วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เกิดน้อย...ด้อยคุณภาพ” โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เกิดน้อย…ด้อยคุณภาพ” โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย

คาดไม่ถึงจริงๆ เมื่อเห็นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลล่าสุด เกี่ยวกับการเกิดของประชากรไทย ว่า ขณะนี้คนไทยเกิดต่ำกว่าปีละ 6 แสนคน เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี

ความจริงเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ในประเทศไทยก็มีการพูดถึงเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่ได้จริงจังอะไร กระทั่งเมื่อสองสามวันมานี้ ในแวดวงวิชาการเริ่มมีการสัมมนาและพูดคุยกันจริงจังมากขึ้น

ยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อ ข้อมูลปี 2563 พบว่ามีเด็กไทยเกิดใหม่แค่ 5.8 แสนคน ในปี 2564 ลดลงไปเหลือเพียง 544,570 คนเท่านั้น ถือว่าต่ำมากๆ ยิ่งน่าใจหายเมื่อพบว่าปี 2564 เป็นปีแรกที่มี “คนเกิดใหม่” น้อยกว่า “คนตาย” คาดว่าไม่เกิน 10 ปีจากนี้ไป อัตราการเกิดของคนไทยจะลดต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปี…แน่นอน

สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับอัตราการเกิดของคนไทยในช่วง 5 ปีหลังสุด (ปี 2560-2564) พบว่า จำนวนเด็กแรกเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ปี 2564 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 544,570 คน ลดลง 7.28% จากปีก่อนหน้าปี 2563 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 587,368 คน ลดลง 4.98% จากปีก่อนหน้า

ปี 2562 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 618,193 คน ลดลง 7.22% จากปีก่อนหน้า

ปี 2561 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 666,357 คน ลดลง 5.17% จากปีก่อนหน้า

ปี 2560 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 702,755 คน ลดลง 0.18% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ “ผู้สูงอายุ” มี 12 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรเป็นผู้สูงอายุ ส่วนเด็กไทยเกิดใหม่น้อยลงจากเดิมปีละราว 8 แสนคน ลดลงอยู่ระหว่าง 5.6-5.8 แสนคนต่อปี คาดการณ์ว่า อีก 10-20 ปี วัยทำงานจะน้อยลงมาก ประชากรของประเทศอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง

จะเห็นว่า โครงสร้างประชากรของไทยได้เปลี่ยนค่อนข้างมาก จาก “สังคมเยาว์วัย” เป็น “สังคมคนแก่” โดยในปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะมีประชากรเด็กเพียง 16-17% ของประชากรทั้งหมด ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก คนไทยในยุคนั้นจึงมีค่านิยมมีลูกมาก เด็กส่วนใหญ่จึงเติบโตมาแบบที่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าไหร่ เลี้ยงแบบ “ตามมีตามเกิด” เน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ กระทั่งราวๆ ปี 2514 ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง อัตราการเกิดสูงถึงร้อยละ 3.3

ในปี 2517 รัฐบาลจึงมี “โครงการชะลอการเกิด”  โดย “มีชัย วีระไวทยะ” ได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาประชากรและชุมชน รณรงค์คำขวัญ “ลูกมากจะยากจน” ผลักดันการใช้ “ยาคุมกำเนิด” และ “ถุงยางอนามัย” ในชนบท ซึ่งได้ผลดีเกินคาดอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจากร้อยละ 3.3เหลือแค่ ร้อยละ 2.5 เท่านั้น

ยิ่งในระยะหลังคนหนุ่มคนสาวมีค่านิยมเปลี่ยนไป คู่แต่งงานเริ่มมีการวางแผนครอบครัว ค่านิยมการมีลูกเมื่อพร้อมทั้งการเงินและความสามารถในการเลี้ยงดู เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับรักความเป็นอิสระเสรี ไม่อยากมีภาระ ไม่อยากมีบ่วงมาผูกมัด อยากทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงาน อยากใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ค่านิยมดังกล่าวทำให้ “คนรุ่นใหม่” ไม่อยากมีลูก เพราะคิดว่ามีลูกแล้วเลี้ยงดูไม่ดี ไม่มีเสียเลยดีกว่า

เมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลง ในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ส่งผลกระทบไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็สูญเสีย ความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา อย่างที่รู้ๆ กันว่า คนวัยทำงานมีอำนาจซื้อสูง ชอบจับจ่ายใช้สอย เมื่อขาดแคลนคนวัยทำงาน ย่อมทำให้จำนวนผู้บริโภคจะน้อยลง อำนาจซื้อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงตามด้วยเช่นกัน โอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตลาดภายในประเทศเป็นไปได้ยาก

อีกทั้ง ถ้ามีแรงงานน้อยลง ฐานภาษีที่จะเป็นรายได้รัฐที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ก็ลดน้อยลงเช่นกัน ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมวัยชราอย่างเต็มตัว คนในกลุ่มนี้ต้องการสวัสดิการต่างๆ จากรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่าเด็กเกิดใหม่น้อยคือ ปัญหาการเกิดที่ด้อยคุณภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “ท้องไม่พร้อม” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น จากสถิติในพ.ศ.2562 พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน ในขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน

ส่วนจำนวนคุณแม่วัยใสพบว่าในปีเดียวกัน มีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 63,831 ราย โดยแยกเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 ราย และยังมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีการคลอดซ้ำอีกถึง 5,222 ราย สภาพสังคมไทยตอนนี้ กลายเป็นว่า “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ”

อย่าลืมว่า การที่ประเทศจะพัฒนาได้อย่างมีคุณภาพ ประชากรของประเทศนั้นๆ ต้องมีคุณภาพ ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง การศึกษาดี แม้ว่าเราต้องการให้เด็กเกิดมามากๆ แต่ไม่ใช่ปริมาณมากๆเท่านั้น แต่ต้องเป็นเด็กที่มีคุณภาพด้วย

………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img