วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ค่าครองชีพแพง-ค่าแรงงานถูก” .... ระเบิดเวลาลูกใหญ่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ค่าครองชีพแพง-ค่าแรงงานถูก” …. ระเบิดเวลาลูกใหญ่

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ 2 เรื่องในวันเดียวกัน ทั้งเรื่องดีและข่าวร้าย เรื่องดีนั่นคือ เป็น “วันแรงงานสากล” ที่ทั่วโลกจัดงานให้เกียรติผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนสร้างชาติอย่างยิ่งใหญ่ แต่ข่าวร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านกันถ้วนหน้า เพราะเป็นวันที่ “รัฐบาลลุงตู่” ตัดสินใจปลดล็อคราคาน้ำมันดีเซลที่ตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตร ให้ลอยตัวอย่างเสรี

ดังนั้นแทนที่จะเป็นวันที่แรงงานมีความสุข กลับต้องมาทุกข์หนัก เพราะค่าแรงที่มีอยู่ “ไม่พอยาไส้” อยู่แล้ว ตอนนี้เท่ากับ “ค่าแรงติดลบ” จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ในปีนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ขอปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 492 บาท/วัน ตามค่าครองชีพและราคาสินค้า-บริการต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งสัญญาณแล้วว่า คงไม่สามารถให้ได้ตามที่ขอมา คงต้องลุ้นกันว่าจะได้เท่าไหร่

ต้องยอมรับว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยไม่เคยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเลย ครั้งล่าสุดที่ปรับขึ้นเมื่อต้นปี 2563 เฉลี่ยปรับขึ้น จิ๊บจ๊อยจังหวัดละ 5-6 บาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยปรับขึ้นแบบเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน ในปี 2554 ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำแบ่งเป็น 10 พื้นที่ อยู่ระหว่าง 313-336 บาท/วัน นั่นหมายความว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานไทยมีรายได้เพิ่ม 13-36 บาท/วันเท่านั้น

ขณะที่ “รัฐบาลลุงตู่” ก็มอบของขวัญในวันแรงงาน ที่ผู้ใช้แรงงานและคนไทยทั้งประเทศไม่มีวันลืม นั่นคือ รัฐบาลเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท และทยอยปรับราคาขึ้น โดยเริ่มจาก 32บาทต่อลิตร และจะทยอยขึ้นตามราคาตลาดโลก เช่นเดียวกับต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดใหม่ที่จะใช้ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 จะปรับขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วยอีกด้วย

รวมถึงต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มที่ทยอยลอยตัวเดือนละ 1 บาท/กก. ที่เริ่มจาก 1 เม.ย. 65 โดยถังขนาด 15 กก. ปรับเพิ่มจาก 318 เป็น 333 บาท และ 1 พ.ค. 65 จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท/ถัง และมิ.ย. 65 เป็น 363 บาทต่อถัง

ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าล้วนมีผลทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นทั้งสิ้น

อย่าลืมว่า “น้ำมันดีเซล” เป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งและการผลิตสินค้า บริษัทขนส่งก่อนหน้านี้ ก็โดนโขกจากค่าทางด่วน ยังต้องมาโดนราคาน้ำมันดีเซลซ้ำเติมอีกระลอก หากทนไม่ไหว…ไม่เลิกไปเลย ก็ต้องโยนภาระไปให้ผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค ทำให้ราคาสิินค้าทั้งอุปโภคและบริโภครวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรม-เกษตรและปศุสัตว์ มีการทยอยปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 7-10% ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตาม

อันที่จริง ไม่เฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้นที่เดือดร้อน ชาวบ้านทั่วไปก็เดือดร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เกษตรกร” ยิ่งเดือดร้อนหนัก จากราคาดีเซลปรับราคาขึ้นอีกลิตรละ 2 บาทเท่ากับต้นทุนเพิ่มมหาศาล แถมยังได้รับผลกระทบจาก ราคาปุ๋ยและราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซียกับยูเครน  

ความเดือดร้อนของชาวบ้านสะท้อนจาก “กรุงเทพโพลล์” ล่าสุด ชี้ว่า ประชาชนต่างกังวลหลังรัฐบาลเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย แต่ต้องปรับตัวด้วยการประหยัด ใช้จ่ายแต่สิ่งจำเป็น และสิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำคือควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น แต่กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างอยากให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันต่อไป

อันที่จริงราคาน้ำมันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่จริงๆที่ไม่ค่อยพูดถึงกัน นั่นคือ “ระบบผูกขาด” ของธุรกิจบ้านเรา ตกอยู่ในกำมือกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มไม่กี่ตระกูล จึงไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ทำให้กลุ่มทุนกลุ่มนี้มีอำนาจเหนือตลาด แม้แต่ “ธุรกิจน้ำมัน” ที่ดูเหมือนมีหลายรายมีการแข่งขัน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภคแล้ว ถือว่ายังน้อยมาก อีกทั้งส่วนแบ่งตลาดอยู่ในมือรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้น

“พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์” อดีตเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้ยกตัวอย่างการผูกขาดโดยเขียนในเฟสบุ๊ก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ น้ำดื่มมีผู้ผลิตมากมายแต่มีแค่ 5 ยี่ห้อ ที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 80% บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย มีส่วนแบ่งราว 80% ชาเขียว 2 ราย มีส่วนแบ่ง 80% แชมพู และ ของใช้ มีผู้ผลิตฝรั่ง 2 ราย และคนไทย 1 ราย แม้จะทำออกมาหลายยี่ห้อ แต่มีส่วนแบ่งตลาด 70-80% มันฝรั่งทอด 2-3 ราย ส่วนแบ่งตลาด 80-90% ถ่านไฟฉาย 2-3 ราย ส่วนแบ่งตลาด 80% ไข่ไก่ หมู เนื้อไก่ แม้ ผู้ผลิตมาก แต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ 2-3 ราย ส่วนแบ่งตลาด 70-80%

สินค้าหลายตัวมีผู้ผลิตมาก แต่ช่องทางจัดจำหน่าย ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มีกติกามาก ทำให้ของวางขายเข้าไปยาก ก็มีแค่ไม่กี่ราย เช่นไอศกรีม หลอดไฟไส้กรอก ขนมปัง

“เวลาผมดูการแข่งขัน ผมจะดูว่าสินค้าตัวนี้ผลิตกี่ราย มีส่วนแบ่งตลาดเท่าไหร่ และผู้ขายมีกำไรแค่ไหน ถ้ากำไรมาก ผู้บริโภคเดือดร้อน ปุ๋ย มีผู้ผลิต 1,000 ราย แต่มี 10 รายมีส่วนแบ่งตลาด 80% และกำไรเยอะมากทุกราย โทรศัพท์มือถือ กำลังเหลือผู้ให้บริการแค่ 2 ราย จะลดค่าครองชีพ ไม่ยากครับ เพิ่มการแข่งขัน”

ปัญหาน้ำมันแพง ค่าแรงถูก ค่าครองชีพสูง ชาวบ้านเดือดร้อน กำลังจะกลายเป็น “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” พร้อมจะระเบิดใส่มือรัฐบาลได้ทุกเวลา หากยังนิ่งเฉย ไม่รีบถอดสลักโดยเร็ว

………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img