วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแกะรอยขบวนการ“ฟอกรถหรู”รวยอู้ฟู่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แกะรอยขบวนการ“ฟอกรถหรู”รวยอู้ฟู่

หลังจากทุกคนฮือฮากับกรณีของ “พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล” หรือ “อดีตผู้กำกับโจ้” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดี “ถุงดำ” แล้วความร่ำรวยจากการเป็นหัวหน้าทีมเข้าจับกุมรถหรูก็น่าสนใจไม่น้อย

จากข้อมูลที่เปิดเผยในช่วงจับกุมใหม่ๆ ระบุว่า ตลอด 6 ปี ที่อดีตผกก.โจ้ 6 ปีจับรถหรู 368 คัน นำของกลางประมูลขายทอดตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท รับส่วนแบ่งจาก “เงินรางวัล” ไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท

ล่าสุด มีรายงานว่า อดีต ผกก.โจ้ เป็นเจ้าของสำนวนคดีนำจับรถหรูและรถทั่วไป ได้จับกุมและยึดรถจำนวน มากถึง 410 คัน ส่งประมูลที่กรมศุลกากร และยังคงเหลืออีก 5 คัน ที่ยังไม่ได้ถูกประมูลไปและยัง พบว่า อดีต ผกก.โจ้ ได้ทำ “เอกสารอันเป็นเท็จ” หลายกรรมหลายวาระ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมรายได้จากการจับกุมจึงมากมายมหาศาลขนาดนั้น ก็ต้องบอกว่าในส่วนของรายได้นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกได้รับเงินสินบน 30% ส่วนที่สองรางวัลนำจับ 25% รวมเบ็ดเสร็จ 55% จากยอดประมูลขายรถของกลาง ซึ่งรายได้ดังกล่าวทำถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรกำหนดไว้ทุกอย่าง

ทั้งนี้การที่กำหนดให้รางวัลจากการแจ้งเบาะแสและรางวัลนำจับไว้สูง ได้กลายเป็นจุดอ่อน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐอาศัยเป็นช่องทางในการทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่จะว่าไปแล้ว ต้นตอของปัญหาจริงๆ คือกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็น “แรงจูงใจ” ให้คนที่มีอำนาจหน้าที่ กล้าพอที่จะเสี่ยงกระทำความผิด เพราะหากทำสำเร็จก็จะได้โบนัสก้อนโต

ฉะนั้น กระบวนการจับรถแล้วนำไปสู่การขายทอดตลาดของกรมศุลกากร จึงกลายเป็นช่องทางทำมาหากินจนร่ำรวยอู้ฟู้ และยังกลายเป็นเครื่องมือในการ “ฟอกรถหรู” ของเหล่ามิจฉาชีพอีกด้วย

สำหรับขบวนการลักลอบนำรถหรูเข้ามาในประเทศนั้นมีรูปแบบหลักๆ 3 รูปแบบคือ

รูปแบบแรกจะเป็น รถที่เจ้าของไม่มีปัญญาผ่อนไฟแนนซ์ต่อและกำลังจะโดนยึด วิธีการคือพวกมิจฉาชีพจะตระเวณดูแล้วเข้าไปทาบทามขอซื้อในราคาถูกๆ ส่วนมากจะเป็นรถหรูๆ ซึ่งเสี่ยงแล้วคุ้ม เช่น, ปอร์เช่, เฟอร์รารี่, ลัมโบร์กินีเป็นต้น

ส่วนรูปแบบที่2 จะเป็น “รถที่ถูกขโมย” อันนี้ไม่ซับซ้อน

รูปแบบสุดท้ายใช้วิธี “ซื้อ” รถเก่าหรือรถป้ายแดงโดยตรง รถพวกนี้จะเป็นรถทั่วไปไม่ได้ถูกยึดแต่อย่างใดซึ่งราคาจะถูกกว่ารถบ้านเราเกือบครึ่ง ประเทศที่เป็นที่นิยมมากที่สุด จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซียการนำเข้ามาได้ง่ายและที่สำคัญใช้พวงมาลัยขวาเหมือนบ้านเรา

พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล / @policetv.tv

หลังจากนั้นเหล่าขบวนการนี้ก็จะว่าจ้างคนขับรถเข้ามาประเทศไทย ซึ่งมีทั้งเข้ามาในรูปแบบของนักท่องเที่ยวหรือหลบหนีเข้าประเทศ แล้วนำรถที่ขับเข้ามาไปจอดทิ้งไว้ ตามปั๊มน้ำมัน หรือตามห้างสรรพสินค้าเป็นต้น ตรงนี้ที่เปิดช่องให้ เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง พร้อมนำรถเข้าสู่กระบวนการจับของเถื่อนของกรมศุลกากร ก็สามารถไปประมูลกลับมาได้ และได้เงินรางวัลอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าจะประมูลได้ชัวร์ๆ ก็ต้องทำกันเป็นขบวนการโดย ร่วมมือกับเจ้าของเต๊นท์รถมือสอง ในการถอดองค์ประกอบรถบางชิ้นที่สำคัญ เช่น พวกสมองกลออกก่อน แล้วจึงค่อยไปจับส่งรถให้ตำรวจ และให้ศุลกากรต่อไป

ครั้น เมื่อนำรถออกประมูล ก็ใช้วิธีตั้งราคาสูงๆ ไว้ เพื่อกันท่าคู่แข่งซึ่งปกติก็จะไม่มีใครมาแย่งซื้อ เพราะรถขาดองค์ประกอบสำคัญที่ถอดออกก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อจัดประมูลครบ 3 ครั้ง ไม่มีใครประมูลไป ราคาประมูลก็จะกลายเป็นว่า แล้วแต่คนประมูลจะให้เท่าไหร่ เพราะเป็นตลาดของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของการประมูล

เมื่อได้ใบประมูลไปแล้ว พวกมิจฉาชีพก็เอาองค์ประกอบชิ้นส่วนของรถที่ตัวเองถอดออกไปก่อนหน้านี้มาใส่กลับคืน เป็นรถที่สมบูรณ์ นำไปจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นำออกขายได้ในราคาสูงๆฟันกำไรเหนาะๆ

หากมองอีกมุมหนึ่งกระบวนการนำจับของกรมศุลกากร ถูกมิจฉาชีพ ยืมมือไปเป็นเครื่องมือ “ฟอกรถ” ผิดกฎหมายจนขาวสะอาด แถมกำไรและได้เงินรางวัลอีกต่างหากแต่กลับไม่เห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงคลังออกมาแอคชั่นอะไร

อยากจะฝากให้ “คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลองหยิบกฏหมายการให้สินบนและรางวัลนำจับนำกลับมาทบทวนหรือรื้อใหม่ ให้มันสมเหตุสมผลหรือควรจะยกเลิกไปเลยดีไหม

…………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย..“ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img