วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจุดจบ“สร้างชาติ”ด้วยหนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จุดจบ“สร้างชาติ”ด้วยหนี้

แม้ไม่ใช่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ความผูกพันระหว่างไทยกับศรีลังกา ไม่เฉพาะในเรื่องศาสนาพุทธที่มีสัมพันธไมตรีอันดีมาช้านาน ระบบราชการกลับผูกพันกันไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่ไทยถือเป็นต้นแบบของศรีลังกาเลยทีเดียว

แต่วันนี้ สถานการณ์ของศรีลังกา กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและหลายกรณีก็คล้ายกับไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ศรีลังกา ประเทศที่มีประชากรเพียง 22 ล้านคน ปกครองประเทศโดยตระกูล “ราชปักษา” ที่มีญาติพี่น้องบริหารประเทศ ตั้งแต่ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกหลายคน แต่วันนี้กำลังเกิดความวุ่นวาย จนอาจจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวในที่สุด

อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกา กิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงัก รัฐบาลขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้มขาดแคลนหนัก ร้านอาหารปิดกิจการ รวมทั้งขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค โรงไฟฟ้าลดการผลิต ต้องตัดการใช้ไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมงส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 17.5% ขณะที่กระทรวงการคลังต้องหันไปขอให้ประเทศเพื่อนบ้าน เปิดวงเงินสินเชื่อ โดยอินเดียจะให้สินเชื่อ 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำเข้าพลังงานและสินค้าจำเป็น ศรีลังกาประสบปัญหาภาระหนี้สินสูงมาก หนี้สินของรัฐมีสัดส่วนถึง 79% ต่อจีดีพี.

มิหนำซ้ำการระบาดของโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 10% ของจีดีพี.สูญหายไป แรงงานศรีลังกาที่ทำงานในต่างประเทศ ก็เริ่มส่งเงินกลับประเทศลดลง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดไป 70% ในปีนี้เงินทุนสำรองมีเหลือแค่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่จะต้องจ่ายคืนเงินกู้ 6.9 พันล้านดอลลาร์ จากหนี้สินทั้งหมด 51 พันล้านดอลลาร์

สินค้าส่งออกที่เลื่องชื่อชองศรีลังกาอย่าง “ชา” ในปี 2021 การส่งออกมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่สงครามในยูเครนทำให้รัสเซียลดการนำเข้าชาจากศรีลังกา ส่งผลให้รายได้เข้าประเทศลดลงอุตสาหกรรมชาวิกฤติอย่างหนักเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 10 เท่า แต่ผลผลิตลดลง 50%

วิกฤติทั้งหลายทั้งปวง เป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลศรีลังกาทุ่มเทการลงทุนระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ โดยไปกู้เงินจากรัฐบาลจีน 4.8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างท่าเรือ Hambantora รวมถึงสนามบินใหม่ โรงงานไฟฟ้า ในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถชำระเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จึงต้องปล่อยให้จีนเช่าท่าเรือ มาดำเนินการนาน 99 ปี

ข้อมูลจากนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา ศรีลังกามีหนี้สินรวมทั้งหมดมากถึง 81,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ถึง 104 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าในปี 2019 ซึ่งสัดส่วนนี้อยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุด สื่ออินเดีย India Today รายงานว่า วิกฤตของศรีลังกาเกิดจาก “หนี้ต่างประเทศและเงินกู้จากจีน” รายงานอ้างคำพูดของผู้นำฝ่ายค้านอินเดีย คือ “สาชิต เปรมทาส” กล่าวว่าศรีลังกามองหาความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนหลัง “การทำสงครามกับกลุ่มกบฏในปี 2552 หนี้ต่างประเทศทั้งหมดของศรีลังกาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์มาจากประเทศจีน”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่างเป็นทางการสถาบัน Lowy Institute ในออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่า เงินกู้จากจีนมีสัดส่วนเพียง 10% ของพอร์ตสินเชื่อของศรีลังกา ในขณะที่การกู้ยืมจากตลาดต่างประเทศและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นแหล่งที่มาของหนี้ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของศรีลังกา และเงินกู้จากญี่ปุ่นยังคิดเป็น 10% ของหนี้ต่างประเทศ โดยอยู่ในระดับเดียวกับของจีน

ขณะที่ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ในช่วงเดือนกรกฎาคมของปี 2021 ที่ผ่านมา ศรีลังกาเป็นประเทศในเอเชียที่มีโอกาสล้มละลายสูงสุดสูงถึง 27.9 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางศรีลังกาในปี 2022 เหลือคงคลังเพียงแค่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดการชำระของศรีลังกาอยู่ที่ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่า เศรษฐกิจของศรีลังกาอยู่ในสถานะง่อนแง่นเต็มที

อีกปัจจัยที่กัดกร่อนเศรษฐกิจศรีลังกาคือ “การทุจริตคอรัปชั่น” คนสำคัญในรัฐบาลได้รับฉายาว่าเป็น “มิสเตอร์ 10 เปอร์เซ็นต์” เพราะนิยมการชักหัวคิวในทุกโครงการที่สร้างโดยรัฐ ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเรื้อรัง มีการเล่นพรรคเล่นพวก รวมถึงการบริหารที่ผิดพลาด

ศรีลังกาจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้หรือไม่ วิกฤติหนี้ของศรีลังกาถือเป็นวิกฤติที่ควรเรียนรู้อย่างยิ่ง เนื่องจากนโยบายในการดำเนินเศรษฐกิจของรัฐบาลถ้าหากมองไม่รอบด้านแล้วก็อาจเกิดผลเสียใหญ่หลวงได้ และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกหลายปีจากวิกฤติครั้งนี้ กลายเป็นว่า ประเทศต้องเสียโอกาสอย่างมาก

วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกา น่าจะเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาล หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะ “รัฐบาลไทย” ที่ทุ่มเทการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่น้อย ทั้งรถไฟความเร็วสูง ถนนสายหลัก สายรอง ทั่วประเทศ โครงการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก “อีอีซี.” ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล ได้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการกู้เงินลงทุน จากการสร้างหนี้ ให้ผลบวกในระยะสั้นๆเท่านั้น 

แต่ถึงจุดหนึ่งก็ไปไม่รอดและอาจจะต้องถึงจุดจบเช่นเดียวกับกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับศรีลังกาก็เป็นได้

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img