วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSระวัง‘เก็บภาษีขายหุ้น’ เขย่าเก้าอี้รัฐบาล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ระวัง‘เก็บภาษีขายหุ้น’ เขย่าเก้าอี้รัฐบาล

ประเด็นร้อนแรงที่สุดในแวดวงเศรษฐกิจไทยตอนนี้ คงหนีไม่พ้น กรณีกระทรวงคลังจะผลักดันมาตรการ “จัดเก็บภาษีขายหุ้น” ในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ออกมาใช้

พูดง่ายๆ ขายหุ้น 1 ล้านบาทต้องจ่ายภาษี 1,000 บาท แม้จะอ้างว่า เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการปฏิรูประบบภาษีก็ตาม แต่คนวงในรู้ๆ กันว่า เป็นเพราะรัฐบาล “ถังแตก” หลังมัวเพลินทุ่มงบประมาณใช้ในการแก้วิกฤติโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในปี 2564 รัฐบาลยังเก็บภาษีพลาดเป้ากว่า 3 แสนล้านบาท จนต้องมีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี. หากยังก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอาจจะมีความเสี่ยงวิกฤติฐานะการคลัง การเก็บภาษีจากตลาดหุ้น…จึงเป็นทางออก

ประกอบกับที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของนักลงทุนในตลาดหุ้นถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนรวย ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคม อีกทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีกำไรเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แม้ช่วงโควิด-19 ระบาด ธุรกิจอื่นๆ ต่างพากันได้รับผลกระทบอย่างหนักก็ตาม

สำหรับการจัดเก็บภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นมี 2 รูปแบบคือ แบบแรก เรียกว่า “Capital Gain Tax” เป็นภาษีกำไรจากการขายหุ้น ส่วน แบบที่สอง เรียกว่า “Financial Transaction Tax” การเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 

อันที่จริงการจัดเก็บภาษีหุ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาเป็นระยะๆ แต่ส่วนใหญ่เสนอให้เก็บ “ภาษีกำไรหุ้น” ล่าสุดเมื่อปี 2562 สภาพัฒน์ฯยังเสนอนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ด้วยการเสนอให้รัฐเก็บภาษีในตลาดหลักทรัพย์ แต่ได้รับการคัดค้านจากกระทรวงคลัง และตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องพับแผนไป ส่วนมาตรการเก็บ “ภาษีขายหุ้น” ที่กระทรวงคลังเสนอ ก็เป็นนโยบายเก่า กำหนดเป็นนโยบาย ตั้งแต่ปี 2534 แต่ได้รับยกเว้นมาตลอด คราวนี้จึงถึงเวลาจะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่

ทั้งนี้ มาตรการเก็บภาษีจาก “การขายหุ้น” ที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท เป็นการคิดภาษีจากมูลค่าฐานการลงทุนร วมกับส่วนต่างกำไรราคาหุ้น ไม่ใช่การคิดภาษีเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นอย่างเดียว แถมยังโดนหักภาษีอีก แทนที่ผู้ลงทุนจะได้กำไรการลงทุนหุ้น อาจจะขาดทุนจากที่โดนหักภาษีได้

ในเรื่องนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย “คนที่หนุน” ก็มองว่าตลาดหุ้นบ้านเราเป็น “แหล่งเก็งกำไร” นักเก็งกำไรเข้ามาหาประโยชน์ในระยะสั้นๆ ฟันกำไรเหนาะๆ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี คนกลุ่มนี้มักจะอ้างว่า สหรัฐอเมริกายังมีการเก็บภาษีกำไรหุ้น บ้านเราก็น่าจะต้องเสียภาษีเช่นกัน

ภาษี / cr : www.ncb.co.th

“คนค้าน” ก็อ้างว่า “ตลาดหุ้น” ได้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศถ้าไม่มีตลาดหุ้น ธุรกิจของไทยคงไม่ใหญ่โตอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ขนาดเศรษฐกิจไทยก็ไม่โตเท่านี้ เพราะมีตลาดหุ้น ทำให้ธุรกิจเข้ามาระดมทุนได้ มีต้นทุนการเงินต่ำกว่าการกู้แบงก์ที่ต้องเสียดอกเบี้ย และเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายโดยเฉพาะธุรกิจ SME การเก็บภาษีจะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

คนที่ค้านยังย้ำอีกว่า มาตรการนี้จะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศตื่นตระหนกตกใจ หอบเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่มีนโยบายเก็บภาษี เช่น ตลาดหุ้นสิงคโปร์และมาเลเซียแทน ขณะที่บางคนก็เสนอทางออกว่าหากรัฐบาลจะหารายได้เข้าคลัง น่าจะหยิบนโยบายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จาก 30% เหลือ 20% ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ราว 200,000 ล้านบาทมาปัดฝุ่นใหม่

ขณะที่ “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” เสนอให้ เก็บภาษีตลาดทุนเพื่อบรรเทาปัญหาฐานะการคลัง แต่ควรเก็บจากกำไรจากการลงทุน (Capital Gain) ในอัตรา 0.05% สำหรับการถือครองหุ้นน้อยกว่าหนึ่งไตรมาส แทนการเก็บภาษีจากการขายหุ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาตลาดทุน และสภาพคล่องการซื้อขายคาดว่าจะมีรายได้จากภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,000-8,000 ล้านบาท รัฐบาลอาจจะไม่ได้ภาษีมากนัก แต่ก็จะไม่กระทบสภาพคล่องตลาดและธุรกรรมการซื้อขายไม่มาก และทำให้การพัฒนาตลาดทุนสามารถเดินหน้าต่อไปได้

อนุสรณ์ ธรรมใจ cr : VOICE TV

เหนือสิ่งใด ต้องไม่ลืมว่าตลาดหุ้นบ้านเราไม่ธรรมดา ใครทำอะไรกระทบกระทั่งอาจจะต้องเจออิทธิฤทธิ์ได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยที่รัฐบาล “คมช.” ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ กระทรวงคลังสมัยนั้นได้ผลักดันมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสกัดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทที่กำลังแข็งค่า จนทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงไปราวๆ 100 จุดหรือราวๆ 20%

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 วันแรกหลังจากที่กระทรวงคลังประกาศใช้มาตรการกันสำรองและเป็นวันที่หุ้นไทยร่วงหนักครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศ “ยกธงขาว” ยอมแพ้ ยกเลิกประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าไม่อาจต้านทานกระแสความไม่พอใจของนักลงทุนในตลาดหุ้นได้

ยิ่งในสถานการณ์รัฐบาลตอนนี้ อยู่ในสภาพเปราะบาง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากพลาดนิดเดียว อาจจะสั่นคลอนรัฐบาลได้

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img