สถานการณ์เศรษฐกิจในยุค รัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” มีความท้าทายและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีสารพันปัญหาที่ถาโถมรุมเร้าเข้ามา แม้ว่า “การส่งออก-ท่องเที่ยว-ตลาดหุ้น” จะเริ่มขยับไปทางที่ดีบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อหักกลบ-ลบกันกับปัญหาที่กวักมือเรียกอยู่ไหวๆ แล้ว นับว่า อยู่ในอาการน่าเป็นห่วงจริงๆ
ตรงนี้กระมังที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯผู้พ่อ ต้องปัดฝุ่น “บ้านพิษณุโลกโมเดล” นำทีมโดย “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” และ “ทีมผู้อาวุโส” มาทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” คอยให้ปรึกษา เสมือนหนึ่ง “รัฐมนตรีเงา” มาประคับประคอง นอกจากทีมรัฐมนตรีสังกัดจันทร์ส่องหล้าจะคอยประคองแล้วอีกชั้นนึง
สำหรับปัญหาหลักๆ ที่ต้องเร่งแก้มีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาที่สะสมมานาน
ปัญหา “น้ำท่วม” ที่ผ่านมาน้ำได้ท่วมเป็นวงกว้างในภาคเหนือตอนบน กำลังรุกลามมายังภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ผลกระทบทางตรงของน้ำท่วมคือ พื้นที่ทำการเกษตร ปศุสัตว์ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ รวมถึง เครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากิน…เสียหายอย่างหนัก ประชาชนในหลายจังหวัดที่โดนน้ำท่วม ได้รับผลกระทบ รายได้หาย พลันที่น้ำลดลง รายจ่ายจะเพิ่มขึ้นตามมา นั่นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อที่น้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินผลกระทบน้ำท่วมจะอยู่ที่ 0.1-0.3% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2 แสนล้านบาท ภายใต้การคาดการณ์คลี่คลายใน 1-3 เดือน โดยสาเหตุที่มองผลกระทบยังไม่มาก เพราะผลกระทบยังไม่ลามไปพื้นที่ท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่เกษตรบางประเภทและบางแห่งเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบ
ด้าน “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ประชุมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประเมินน้ำท่วมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการในภาคเหนือตอนบน 25,000-27,000 ล้านบาท
ปัญหาต่อมา “ดอกเบี้ยสูง” ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50% ต้องลุ้นว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในกลางเดือนตุลาคมนี้ จะเอาอย่างไร จะยังคงอัตราเดิม หรือว่าจะลดลง ทั้งนี้การปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหรือลง จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากเป็นต้นทุนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆ ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้นทุนของชาวบ้านในการซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อเครื่องมือทำมาหากิน
ปัญหา “ค่าเงินบาทแข็ง” เป็นปัญหาใหม่ล่าสุด ซึ่งค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนหรือแข็ง ล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจไทย การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ย่อมมีผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ เพื่อขยายกำลังการผลิตและทดแทนเครื่องจักรเก่า เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีการขยายกำลังการผลิตหรือไม่ ในด้านกลับกัน ถ้าการส่งออกไม่ดีเพราะเงินบาทแข็ง โรงงานอุตสาหกรรมก็จะไม่มีออร์เดอร์เข้ามา ในที่สุดก็ไม่มีการขยายกำลังการผลิต ค่าเงินบาทจะแข็งอย่างไรก็ไม่เกิดประโยชน์
ในด้านส่งออกหากค่าเงินบาทแข็ง สินค้าส่งออกมีส่วนประกอบของสินค้านำเข้ามากเช่น พวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีผลกระทบค่อนข้างน้อย
ถ้าค่าเงินบาทอ่อน กลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น พวกสินค้าเกษตร ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ผักผลไม้ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนเต็มๆ รวมถึง ภาคธุรกิจท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ดังนั้น การบริหารค่าเงินจึงเป็นเรื่องศิลปะการจัดการ ต้องมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมรัฐบาล กระทรวงคลัง และแบงก์ชาติ ต้องทำงานอย่างสอดประสานให้เกิดความสมดุลไม่แข็งเกินไปและไม่อ่อนเกินไป
ปัญหาสุดท้ายที่เรื้อรังมานานจนกลายเป็นดินพอกหางหมู ไม่พ้น “หนี้ครัวเรือน” ที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงกว่า
จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ล่าสุดมียอดหนี้ผู้บริโภคสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท บวกกับยอดหนี้ของ SMEs อีก 4.7 แสนล้านบาท รวมเป็นประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท จากสินเชื่อที่ปล่อยให้ครัวเรือนและ SMEs จำนวน 17.3 ล้านล้านบาท เกือบเท่า GDP ของประเทศ
การที่ผู้บริโภคและ SMEs มีหนี้เสียและกำลังจะเสียเพิ่มขึ้น ย่อมบั่นทอนกำลังซื้อ การบริโภค และการลงทุนขยายกิจการ หนี้ตัวใหญ่ของผู้บริโภคก็คือ หนี้บ้าน หนี้รถ สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต
ส่วนหนี้ตัวใหญ่ของ SMEs ก็คือ หนี้เพื่อการพาณิชย์ ที่ยอดหนี้เสียยังคงขยายตัว อย่างต่อเนื่อง หากแก้ปัญหาหนี้ ล่าช้าจะมีผลต่อกำลังซื้อเมื่อกำลังซื้อไม่กลับมา เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบก็จะหายไปไปมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมิอาจปฏิเสธได้
ทั้งหมดนี้คือ 4 โจทย์ที่ท้าทาย “นายกฯอุ๊งอิ๊ง-มือใหม่หัดขับ” ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการเป็นนักการเมืองมือใหม่ จำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และและศิลป์ ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในการจัดการปัญหา
……………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย…“ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)