วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSน้ำมันแพง...“โครงสร้างบิดเบี้ยว” หรือ...“ไร้น้ำยา”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

น้ำมันแพง…“โครงสร้างบิดเบี้ยว” หรือ…“ไร้น้ำยา”

การปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเรา ต้องบอกว่ามหาโหดจริงๆ เพราะขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบไม่มีเบรก หากลองเทียบกันระหว่างวันที่ 30 ก.ย. 2564 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นว่าราคาขายปลีกน้ำมันปรับขึ้นไป เฉลี่ยเกือบ 10 บาทต่อลิตร

อย่างเช่น ราคาดีเซล ปรับขึ้นเฉลี่ย 9.7 บาทต่อลิตร ราคาเบนซิน เฉลี่ย 8.9 บาทต่อลิตร หากนับย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีจะเห็นว่า ผู้ค้าน้ำมันในบ้านเราปรับราคาขึ้นไปแล้วเกือบๆ 60 ครั้ง ข้ออ้างหนีไม่พ้นปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

แต่สิ่งที่ผู้ใช้น้ำมันต่างพากันกังขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นราคาในบ้านเรา กับราคาน้ำมันตลาดโลกน่าจะ “ไม่โปร่งใส” หลายคนตั้งข้อสังเกตุและมีคำถามถึงการปรับขึ้นราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มกับราคาน้ำมันในตลาดโลก สอดคล้องกันหรือไม่ เพราะคนไทยไม่น้อยรู้สึกว่า เวลาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นไม่กี่วัน ต่อมาราคาขายปลีกในบ้านเรา ปรับราคาขึ้นตาม แต่เวลาราคาตลาดโลกปรับตัวลงมา แต่ราคาที่บ้านเรากลับไม่ลงตาม หรืออาจจะลงช้ากว่า

แม้ผู้ค้าน้ำมันจะพยายามอรรถาธิบายว่า การขึ้นลงราคาน้ำมันในประเทศขึ้น-ลง สอดคล้องกับราคาในตลาดโลกทุกครั้งก็ตามแต่คนก็ยังคลางแคลงใจอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในบ้านเราแพงกว่าหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าเป็น มาเลย์, พม่า หรือลาว เป็นเพราะ “โครงสร้างราคาน้ำมัน” ในบ้านเราซับซ้อนมากกว่า

เริ่มจาก “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน” ที่ซื้อมาจากโรงกลั่น หรือ “ราคา ณ โรงกลั่น” ซึ่งบ้านเราใช้วิธีอ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ตรงนี้ผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปอิงราคาสิงคโปร์ ในเมื่อเรานำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นที่โรงกลั่นของเราเอง การไป “อ้างอิงราคา” โรงกลั่นสิงคโปร์ ทำให้ต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากมีการ “บวกค่าใช้จ่ายเทียม” อย่างเช่นค่าขนส่งทางเรือ ค่าประกันภัย และค่าอื่นๆ เข้าไป ตรงนี้ผู้ใช้น้ำมันถามว่า มันเป็นธรรมหรือไม่

ต่อมา “ค่าภาษี” และ “เงินนำส่งกองทุนต่าง ๆ” ที่รัฐบาลเรียกเก็บ มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล หรือภาษีบำรุงท้องถิ่นและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” นั้น ทุกคนต่างพากันสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลต้องเรียกเก็บซ้ำซ้อนซ้ำซาก เก็บทุกขั้นตอนที่มีการซื้อขาย ทำไมรัฐบาลไม่เก็บเฉพาะภาษีที่จำเป็นจริงๆ ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น หรืออาจจะ “ลดอัตราภาษี” แต่ละประเภทลงก็ได้

มิหนำซ้ำ รัฐบาลยังจัดเก็บเงินจากราคาน้ำมันต่อลิตรเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” อ้างว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ความหมายก็คือ หากปล่อยให้ชาวบ้านใช้น้ำมันราคาถูก ก็จะใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัด จึงต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน ไม่ให้น้ำมันราคาถูกจนเกินไป

แต่ถ้าน้ำมันมีราคาแพงเมื่อใด ก็จะนำเงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุน วิธีคิดแบบนี้เป็น “ตรรกะวิบัติ” เป็นการคิดแทนชาวบ้าน แต่เวลาน้ำมันราคาแพง ก็ไม่เห็นมีการนำเงินกองทุนมาใช้ตามวัตุประสงค์ที่กล่าวอ้าง แต่กลับเอาไปอุ้มผู้ใช้แก๊สเสียเป็นส่วนใหญ่ แถมยังมีการจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการจัดเก็บเงินนำส่งทั้ง 2 กองทุนนั้น คนไทยกังขาใน “ความโปร่งใส” เนื่องจากประชาชนไม่เคยรับรู้ว่า ในแต่ละวันเข้ากองทุนน้ำมันเท่าไหร่ ออกเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าตัวเลขที่เปิดเผยนั้น จริงหรือเท็จอีกทั้ง “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เป็นที่ร่ำลือว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่เอาโครงการอนุรักษ์พลังงานมาบังหน้า

พลังงาน /cr ; สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

สำหรับต้นทุนส่วนที่ 3 เป็นค่าการตลาดของผู้ประกอบการ หรือปั๊มน้ำมัน มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 6% เป็นรายได้จากการขายน้ำมันที่หน้าหน้าปั๊ม ซึ่งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ อันนี้คนอาจจะคลางแคลงใจบ้างว่า เป็นสัดส่วนที่สูงไปหรือไม่ แต่ก็ยังพอรับได้

จะว่าไปแล้ว เรามีกระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ กลับไม่ค่อยสนใจ ปล่อยให้บริษัทน้ำมันเอาเปรียบผู้บริโภคมาตลอด ตรงนี้สะท้อนจากผลกำไรของบริษัทน้ำมันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ตาม

ถึงเวลาที่รัฐบาลและผู้ที่มีหน้าที่ควรปกป้องผลประโยชน์ชาวบ้านโดยการทบทวน โครงสร้างราคาน้ำมันเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอะไรที่เคยเอาเปรียบผู้ใช้น้ำมันควรจะ “ตัดทิ้ง” บ้าง

อย่างกรณีสูตรคิดราคาน้ำมันที่อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์นั้น ไม่เป็นธรมอย่างยิ่ง ควรจะใช้วิธีคิดต้นทุนตามความเป็นจริง แม้กระทั่งการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ซ้ำซ้อนอย่างในปัจจุบัน ก็ควรจะต้องทบทวน

อย่าลืมว่า น้ำมันนั้นเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวบ้านโดยเฉพาะ “น้ำมันดีเซล” เป็นปัจจัยสำคัญในการขนส่ง จึงไม่เพียงกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ แต่ยังกระทบไปถึงค่าโดยสาร ค่าขนส่งต่างๆ และยังทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นด้วยทุกครั้งที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ชาวบ้านก็จะได้รับความเดือดร้อนจาก “ค่าครองชีพ” ที่สูงตามเสมอ

“บิ๊กตู่” ที่เคยบอกว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศตั้งแต่รัฐบาลคสช. ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็อยากจะฝากให้ช่วยปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ….แต่ไม่รู้ว่าจะมีน้ำยาและกล้าพอหรือไม่

………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img