูกขาดก็ย่อมสามารถกำหนดราคาได้ตามใจชอบ 

สิ่งที่รัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องทำโดยเร่งด่วน ด้านหนึ่งต้องมีมาตรการออกมาตั้งรับการไหลทะลักของทุนจีน และต้องบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาธุรกิจบ้านเรา อีกด้านหนึ่งต้องทะลายการผูกขาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในราคาที่สมเหตุสมผล

………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img