วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“วัคซีน”วิกฤติ...เศรษฐกิจ“ติดหล่ม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วัคซีน”วิกฤติ…เศรษฐกิจ“ติดหล่ม”

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่บ้านเราต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังกลายพันธ์ เป็นสายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงและแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งกระฉูด ทะลุหลักหมื่นและเสียชีวิตทะลุหลักร้อยหลายวันติดๆ กัน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงลองสอบถามพรรคพวกเพื่อนฝูงที่มีทั้งเจ้าของกิจการและนักบริหารหลายคนว่า มีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งก็ได้รับคำตอบคล้ายๆ กันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากความผิดพลาดในบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ ต้องแลกมาด้วยความเจ็บป่วยและความตายของผู้คนจำนวนมาก

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินค่าวัคซีนเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท รัฐบาลกลับจ่ายไม่ได้ ซึ่งเงินเท่านี้เทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายทางเศรษฐกิจและชีวิตผู้คนที่ต้องเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมาก ทั้งที่รัฐบาลเองยังต้องหางบประมาณสำหรับเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนับหมื่น ๆ ล้านบาท ถ้าจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ หรือเข้าโครงการ COVAX ตั้งแต่แรก ปัญหานี้คงไม่เกิด

เวลานี้ก็ต้องบอกว่า “วัคซีน” เป็นปัจจัยเดียวในการนำพาประเทศออกจากวิกฤติสุขภาพและวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ การส่งออกที่ฟุบมานานกำลังฟื้นตัวขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้คือ มีการระบาดในโรงงานอย่างหนัก ซึ่งกระทบภาคส่งออกและกระทบเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้จะไม่ขยายตัวหรืออาจจะถึงขั้นติดลบเลยก็ได้

ส่วนในฝั่งของ ภาคการท่องเที่ยว ที่ในระยะหลังๆ เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 15% ของจีดีพี และจ้างงานถึง 10 ล้านคน

การที่ภาคการท่องเที่ยวปิดเกือบหมด หมายความว่า คนเกือบ 10 ล้านคน ตกงานไม่มีรายได้และกระทบการใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก

จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมรัฐบาลจึงต้องเร่งฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปและบุคคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าให้เร็วที่สุด และต้องเร่งรัดการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดเช่นกัน โดยเรื่องนี้รัฐบาลและเอกชนควรร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกหลายยี่ห้อเข้ามา

ทั้งนี้วิธีการก็มีหลายรูปแบบ อาจจะใช้รูปแบบให้เอกชนเป็นคนที่ติดต่อและรัฐบาลค้ำประกัน เหมือนอย่างกรณี “ไต้หวัน” ที่ให้บริษัทเอกชนอย่าง “ฟ็อกซ์คอนน์” และ “ทีเอสเอ็มซี” เจรจาซื้อวัคซีนแทนรัฐบาล 10 ล้านโดส หรืออาจจะใช้โมเดล ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม มาแล้วให้เอกชนมาซื้อต่อเพื่อไปฉีดให้พนักงาน ทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมต่อได้ เพราะหากยิ่งช้า เศรษฐกิจยิ่งเสียหาย

ที่สำคัญการบริหารจัดการวัคซีนต้อง “ยิงตรงเป้า” ต้องจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ที่สำคัญ ในจุดพื้นที่อ่อนไหวต่อการระบาด ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งพื้นที่แออัดมีผู้คนจำนวนมาก และเสี่ยงติดต่อกันง่าย พื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด

แม้การประกาศล็อคดาวน์ของรัฐบาลจะถือว่าจำเป็นก็ตาม แต่ก็ต้องแลกกับความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ทำให้ต้นทุนที่จมอยู่กับโควิดสูงมาก ตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินคร่าวๆ เดือนละเป็นแสนล้านบาท ที่ผ่านมาความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 9 แสนล้านบาท หมายความว่ามูลค่าความเสียหายนี้ ถ้าเอามาซื้อวัคซีนฉีดให้ชาวบ้านได้หลายรอบ

อย่าลืมว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบนี้ บรรดาผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ หนักหนาสาหัสอย่างมาก  โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” เจ้าของกิจการขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่หนัก มาตั้งแต่การระบาดรอบแรกแล้วพวกที่น่าจะพอเอาตัวรอดได้ต้องเป็นพวกที่แข็งแกร่งจริงๆ

อย่างที่บอก วัคซีนคือทางออกเดียวที่จะพาประเทศไทยออกจากวิกฤติครั้งนี้ ถ้าในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่เกิน 3 เดือนนับจากนี้ยังแก้ปัญหาวัคซีนไม่ได้ นั่นแปลว่าเศรษฐกิจไทยคงต้องค่อยๆ ถอยหลังลงเหว เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับจีดีพีปีนี้ ลดลงเหลือ 1.8% จากประมาณการเดิมที่คาดไว้โต 3.0%

ขณะที่สถาบันการเงินต่างๆ ออกมาปรับลดจีดีพี.กันเป็นแถว เช่น ธนาคารกรุงเทพเคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 1-2% เพิ่มจากปีก่อนที่ติดลบ 6.1% ต้องปรับประมาณการลงมา โดยมองว่ากรณีแย่สุดเศรษฐกิจปี 2564 อาจไม่ขยายตัวเลย ส่วนแบงก์กรุงไทยปรับจีดีพี.ปีนี้เหลือ 0.5-1.3% และธนาคารโลกก็ปรับลดลงเหลือแค่ 1.2% เท่านั้น

ตัวเลขที่ประเมินกันนี้ อยู่บนพื้นฐานรัฐบาลต้องหาวัคซีนได้ตามเป้าหมายและล็อคดาวน์ไม่ยาวเกินไปแต่ถ้าวิกฤติวัคซีนไม่ได้รับการแก้ไข และการล็อกดาวน์ยาวแบบไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เราก็คงได้เห็นจีดีปี.ปีนี้ติดลบเป็นปีที่สองติดต่อกัน อย่างมิอาจปฏิเสธได้

………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img