วันพุธ, เมษายน 17, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแลหลัง“เปิดประเทศ”..ทางเลือกที่เจ็บปวด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แลหลัง“เปิดประเทศ”..ทางเลือกที่เจ็บปวด

เพิ่งจะครบ 1 เดือนที่รัฐบาลประกาศ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศ แต่ยังไม่ทันไร ก็ต้องเจอข่าวร้ายจากการแพร่ระบาดของโควิด319 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่กำลังอาละวาดในหลายๆ ประเทศแถบทวีปแอฟริกา

และตอนนี้ได้แพร่กระจายไปเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป อเมริกา รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง สิงคโปร์และมาเลเซีย

ล่าสุดในระหว่างนั่งเขียนต้นฉบับ มีรายงานข่าวเข้ามาแบบสดๆ ร้อนๆ ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อ “โอไมครอน” ในประเทศไทยแล้ว เมื่อกระทรวงสาธารณะสุขได้พบผู้ต้องสงสัยว่า ติดเชื้อโอไมครอน 1 ราย เป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน ในรูปแบบ Test and Go แต่ยังไม่ทราบว่า ได้เดินทางไปในพื้นที่แอฟริกาหรือไม่

ไม่รู้ว่าการเข้ามาของ “โอไมครอน” จะดับฝัน “นโยบายการเปิดประเทศ” หรือไม่??

ย้อนกลับมาถึงเหตุผลที่รัฐบาลยืนยันเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่ตอนนั้น โควิด-19 ระบาดรอบ 3 มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในบ้านเรา แต่ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจกำลังเข้าขั้นโคม่า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลคาดเดาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบแรกผิดพลาด คิดไม่ถึงว่าจะยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี จึงทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดไปในเรื่อง “สุขภาพ” โดยไม่สนใจถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จึงประกาศล็อคดาวน์ประเทศนานถึง 6 เดือน ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ต้องได้รับความเสียหายอย่างหนัก 

จนถึงวันนี้การแพร่โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงเมื่อใด แต่เศรษฐกิจของประเทศเจ๊งระเนระนาดไปแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็น “เสาหลัก” เสาหนึ่งในการหารายได้เข้าประเทศ โดยมีสัดส่วนเกือบๆ 20% ของจีดีพี.มีการจ้างงานแรงงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ เกือบครึ่งของแรงงานทั้งหมด ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนป่านนี้ก็ยังไม่ฟื้น 

การเปิดประเทศจึงเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ของรัฐบาลในการฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังหายใจผะงาบๆ ให้ลืมตาอ้าปากได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดประเทศมาได้ 1 เดือน เท่าที่ประเมินดู ผลที่ได้รับน่าจะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ชุมชนท่องเที่ยวคลองหรูด (คลองน้ำใส) จ.กระบี่

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่เป็นไปตามเป้า สะท้อนจากตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า 24 วันแรกของการเปิดเมือง ตั้งแต่วันที่ 1-24 พ.ย. 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯสะสมอยู่ที่ 68,658 คนเท่านั้น จากเป้าที่ตั้งไว้ 3 แสนคน

ยิ่งในขั้นตอนปฏิบัติ ก็มีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียนของ Thailand Pass เช่น บัตรวัคซีน ใบตรวจโรคโควิด (RT-PCR) ยังใช้ระบบ ตรวจด้วยมือ รวมถึงเรื่องไม่มีระบบ Vaccine Validate (ตรวจสอบวัคซีน) การแก้ปัญหาก็ทำกันอย่างลวกๆ เช่น Thailand Pass แก้ไขปัญหาล่าช้าด้วยการไม่ตรวจเอกสาร เอกสารไม่ครบก็ออก QR code ให้ ขณะที่ด่านโรคติดต่อก็ยังคงใช้วิธีตรวจเอกสารด้วยมือ

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะเจ้าภาพ ก็แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการขอปรับลดเงื่อนไขลง ตั้งแต่ขอลดวันกักตัว รวมถึงผลักดันให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR แล้วใช้ตรวจ ATK แทน หวังช่วยลดค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว เป็นการจูงใจและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งในการประชุม ศบค. เมื่อ 26 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่ ททท.เสนอ โดยให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR และให้ตรวจ ATK แทนตั้งแต่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป แต่เกิดการแพร่ระบาดของ “โอไมครอน” เสียก่อน มาตรการดังกล่าวจึงถูกยกเลิก

จะเห็นว่าตลอด 1 เดือนที่เปิดประเทศ คนไทยต้องแบกรับความเสี่ยงอย่างมาก จากปัญหาความหละหลวมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มิหนำซ้ำ ททท.ยังลดเงื่อนไขให้การเดินทางเข้ามาสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งที่รู้ว่าการตรวจ ATK ตามที่เสนอนั้น โอกาสจะทำให้ผู้ติดเชื้อเล็ดลอดเข้าประเทศง่ายขึ้น 

อันที่จริง ทั้งรัฐบาล หรือ ททท. ต่างก็รู้ว่าการเปิดประเทศหวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยว เป็นไปได้ยาก ตราบใดที่รัฐบาลจีนยังไม่เปิดประเทศให้คนจีนเดินทางออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศ วันนี้แหล่งท่องเที่ยวไทยจึง “ไร้นักท่องเที่ยวจีน” ทั้งที่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในไทยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดหรือราวๆ 10.99 ล้านคน สร้างรายได้ 5.43 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ฉะนั้นตราบใดที่จีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทยยังปิดประเทศ การเปิดประเทศของไทยก็ไร้ความหมาย อย่าลืมว่าในการเปิดประเทศครั้งนี้ มีต้นทุนมหาศาลที่คนไทยต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ บุคลากร รวมถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่เข้ามาในบ้านเราเรียบร้อยแล้ว

ต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าเปิดประเทศต่อไปหรือไม่ จะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม หากยังยืนยันเดินหน้าต่อไป เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ก็ควรออกมาสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน ว่าจะมีมาตรการรองรับการแพร่ระบาดของ “โอไมครอน” อย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน 

อย่าปล่อยให้การเปิดประเทศ เป็นความเสี่ยงและเป็นทางเลือกที่เจ็บปวดสำหรับประชาชน

……………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img