วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ปลดล็อค”เข้มข้น...ธุรกิจจะร้องเฮ หรือร้องโฮ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปลดล็อค”เข้มข้น…ธุรกิจจะร้องเฮ หรือร้องโฮ

หลายคนอาจจะยังงงๆ ว่าทำไมจู่ๆ “ศบค.” ถึงตัดสินใจประกาศคลายล็อคในวันที่ 1 กันยายนนี้ เป็นการปลดล็อคในบรรยากาศการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังหนักหน่วง เป็นการตัดสินใจในห้วงเวลาที่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อใกล้ๆ วันละ 2 หมื่นคน ผู้เสียชีวิตเกือบๆ 300 คนโดยเฉลี่ย

ต่างจากคราวที่แล้วที่คลายล็อคเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็น 0 คราวนี้จึงค่อนข้างสวนทางกับคราวก่อนอย่างสิ้นเชิง

หากจะให้เดาใจ “ศบค.” อาจจะมีเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น…

ประการแรก หากนับถอยหลังนับจากนี้ เหลือเพียงอีกแค่ 45 วันก็จะครบกำหนด 120 วัน ที่ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “ปักธง” กำหนดให้เป็น “วันเปิดประเทศ” จะตกราวๆ วันที่ 15 ตุลาคมนี้

ประการที่ 2 การแพร่ระบาดรอบนี้หนักหนาสาหัส เพราะเป็นการแพร่ระบาดที่ลามเข้าสู่การระบาดในครอบครัว แต่ยังมีคนต้องสัญจรออกไปทำมาหากิน ทำงานนอกบ้านถึง 40% จึงมีโอกาสสูงในการนำเชื้อเข้าบ้าน ขณะที่วัคซีนก็ยังไม่พร้อม ทำให้การประกาศล็อคดาวน์จึงเป็นการ “สูญเปล่า”

ประการสุดท้าย ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็น “ตัวบีบ” เพราะการล็อคดาวน์ทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้ ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการ ธุรกิจร้านอาหาร ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ต่างพากันทะยอยปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน ทำให้คนตกงานสูงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อครอบนี้ ก็ยังผูกรัดด้วยเงื่อนไขยุบยับและยุ่งยากเต็มไปหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการ โดยประกาศดังกล่าวผ่อนปรนให้ลูกค้า สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 50-75% ของจำนวนที่นั่ง รวมถึงการอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจร้านเสริมสวย ร้านตัดผม และร้านนวด กลับมาเปิดให้บริการได้

ฟังดูเผินๆ ก็อาจจะดูดี แต่พอดูเนื้อในคำสั่งดังกล่าว แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย มาตรการยังเข้มงวดมากๆ เช่น ร้านอาหารที่จะเปิดบริการได้ ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือพนักงาน อีกทั้งต้องตรวจ ATK ทุก 3-7 วัน ลำพังค่าชุดตรวจ ATK ราคาในตลาดตอนนี้ ตกราวๆ 200-300 บาทต่อชุด ค่าใช้จ่ายตรงนี้ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อยๆ ลำพังชุดตรวจฟรี 8.5 ล้านชุด จะเพียงพอหรือไม่

ผู้ประกอบการร้านอาหารรายหนึ่ง เปิดเผยว่า “ยิ่งกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าของร้านและพนักงานต้องฉีดวัคซีน ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกวันนี้บางร้านฉีดแค่เข็มหนึ่ง บางร้านยังไม่ได้ฉีดสักเข็ม ในจังหวัดเล็กๆ วัคซีนได้รับการจัดสรรน้อยมาก ไม่เพียงพอให้กับประชาชน การบังคับให้ต้องมีการฉีดวัคซีน จึงทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ เพราะความพร้อมร้านอาหารและร้านค้าไม่เท่ากัน”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่สุดของธุรกิจขนาดเล็ก ร้านค้า และร้านอาหารเวลานี้คือ “ขาดแคลนแรงงาน” เนื่องจากในกรุงเทพฯเป็นพื้นที่เสี่ยง แรงงานเหล่านี้พากันลาออก กลับไปอยู่กับพ่อแม่ในต่างจังหวัดจำนวนมาก เมื่อกลับไปแล้ว หากสถานการณ์ยังน่าห่วง โอกาสที่แรงงานเหล่านี้กลับมาทำงาน จึงเป็นไปได้ยาก

เงื่อนไขศบค. กำหนดแบบไม่ยืดหยุ่น เชื่อว่าร้านค้าร้านอาหารจำนวนไม่น้อย คงยอมเสี่ยงที่จะปิดร้านก่อนเพราะเปิดไปแล้วไม่คุ้ม

ยิ่งเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยิ่งเป็นไปไม่ได้และเป็นการ “จำกัดลูกค้า” ในต่างประเทศเขาทำได้ เพราะส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครบโดสเกิน 60% ของคนทั้งประเทศ แต่ของเราทุกวันนี้ รัฐบาลเพิ่งฉีด 2 เข็มไปได้แค่ 7 ล้านคนหรือราว 10% เท่านั้น

สำคัญที่สุดคือปัญหา “กำลังซื้อหดหาย” อันเนื่องมาจากธุรกิจทะยอยปิดกิจการ ชาวบ้านตกงาน ไม่มีงานทำมาเป็นปี เงินออมก็หดหาย ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนที่พอมีบ้างก็จะเก็บไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น อีกทั้งปัญหา “หนี้ครัวเรือน” เป็นปัญหาใหญ่ตัวเลขไตรมาสแรกปี นี้พุ่งสูงถึง 90.5% ต่อจีดีพี ด้วยมูลค่า 14.1 ล้านล้านบาท เรียกว่า “หนี้ท่วมหัว” นี่ยังไม่รวมรวมถึงหนี้นอกระบบ ที่ไม่รู้มีอีกเท่าไหร่

ขณะที่ในภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดใหญ่ทั้งหลาย ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทำให้ “ต้นทุนสูงขึ้น” จากมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “แฟคตอรี่แซนด์บ็อกซ์” หรือมาตรการ “บับเบิ้ลแอนด์ซีล” ทำให้ต้องแบกรับภาระ “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% เป็นภาระหนักมาก

ต้นทุนเพิ่มขึ้นมหาศาล ประกอบกับสถานการณโควิด-19 ยังเปราะบาง เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง การฉีดวัคซีนก็ยังล่าช้ากว่าเป้าตั้งไว้มาก ยอดผู้เสียชีวิตยังสูงกว่า 200 คนต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่คนจะเริ่มไม่เชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดคงไม่มีใครกล้านำเงินในกระเป๋าที่ออมเอาไว้ มาจับจ่ายใช้จ่ายสอย เพราะไม่แน่ใจว่าหลังจากปลดล็อคในวันที่ 1 กันยายน ตัวเลขผู้ป่วยกลับมาพุ่งสูงขึ้นหรือไม่

เมื่อเห็นเงื่อนไขแล้ว น่าสนใจว่าธุรกิจจะไปต่อยังไง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกรายเล็กๆ หรือร้านอาหาร…ไม่รู้ว่าจะร้องเฮ หรือจะร้องโฮ

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img