วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“สงคราม-โควิด”ระบาด.... ต้นตอ“วิกฤติอาหาร”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สงคราม-โควิด”ระบาด…. ต้นตอ“วิกฤติอาหาร”

“วิกฤติอาหาร” กำลังกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกพูดถึงกันมากเวลานี้ แม้ว่า “วิกฤติอาหาร” เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ โลกใบนี้ต้องเผชิญปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะ “โลกร้อน” ที่ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในสภาพเลวร้ายลงเรื่อยๆ ราคาข้าวปลาอาหารก็แพงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเกือบๆ 3 ปีที่เกิด “วิกฤติโควิด-19” ระบาด ก็ได้สร้างความเสียหายให้กับมนุษยชาติมหาศาล โดยเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มิอาจประเมินค่าได้ วิกฤติโควิดทำให้อาหารขาดแคลน เพราะดิสรัปชั่นในการขนส่ง ทำให้อาหารที่ผลิตได้ ขนส่งไม่ได้ ที่สำคัญรายได้ของประชาชนที่ลดลงจากผลของวิกฤติโควิด ทำให้การเข้าถึงอาหารได้ยาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

วิกฤติดังกล่าวถูกซ้ำเติมทันทีที่เกิด “สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน” สิ่งที่หลายๆ คนเริ่มวิตกกังวล เมื่อเริ่มมีสัญญาณการเกิด “วิกฤติอาหาร” ที่มีแนวโน้มจะเลวร้ายมากขึ้น เพราะกระทบอุปทานอาหารในเศรษฐกิจโลก การผลิตสินค้าเกษตรในเศรษฐกิจโลกชะงักงัน เพราะทั้งรัสเซียและยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก

จากข้อมูลระบุว่า สองประเทศนี้ “ส่งออกข้าวสาลี” รวมกันประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดในโลกและประมาณร้อยละ 20 ของการ “ส่งออกข้าวโพด” และร้อยละ 60 ของ “น้ำมันดอกทานตะวัน”

นั่นหมายความว่า เมื่อสงครามทำให้การผลิตสินค้าเกษตรลดลง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกย่อมปรับสูงขึ้นตาม

ขณะเดียวกัน ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สงครามจะทำให้พื้นที่การเกษตรของยูเครน 20-30% ไม่ได้รับการเพาะปลูก หรือไม่ได้รับการเก็บเกี่ยวในฤดูกาล 2022 ธัญพืชที่เก็บเกี่ยวแล้วติดปัญหาการขนส่ง เนื่องจากท่าเรือของยูเครนถูกรัสเซียขัดขวาง

มีรายงานระบุว่า การที่รัสเซียบุกรุกยูเครน ทำให้ เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหาร เพราะทั้งสองประเทศ มีสัดส่วนมากกว่า 10% ของอาหารที่ซื้อขายทั่วโลก น่าสนใจตรงที่มีอย่างน้อย 26 ประเทศพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียและยูเครน สัดส่วนรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่ง

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังของสหรัฐ “Paterson Institute For International Economics” ระบุว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลให้โลกต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะธัญพืชและน้ำมันสกัดที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากหลายประเทศได้จำกัดการส่งออก ด้วยเหตุผลความมั่นคงทางอาหารของตัวเอง

สะท้อนจาก “ราคาข้าวสาลี” ได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งอินเดียเป็นประเทศล่าสุด ที่ประกาศงดส่งออกข้าวสาลีต่อจากรัสเซีย ยูเครน อียิปต์ คาซัคสถาน เซอร์เบีย และโคโซโว การที่อินเดียแบนการส่งออกทำให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับราคาขึ้นทันที 6%

ขณะที่ บราซิล ซึ่งผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกและผลิตเอทานอลอันดับ 2 ของโลก บรรดาโรงงานน้ำตาลในบราซิล ได้ฉีกสัญญาส่งออกจำนวนราว 4 แสนตัน โดยยอมจ่ายค่าปรับฐานผิดสัญญา เพราะเอาวัตถุดิบอ้อย ที่ใช้สำหรับผลิตน้ำตาลไปผลิตเอทานอล เพื่อไปผสมน้ำมันแทน ซึ่งได้กำไรดีกว่า คาดว่าอีกไม่นาน “น้ำตาลในตลาดโลก” จะขาดแคลนและราคาปรับสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซีย เป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม 50% ของโลกก็ระงับการส่งออก ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้นทันที ล่าสุดมีถึง 14 ประเทศซึ่งล้วนเป็นผู้ผลิตส่งออกอาหารรายใหญ่ ที่ประกาศงดส่งออกสินค้าเกษตร

ยิ่งกว่านั้น รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ประกาศห้ามส่งออกในช่วงต้นเดือนมีนาคม การส่งออกจากเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียถูกคว่ำบาตร จีน สั่งห้ามส่งออกปุ๋ยเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ขณะนี้จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยทั่วโลก ราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยแพงขึ้นเท่าตัว

ที่สำคัญการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่พุ่งกระฉูด ทำให้การใช้ปุ๋ยลดลงกระทบผลผลิตต่อไร่ ผลคือปริมาณสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น จะไปกระทบต้นทุนการผลิตอาหาร ปริมาณการผลิตอาหาร และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น

เกษตรกรไทยเองก็เดือดร้อนอย่างหนักจากต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น อันเนื่องมาจากราคาปุ๋ยแพงขึ้น สุดท้ายแบกรับภาระไม่ไหว ก็อาจจะปลูกแค่พอกิน เพราะปลูกแล้วไม่คุ้ม อาจจะกลายเป็นปัญหาทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศในอนาคตอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าว ตอนนี้ดัชนีราคาอาหารของ FAO ระบุว่า ราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน ส่งผลต่อประเทศรายได้น้อย เพราะการซื้ออาหาร คิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลก ผู้คน 10 ล้านคน ถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลก สำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เปอร์เซ็นต์

“วิกฤตอาหาร” นั้น ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ ทั่วโลกต่างพากันวิตกกังวล ส่งผลกระทบไม่ไม่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องปาก-เรื่องท้องเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อ การเมือง อย่างชนิดมิอาจปฏิเสธได้

แม้ว่าประเทศไทยถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อาจจะไม่ถึงกับขาดแคลนเหมือนๆ หลายๆประเทศ แต่หากวิกฤตินี้ยังยืดเยื้ออย่างน้อยๆ ราคาข้าวปลาอาหารจะต้องสูงขึ้น ประชาชนต้องเดือดร้อนแน่ๆ

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img