วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโควิด-19 ซ้ำเติม บาดแผล“ความเหลื่อมล้ำ” ยิ่งลึกและถ่างขึ้น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โควิด-19 ซ้ำเติม บาดแผล“ความเหลื่อมล้ำ” ยิ่งลึกและถ่างขึ้น

ในที่สุดก็เข้าสู่โค้งสุดท้ายปี 2564 แล้ว คนทั้งโลกรวมถึงคนไทยต้องตกอยู่ในสภาพหดหู่กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่มีเค้าว่าจบลงเมื่อไหร่ หลังจากที่ต้องทนอยู่กับมันมานานถึง 2 ปีเต็ม จนป่านนี้มนุษย์ก็ยังเอาชนะไม่ได้ ล่าสุดทำท่าว่าจะกลายพันธ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” แต่ยังไม่รู้ว่าพิษสงเป็นอย่างไร

การแพร่ระบาดโควิด-19 ในห้วงเวลา 2 ปีเต็ม ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ มิหนำซ้ำยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่มีมาช้านาน กลายเป็น “บาดแผลเศรษฐกิจที่ลึกและถ่างกว้างขึ้นกว่าเดิม” 

อย่างที่เราทราบๆ กันว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในบ้านเรามีมานาน สะท้อนจากข้อมูลที่ระบุว่าคนรวยที่สุด 20% แรก คนจนที่สุด 20% รายได้ต่างกัน 10 เท่า แต่ในเชิงสินทรัพย์ ต่างกันยิ่งกว่านี้มาก ที่ดินคนรวยสุด 20% กับคนจนสุด 20% ต่างกัน 320 เท่าจากทั้งหมด 110 ล้านบัญชีในไทย บัญชีเงินฝากธนาคารแค่ 1.5 แสนบัญชี มีเงินรวมกันมากกว่าครึ่งของทั้งหมด

ไม่นับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ในหุ้น พันธบัตร ตลอดจนจำนวนมหาเศรษฐีที่ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่กำลังลำบาก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท.

ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้รับการตอกย้ำว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก โดย “ดร เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘The Future of Thai Economy and Finance : อนาคตเศรษฐกิจและการเงินไทย’ เมื่อไม่กี่วันก่อน…ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องเติบโตแบบ Inclusive หรือ “ทั่วถึงมากกว่าเดิม” เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีความเหลื่อมล้ำสูงและไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

พร้อมอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถสะท้อนออกมาได้ชัดเจนผ่านข้อเท็จจริง 3 ประการ ได้แก่

ข้อเท็จจริง ประการแรก ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของประเทศตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน หรือ 0.0004% ของครัวเรือนทั้งประเทศ มีทรัพย์สินเกือบ 50% ของทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เกิดจากการเติบโตของรายได้และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลายาวนาน

ตรงนี้ในความเห็นส่วนตัวเท่าที่ติดตามที่นิตยสาร Forbes ได้มีการจัดอันดับทุกปี แต่ที่น่าสังเกตคือ เศรษฐีเมืองไทย 50 อันดับแรก แทบไม่ค่อยเปลี่ยนหน้า จะมีหน้าใหม่เป็นยาดำสอดแทรกเข้ามาบ้าง ปีละไม่เกิน 1-2 คน แปลว่า คนรวยก็ยังผูกขาดความรวยและยิ่งรวยขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเท็จจริงข้อที่ 2 ที่ผู้ว่าแบงก์ชาติพูดถึง คือ 50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนถึงความได้เปรียบของบริษัทเหล่านี้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปัจจุบัน SMEs ไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน

ข้อเท็จจริง ประการสุดท้าย 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวมกระจุกตัวอยู่ในแค่ 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” ไม่ใช่แค่ระดับบุคคล แต่ยังเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่อีกด้วย ดังจะเห็นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่เท่านั้น

ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบ 2 ปี ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนกลับยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอย่างมาก ประกอบกับในรอบ 10 ปีมานี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เกิน 4% โดยเฉลี่ยตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนไม่ว่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดฯและมาเลเซียที่โตเฉลี่ยราว 6-7%

อัตราการเติบโตจีดีพี.ที่โตต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แถมส่วนใหญ่ไปตกอยู่ใน “กระเป๋ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่” ไม่กี่ตระกูล กระจายไปไม่ถึงมือชาวบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งคนจน คนระดับรากหญ้าแทบไม่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจเติบโตในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาแต่อย่างใด

การเติบโตอย่างไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งล่าสุดพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะๆ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 10 ปีก่อน 

การที่หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้ ทำให้ไม่มีกำลังซื้อ จึงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน เมื่อรายได้ไม่โตก็จำเป็นต้องก่อหนี้ เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การจะก่อหนี้เพิ่ม ก็ทำได้ยาก ต้องไปพึ่งเนื้อนาบุญ “หนี้นอกระบบ” ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ยาก

ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้เกิดการว่างงานที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ จากรายงานของสภาพัฒน์ฯ ล่าสุด ระบุว่า ในไตรมาส 3 คนมีงานทำ 37.6 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.6% ถ้าคิดจำนวนคน ก็เป็นแสนคนเลยเดียว ยังมีประเภทที่ยังมีงานทำ แต่เวลาทำงานลดลง เดิมเคยมีโอที.ตอนนี้ไม่มีแล้ว รวมทั้งคนว่างงานชั่วคราว ซึ่งตั้งแต่เกิดโควิด-19 แพร่ระบาดมา มีคนว่างงานแล้ว 8.7 แสนคน มากกว่าช่วงโควิด-19 ระบาดปีที่แล้ว ที่มีคนว่างงานแค่ 4.7 แสนคนเท่านั้น รอบนี้หนักกว่า

ที่สำคัญการแพร่ระบาดโควิด-19 เกือบ 2 ปี ได้ซ้ำเติมคนไทยอย่างหนักกล่าวคือ คนที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นกลุ่ม จะกระทบภาคบริการและท่องเที่ยวหนักสุด กลุ่มนี้มีแรงงานประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็น ลูกจ้างรายวัน ดังนั้นความสามารถในการรับมือของคนกลุ่มนี้หลังจากโดนเลิกจ้างมีน้อยมาก กลุ่มนี้นอกจากแรงงานแล้ว ยังรวมถึงกลุ่ม เอสเอ็มอี. เนื่องจากสายป่านสั้น มีเงินออมน้อย 

แต่ที่น่ากังวลที่สุด เมื่อโควิดมาแล้ว ไม่ว่ากำลังจะผ่านไปหรือจะอยู่กับเรา แต่ความสามารถในการฟื้นฟูต่ำ เพราะหนี้พอกพูน ทักษะที่เคยมีก็หายไป เมื่อกลับมาธุรกิจก็ไม่เหมือนเดิม ทักษะที่เคยมีก็ใช้ไม่ได้แล้ว 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังจะเป็นระเบิดเวลาซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยที่ฝังลึกมานานให้กลายเป็นบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ลึกและถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img