วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจาก“ล็อคดาวน์”...ลามสู่“ชัตดาวน์” เศรษฐกิจ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จาก“ล็อคดาวน์”…ลามสู่“ชัตดาวน์” เศรษฐกิจ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บ้านเราขณะนี้ สวนทางกับหลายๆ ประเทศที่ก่อนหน้านี้หนักกว่าเราหลายเท่า แต่ตอนนี้สถานการณ์บ้านเขาดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, เยอรมัน, อิตาลี หรือเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์

บ้านเราตอนแรกๆ ก็ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกและสื่อต่างประเทศ ว่าจัดการปัญหาได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก จนคนไทยอดยิ้มแก้มปริไม่ได้

บ้านเราเวลานี้สถานการณ์พลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แบบที่คาดไม่ถึงและไม่ทันตั้งตัว ตัวเลขคนป่วยแตะหลักหมื่น ผู้เสียชีวิตแตะหลักร้อย มาหลายวัน จนรัฐบาล “เอาไม่อยู่” ต้องประกาศ “ล็อคดาวน์” ในพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

แต่เที่ยวนี้ค่อนข้างเข้มข้นด้วยการออก 5 กฎเหล็ก ล็อคดาวน์ เคอร์ฟิว จำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง ให้รัฐ-เอกชน Work from Home แบบ 100% ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิด 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม ห้ามออกนอกบ้าน

การ “ล็อคดาวน์” แต่ละครั้ง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชน แต่ในเชิงเศรษฐกิจก็ต้องบอกว่า “ล็อคดาวน”์ แต่ละครั้ง ก็มี “ราคาที่ต้องจ่าย” และจ่ายแพงมากๆ เสียด้วย อย่างกรณีล็อคดาวน์เมื่อเดือนเม.ย.63 “ม.หอการค้าไทย” ประเมินว่า สร้างความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ เดือนละ 200,000-300,000 ล้านบาท ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจทั้งปี 63 มากถึง 900,000 ล้านบาท

ที่สำคัญ ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบ 6.1% หากรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ 1 เดือน ความเสียหายจะตกประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยว่า จะยืดเยื้อหรือไม่

ภาคธุรกิจเองก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่รายเล็กๆ ข้างทาง ไปจนถึงร้านใหญ่โตมีชื่อเสียง ร้านอาหารระดับมิชชิลินสตาร์ ก็หนีไม่พ้นต้องเลิกกิจการ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว ปิดกิจการกลายเป็น “หนี้เสีย” จำนวนมาก

อย่าลืมว่า ธุรกิจพังครืนจะฟื้นหรือสร้างขึ้นใหม่นั้น ยากมากๆ คนจำนวนมากต้องตกงาน ไม่มีรายได้ สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนล่าสุด พุ่งกระฉูดสูงถึง 93% ต่อจีดีพี. เท่ากับว่ากำลังซื้อจากการล็อคดาวน์จะหดหายแทบไม่มีเหลือ คนที่พอมีเงินออม ก็จะเก็บเงินสดไว้ในมือแทน จะจับจ่ายใช้สอยเฉพาะจำเป็นจริงๆ

ผมได้ฟังนักธุรกิจรายหนึ่งระบายให้ฟังว่า เที่ยวนี้รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ แต่ไม่กล้าบอกความจริง พยามเลี่ยงใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” แทน เพราะไม่อยากจะจ่ายค่าเยียวยาให้ผู้รับความเดือดร้อน เวลาที่ล็อคดาวน์แต่ละครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจเสียหายหนักมาก จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เขาต้องควักเนื้อไปกว่า 100 ล้านบาท กำลังคิดว่าจะปิดกิจการไปต่อไม่ไหว เพราะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับห้างฯ จ่ายเงินเดือนพนักงานแบบเต็มๆ ทุกเดือน

แต่ที่น่าห่วง ล็อคดาวน์เที่ยวนี้คนต้องตกงานนับหมื่นๆ คน เท่าที่พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เพราะธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้ามา สภาพคล่องมีปัญหา ผู้คนระมัดระวังใช้จ่าย ทำให้การบริหารจัดการร้านอาหารลำบากมากขึ้น

ผู้ประกอบการค้าปลีกคนหนึ่งบอกว่า งานนี้ไม่รู้ว่ารัฐบาล “ล็อคดาวน์” หรือ “หลอกดาว” มันต่างกันแค่เส้นบางๆ เท่านั้น

คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า การล็อคดาวน์ 10 จังหวัด เป็นเวลา 14 วัน ทำให้เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ทีสำคัญจะต้องระวังไม่ให้การล็อคดาวน์ ลามไปกระทบถึงภาคการผลิตเพื่อส่งออก ที่กำลังดีวันดีคืน แม้จะมีปัญหาเรื่องโควิดระบาดในโรงงาน จนกระทบการผลิต ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามออร์เดอร์ มีปัญหาต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การส่งออก ซึ่งเป็นความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ หากต้องพลอยโดนหางเลขจากการล็อคดาวน์ จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

สำนักวิจัยบางแห่งได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการล็อคดาวน์ครั้งนี้ว่า จะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะขยายตัวได้แค่ 0-1% เท่านั้นจากเดิมที่คาดไว้ 0.6-1.2% นี่ยังไม่รวมความเสียหายจากการล็อคดาวน์ยิ่งนานยิ่งเสียหายมาก

นั่นแปลว่า “การล็อคดาวน์” เท่ากับเป็นการ “ชัตดาวน์เศรษฐกิจ” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะส่งผลถึงการปิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามมา ซึ่งมี “ต้นทุน” มหาศาลเลยทีเดียว

…………………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img