วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSดีลแห่งปี “TRUE ควบรวม DTAC”... เกมวัดใจ “กสทช.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ดีลแห่งปี “TRUE ควบรวม DTAC”… เกมวัดใจ “กสทช.”

ในที่สุดดีลประวัติศาสตร์แห่งปีระหว่าง TRUE และ DTAC ก็ถูกเฉลยเป็นที่เรียบร้อยหลังจากปล่อยให้มีการคาดเดากันไปต่างๆนาๆ โดยทั้ง 2 บริษัท มีการอนุมัติให้เข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้น เพื่อพิจารณาการรวมธุรกิจในรูปแบบ “การควบรวมกิจการ” โดยจะเป็นการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ในนาม “บริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็น ผู้ถือหุ้นของ TRUE และ Telenor Asia ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ DTAC

กล่าวโดยสรุปดีลนี้ก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง 2 บริษัทร่วมกันก่อตั้งอีกบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าซื้อกิจการ TRUE และ DTAC ให้มาอยู่ในบริษัทเดียวกัน โดยแลกกับหุ้นของบริษัทใหม่นั่นเอง จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะทั้ง TRUE และ DTAC ต่างเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของประเทศตามลำดับ

สำหรับเป้าหมายการควบรวมกันครั้งนี้ ด้านหนึ่งก็เพื่อเขย่าบัลลังก์แชมป์ “AIS” ที่อยู่ใต้ร่มเงาของอินทัช ซึ่งเป็นผู้นำตลาดตั้งแต่ออกสตาร์ทจนถึงวันนี้ โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 44% มีจำนวนผู้ใช้บริการราว43ล้านเลขหมาย ล่าสุด Gulf ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงานเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้วยการเข้ามาร่วมถือหุ้น

แต่หลังจากทั้งสองค่ายควบรวมกิจการมาเป็นบริษัทใหม่แล้วก็จะก้าวมาครองแชมป์ขึ้นแท่นผู้นำแทนแชมป์เก่าทันที ซึ่งในปัจจุบันTRUE มีผู้ใช้บริการราวๆ 32 ล้านเลขหมาย ส่วน DTAC มีผู้ใช้บริการราว 19 ล้านเลขหมาย หากรวมกันส่วนแบ่งก็จะแซงขึ้นแท่นเป็นที่ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 52% เลยทีเดียว

การควบรวมกิจการครั้งนี้ทั้ง TRUEและ DTAC น่าจะแฮปปี้ทั้งคู่ในส่วนของ TRUE เองที่ผ่านมามีธุรกิจในเครือข่ายทุกอย่างเหมือนกับ AIS แต่ที่เป็นรองแค่ผู้ใช้บริการมือถือ หากควบรวมในนามบริษัทใหม่สำเร็จก็พร้อมที่จะท้าชน AIS ได้ทุกรูปแบบ

เหนือสิ่งอื่นใดในทางธุรกิจนั้นการควบรวมกันจะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของธุรกิจเพราะจะเกิดการประหยัดต้นทุนมหาศาล แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว ไม่ต้องเดาเลยว่าผลกระทบที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร เพราะการควบรวมของสองค่ายทำให้การแข่งขันเดิมที่มีรายใหญ่ 3 รายคือ AIS, TRUE และ DTAC ที่มีส่วนแบ่งรวมกัน 97% ส่วนค่ายที่ 4 คือ NT (National Telecom เป็นองค์กรใหม่เกิดจากการรวมตัวกันของ CAT กับ TOT) มีผู้ใช้บริการแค่ไม่กี่หมื่นราย หรือราวๆ 3% เมื่อเทียบกับประชากร 69 ล้านคน

ลองคิดดูว่าเดิมมี 3 รายใหญ่กับอีก 1 รายเล็ก ถือว่าเป็นธุรกิจผูกขาดเกือบจะสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว แต่เมื่อมาเหลือแค่ 2 รายใหญ่ผู้บริโภคแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลยอย่างกรณีสิงคโปร์ ที่ มีประชากรแค่ 5 ล้านกว่าคนน้อยกว่าไทยเกือบ 14 เท่า แต่มีผู้ให้บริการ 4 ราย ประกอบด้วย Sing Tel, M1, Star Hub และ TPG Telecom ผู้ประกอบการจากออสเตรเลียที่รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้ลงสนามแข่งเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ในสิงคโปร์ยัง มีผู้ประกอบการที่เช่าเครือข่ายจากผู้ประกอบการหลักหรือที่เรียกว่า MVNO (Mobile Virture Network Operate) “เครือข่ายเสมือน” อีกถึง 9 ราย ยิ่งทำให้การแข่งขันยิ่งมีมีความดุเดือดเข้มข้นเพื่อแย่งเค็ก 5 ล้านกว่าคน ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำลง คุณภาพการบริการระบบโทรศัพท์ดีขึ้น การเข้าถึงง่ายขึ้น

นั่นแปลว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการโทรศัพท์และระบบโทรศัพท์ของคนสิงคโปร์มีน้อย ต่างจากประเทศไทย ที่ผลการศึกษาพบว่ามีความล้ำเหลื่อมในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตค่อนข้างมาก สาเหตุมาจากไม่สามารถจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือนและรายครั้งได้

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมค่าบริการโทรศัพท์ในสิงคโปร์ที่เคยสูงถึง 70-80 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์เหลือแค่ 30 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ขณะที่ค่าบริการอินเตอร์เน็ตใน 5 ปีที่ผ่านมา ก็ลดลงจาก อย่างมาก การแข่งขันที่เข้มข้นนอกจากจะช่วยให้เกิดการแข่งขันด้านราคาแล้วยังกระตุ้นให้แข่งขันในเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆและเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้มีประสิทธิภาพสูงส่งผลค่าบริการถูกลงอีกด้วย

นี่คือข้อดีของระบบที่มีการแข่งขันสูง ตรงข้ามหากตลาดมีการแข่งขันน้อยรายก็จะเกิดระบบ “กึ่งผูกขาด” นอกจากผู้บริโภคจะไม่ได้สินค้าบริการที่มีคุณภาพเพราะผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน แถมราคาก็แพงเพราะไม่มีใครเข้ามาแย่งตลาด

กสทช. / cr : @ONBTC

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของ TRUE กับ DTAC ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้ายทาย “ผู้คุ้มกฏ” อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายสียง กิจการโทรทัศน์แลกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” ที่ดูแลเรื่องนี้อย่างยิ่งว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ดีลนี้จะผ่านด่าน กสทช.หรือไม่ถ้าเกิดขึ้น ได้จริง อาจทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย พลิกโฉมแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย..“ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img