วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSKrung Thep Maha Nakhon.... กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Krung Thep Maha Nakhon…. กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”

หากจะบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการถกเถียง ก็คงไม่เกินเลยไปนัก เพราะเถียงกันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ “สากกะเบือยันเรือรบ” แต่เถียงแล้ว ก็หาข้อสรุปไม่ได้ สังคมไทยจึงย่ำอยู่กับที่

ล่าสุด กรณีครม.มีมติประกาศชื่อภาษาอังกฤษ “กรุงเทพมหานคร” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)” ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ ในโลกโซเชียลมีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรง

ในที่สุดราชบัณฑิตฯต้องออกมาชี้แจงว่า ยังสามารถใช้ได้ทั้งสองชื่อ แต่เป็นที่น่าสังเกต ชื่อเดิม “Bangkok” ต่อท้ายอยู่ในวงเล็บ หลายคนบอกกลายเป็นแค่ชื่อเล่น อันที่จริงกว่าจะมาเป็นชื่อ “กรุงเทพฯ” ที่เรียกขานกันในปัจจุบันนั้น โลกได้รู้จักคำว่า “Bangkok” มาตั้งแต่สมัยอยุธยา กล่าวคือ “บางกอก” เป็นชื่อท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียกขานกันมานานหลายร้อยปีแล้ว แม้เดี๋ยวนี้จะไม่ได้เรียกแล้วก็ตาม

ฝ่ายที่สนับสนุนการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Krung Thep Maha Nakhon เห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย อีกอย่างคำว่า “Bangkok” เสียงมันไปคล้องจองกับทั้งกิริยาและส่วนนั้นของผู้ชายในภาษาอังกฤษ คนกลุ่มนี้เห็นว่าคำว่า “Bangkok” เป็นคำไม่สุภาพ มักจะถูกฝรั่งเอามาล้อเลียน

แต่เท่าที่สดับตรับฟัง ฝ่ายที่คัดค้านจะมีมากกว่า ฝ่ายนี้เห็นว่าการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง จะสร้างผลกระทบมหาศาล เนื่องจาก…คำว่า “Bangkok” เป็น “ต้นทุน” ประเทศ หากเปลี่ยนก็จะสร้างความยุ่งยากในการติดต่ออย่างเป็นทางการกับต่างประเทศ ในการติดต่อทางธุรกิจ รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทยในตำราวิชาการในระดับสากลอีกด้วย ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย”

ดังนั้นกลุ่มนี้เห็นควรให้ใช้คำว่า “Bangkok” ต่อไปตามเดิม อีกทั้งชื่อนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นชื่อแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะมีรากศัพท์มาจาก “บางกอก” ซึ่งเป็นภาษาไทยเช่นกัน นอกจากนี้ในทางการตลาด คำว่า “Bangkok” เป็น “แบรนด์” ที่ทรงคุณค่า หากเทียบในระดับภูมิภาคนี้ “Bangkok” ถือเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งที่สุด

อย่างที่ทราบ การตลาดสมัยใหม่ “แบรนด์” มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องของการสร้างการจดจำ การรับรู้ เรื่องของภาพลักษณ์ การสร้างบุคลิกให้กับสินค้านั้นๆ สินค้าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวทางการตลาด ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้มากน้อยแค่ไหน แบรนด์จึงมีมูลค่า ถึงขั้นมีการซื้อขายกันด้วยมูลค่ามหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ

แบรนด์จึงไม่ใช่แค่ชื่อ แต่เป็นเรื่องของฐานลูกค้าการยอมรับต่อสินค้านั้นๆ หากลูกค้ารักและศรัทธา เรียกว่า “แบรนด์ รอยัลตี้” ก็จะมีมูลค่าสูง กว่าจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ ต้องทุ่มเททั้งทุนและเวลามหาศาล ตราบใดที่ประเทศไทยต้องหารายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ ตราบนั้น “Bangkok” คือ “แบรนด์สินค้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลพยายามใช้ซอฟท์เพาเวอร์ นำไทยไปแข่งในเวทีโลก

อย่าลืมว่า เมื่อปี 2560 “ซีเอ็นเอ็น” ยกให้ “Bangkok” เป็นเมืองที่มีสตรีทฟู้ดดีที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน กลายเป็นจุดขายในเรื่องท่องเที่ยวและปีที่ที่แล้ว Holidu.co.uk เว็บไซต์สำหรับการค้นหาสถานที่พักผ่อนของประเทศอังกฤษ จัดอันดับ 150 เมืองสำหรับการทำงานและพักผ่อน ยกให้ “Bangkok” เป็นเมืองที่เหมาะกับการทำงานและพักผ่อนมากที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียง และค่าครองชีพถูก

ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่า “แบรนด์ Bangkok” ในสายตาชาวต่างชาติ ถูกจดจำมากแค่ไหน นอกจากนี้คนทั่วโลกยังรู้จัก “Bangkok” ในฐานะเป็นศูนย์รวมธุรกิจ เป็นศูนย์กลางการเงิน ที่ตั้งสำนักงานและเป็นศูนย์ราชการ ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อจาก “Bangkok” มาเป็น “Krung Thep Maha Nakhon” ซึ่งยาวเฟื้อย ยากต่อการจดจำของชาวต่างชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ตัวอย่างง่ายๆ ขนาด “เมียนมาร์” ย้ายเมืองหลวงจาก “ย่างกุ้ง” มาอยู่ที่เมือง “เนปิดอว์” มาหลายสิบปี จนป่านนี้ คนยังรู้จัก “ย่างกุ้ง” มากว่า

การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาจได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะทั่วโลกติดแบรนด์คำว่า “Bangkok” ไปแล้ว หากมีการเปลี่ยน ย่อมส่งผลให้โรงแรมต่างๆ อาจจะต้องมานั่งหาวิธีสื่อสารการตลาดใหม่ แล้วจะวุ่นวายกว่าเดิม เพราะต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจว่า “Krung Thep Maha Nakhon” อยู่ส่วนไหนของโลกใบนี้

อย่าลืมว่า ชาวต่างชาติคุ้นเคยกับคำว่า “Bangkok” มานาน การทำความเข้าใจใหม่คงจะยุ่งยากไม่น้อย อีกทั้งคำว่า “Bangkok” มีความกระชับ เรียกชื่อและจดจำง่ายเรื่องนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนเกือบ 20% ของจีดีพี. แต่ยังรวมไปถึงการติดต่อธุรกรรมต่างประเทศ การค้าการส่งออก การเดินทาง การศึกษา ต่างก็ได้รับผลกระทบ ต้องเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่

ยิ่งตอนนี้หลายประเทศ เริ่มเปิดประเทศรับนักธุรกิจ นักลงทุนและรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ตลาดท่องเที่ยวย่อมมีการแข่งขันสูง แทนที่จะคิดแค่เรื่อง “เปลี่ยนชื่อเมืองหลวง” รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้สร้าง “แบรนด์ Bangkok” ที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่ดีกว่าหรือ???

………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img