วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“แจกเงิน”...ไม่ได้แก้ปัญหา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แจกเงิน”…ไม่ได้แก้ปัญหา

นับตั้งแต่รัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศจนถึงทุกวันนี้ ยังมัวสาละวนอยู่กับนโยบาย “แจกเงิน” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม พร้อมกับคำถามว่า จะมีความยั่งยืนแค่ไหน โดยเฉพาะในเวลานี้ที่มีการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนในโครงการต่างๆ อ้างว่าเพื่อเยียวยาผู้เดือดร้อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 คนต้องตกงาน คนยากจนไม่มีรายได้

สรุปมาตรการต่างๆ ตั้งแต่วิกฤติโควิดระบาดปี 63 มาจนถึงช่วงโควิดระบาดหนักปี 64 “ลุงตู่” กู้เงินมาแจกประชาชนไปแล้วก้อนโตมโหฬาร อย่าง โครงการคนละครึ่ง แจกไปแล้ว 3 รอบ เบ็ดเสร็จ 9.5 หมื่นล้านบาท, โครงการเราไม่ทิ้งกัน แจกอีก 3.9 แสนล้านบาท, โครงการเราชนะ 2 ชุดใหญ่ๆ แจกเน้นๆ อีก 2.8 แสนล้านบาท, โครงการ ม.33 เรารักกัน 2 รอบ แจกเนื้อๆ ไป 5.6 หมื่นล้านบาท, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน กับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซัดไปอีก 4.8 หมื่นล้านบาท

รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลดค่านํ้าค่าไฟ และโครงการเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยฟาดไปอีก 1.9 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมโครงการแจกฟรีกลุ่มตกสำรวจ กลุ่มเปราะบาง อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้ยังแจกนักดนตรีตกงาน คนงานในธุรกิจ SME อีก รายละ 5 พันบาท

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 21 ธันวาคมนี้ “ครม.ลุงตู่” ใจป้ำสวมบท “ซานตาครอส” เทกระจาดของขวัญแจกคนไทยถ้วนหน้า นอกจากสารพัดของขวัญในนามรัฐบาลแล้ว แต่ละกระทรวงรวมถึงธนาคารของรัฐก็ขนมาแจกแบบไม่อั้น เอาเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ อย่างกระทรวงคลังที่บอกว่า แจกเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เพียบแล้ว

เริ่มจากมาตรการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้แก่ประชาชน ได้แก่ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการ “ลดค่าธรรมเนียม” จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.0% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ ที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมี มาตรการ “ลดภาระ” ผู้ประกอบการและประชาชนอีกหลายๆ มาตรการ รวมถึงในวันอังคารนี้ กระทรวงคลังเตรียมเสนอครม.ออก มาตรการจูงใจประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐยอมเฉือนเนื้ออุดหนุนคนซื้อรถไฟฟ้าคันละ 3-4 แสนบาท พร้อมยืนยันว่า หากเสนอเที่ยวนี้ไม่ทัน ก็จะเสนอหลังปีใหม่ ส่วนมาตรการที่รัฐบาลภูมิใจนักหนาว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง อย่าง “คนละครึ่งเฟส 4” ต้องยืดออกไปก่อนจะเริ่มเดือนมีนาคม ปี 2565

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แค่ช่วงที่ “ลุงตู่” เป็นนายกฯสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งจนถึงวันนี้ ใช้งบอัดฉีดแจกฟรีไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท…ถามว่า งบแจกฟรีเกือบ 1 ล้านล้านบาทนั้น ช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้มากน้อยแค่ไหน สร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจหรือไม่

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค อย่าง กรณีโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ผ่านมาจากเฟส 1 เฟส 2 กระทั่งเฟส 3 ที่กำลังจะหมดโครงการสิ้นปีนี้ หากดูจำนวนคนเข้ามาใช้สิทธิ์และในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน แต่จะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ส่วนคนรากหญ้ายากจนจริงๆ ได้ใช้น้อยมาก เพราะเงื่อนไขให้ต้องเติมเงินคนละครึ่งทุกวัน เป็นข้อจำกัด

ในทางเศรษฐศาสตร์ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคโดยวิธีการแจกเงินใส่มือประชาชนจะได้ผลช่วงสั้นๆ แล้วก็วูบหายไปเหมือน “ไฟไหม้ฟาง” ในทางตรงกันข้ามกลับจะทำให้ศักยภาพที่จะเติบโตของประเทศต้องหมดสิ้นไปนโยบายลักษณะนี้เป็นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

เหนือสิ่งใด นโยบายประชานิยมไม่ใช่การส่งเสริมเศรษฐกิจระยะยาว ไม่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่การสร้างรายได้เพิ่มจากผลผลิต รวมถึงไม่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เปรียบเสมือนกับการต่อไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งทำระยะเวลานานไม่ได้เพราะจะเป็นภาระทางการคลังในอนาคต

สะท้อนจาก “หนี้สาธารณะของไทย” ที่พุ่งถึงกว่า 10% เมื่อเทียบปี 2563 กับปี 2562 คิดเป็น 52.13% ของจีดีพี. กระทั่งในปี 2564 กระทรวงคลังต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้เพิ่มขึ้น ตัวเลขล่าสุด หนี้สาธารณะไทยสิ้นเดือน ส.ค. อยู่ที่ 57.01% มูลค่ากว่า 9 ล้านล้านบาท คาดสิ้นปีงบ’65 อยู่ที่ 62.69% แม้ว่าจะยังไม่มีการเปรียบเทียบให้ชัดเจนว่า หนี้ที่พอกพูนเกี่ยวข้องกับนโยบายลด แลก แจก แถมของรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม

เรื่องการแจกเงิน ถ้าทำไปโดยยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน สุดท้ายก็จะกลับเข้าสู่ปัญหาเดิมๆ ฉะนั้น จะต้องใช้ด้วยความรอบคอบและชอบธรรมที่สุด เพราะเป็นการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ และเป็นการเสียโอกาสจากการที่ไม่ได้นำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลผลิตจริงซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า

นโยบายประชานิยมไม่ใช่จะมีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มี แต่ต้องไม่พร่ำเพรื่อ จะใช้ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ และต้องดูว่าควรจะแจกไปถึงใคร เมื่อไร ถึงจุดไหน ไม่ใช่แจกเพื่อซื้อเสียงเชิงนโยบายแบบเหวี่ยงแห จนกลายเป็นภาวะเสพติดประชานิยมของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก

ตัวอย่างก็มีให้เห็นในหลายๆประเทศ เศรษฐกิจพังพินาศ ประเทศต้องล้มละลายเพราะนโยบายแจกเงินแบบไม่บันยะบันยังนั่นเอง

…………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img