วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแฟชั่น“สวนเกษตร”กลางกรุง... หรือแค่วิธี“เลี่ยงภาษี”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แฟชั่น“สวนเกษตร”กลางกรุง… หรือแค่วิธี“เลี่ยงภาษี”

ปรากฏการณ์ แฟชั่นสวนเกษตรกลางกรุง กลายมาเป็นกระแสสร้างความฮือฮากันอีกครั้ง เนื่องจากในปีนี้ เป็นปีแรกที่จะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบเต็มอัตรา หลังจากที่ได้รับการยกเว้นงดเก็บมา 2 ปี อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้เกิดสวนเกษตรขนาดใหญ่หลายแห่ง ผุดขึ้นราวดอกเห็ดบนที่ดินทำเลทอง กลางกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากสวนกล้วยริมทะเลสาบขนาดใหญ่บนพื้นที่ 50 ไร่ ในพื้นที่ย่านธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีแล้ว ยังปรากฏว่ามีสวนเกษตรขนาดใหญ่บนพื้นที่ย่านธุรกิจสำคัญ อีกหลายแปลง

เริ่มตั้งแต่ทำเลทองย่าน…รัชดาภิเษก สาทร เอกมัย ตลอดจน พระราม 9 มีทั้ง สวนกล้วย, สวนมะพร้าวอ่อน, สวนมะนาว ทั้งที่ย่านดังกล่าว ล้วนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของคอนโดฯราคาแพง ออฟฟิศบิวดิ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่

เป็นที่น่าสังเกตว่า สวนเกษตรเหล่านี้เมื่อปลูกพืชแล้ว กลับถูกปล่อยให้ทิ้ง ไร้คนดูแล อย่างกรณีที่ดินย่านพระราม 9 พบว่ามีพื้นที่หลายไร่ มีการขุดบ่อน้ำ ปลูกกล้วย ปลูกยูคาลิปตัส บางพื้นที่นำวัวมาเลี้ยงเป็นสิบๆ ตัว ล้วนแต่ไร้คนดูแลทั้งสิ้น

ความจริงกรณีสวนเกษตรกลางกรุง ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้เคยเป็นกระแสฮิตโด่งดังมาแล้ว เมื่อครั้งก่อนที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะบังคับใช้ในปี 2563 เหล่าบรรดาเศรษฐีตระกูลดังเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ เจ้าที่ดินรายใหญ่ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ พากันแห่จดทะเบียนตั้งบริษัททำนา บริษัททำสวน กันครึกโครม

ตอนนั้น กรณีที่ฮือฮาที่สุดคงจะเป็น ไร่มะนาวบนที่ดินย่านรัชดาภิเษกหลายสิบไร่ ราคาซื้อขายที่ดินคาดว่าประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเสียภาษีที่ต้องเสียในกรณีที่ดินว่างเปล่าเกือบ 40 ล้านบาทต่อปี

หากทำเป็นสวนเกษตร ด้วยการปลูกพืชล้มลุก ที่ปลูกง่ายไม่ต้องดูแล เช่น กล้วย มะนาว อัตราการเสียภาษีจะเหลือเพียง 6 ล้านกว่าบาทต่อปี หรือลดไปประมาณ 7 เท่าเลยทีเดียว ความแตกต่างที่ห่างกันมากขนาดนี้ จึงทำให้บรรดานักธุรกิจ เหล่าเศรษฐี เจ้าที่ดินทั้งหลาย ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รู้สึกคุ้มที่จะเสี่ยงในการหลบเลี่ยงภาษี

น่าสนใจตรงที่ มีการจัดตั้งในรูปบริษัททำนา-บริษัททำสวน ของ “บรรดาเศรษฐี-เจ้าที่ดิน” วิธีการนี้ทำให้ได้ 2 เด้งทันที เด้งแรก…หากพื้นที่ดังกล่าวถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่า จะเสียภาษีเริ่มต้น 0.3% และปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี เพดานสูงสุด 3% แต่ในกรณีที่ดินเพื่อการเกษตร หากมูลค่า 0-75 ล้านบาท เสียภาษีเพียง 0.01%, มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสีย 0.03% และมูลค่า 100-500 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% เท่านั้น

สมมติว่าที่ดินมูลค่า 75 ล้านบาท หากทำการเกษตรจะเสียภาษี 7,500 บาท แต่หากเป็นที่ดินรกร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์ จะเสียภาษี 225,000 บาท แตกต่างกันถึง 30 เท่า และถ้าที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท ทำการเกษตรเสียภาษี 30,000 บาท ถ้าเป็นที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์จะเสียภาษี 300,000 บาท หรือต่างกัน 10 เท่า เจ้าของที่ดินจึงต้องหาวิธีทำอย่างไรจะเสียภาษีน้อยที่สุด

เด้งที่ 2 หากตั้งเป็นบริษัทฯ จะเสียภาษีรูปแบบนิติบุคคลจะเสียแค่ 20% แต่ถ้าทำสวนในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีสูงถึง 35% นอกจากนี้ การทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะปลอดภัยกว่า เพราะเวลาเจ๊ง ก็รับผิดไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ลงไป

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า บนที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่ใครจะปลูกอะไร และปลูกกี่ต้นก็ได้ หากดูข้อบังคับจะพบว่า มีการกำหนดสัดส่วนและประเภทของพืชที่ต้องปลุกอย่างชัดเจน ว่ามีทั้งหมด 51 ชนิด และต้องเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนเท่าไหร่ต่อไร่ ตัวอย่างเช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า 200 ต้นต่อไร่

ภาษี / cr : www.ncb.co.th

หากปลูกมะม่วง ต้องปลูก 20 ต้นต่อไร่, มะพร้าวแก่ 20 ต้นต่อไร่, มะพร้าวอ่อน 20 ต้นต่อไร่, มะนาว 50 ต้นต่อไร่, มะปราง 25 ต้นต่อไร่, มะขามเปรี้ยว 25 ต้นต่อไร่ และมะขามหวาน 25 ต้นต่อไร่ เป็นต้น ทั้งเจ้าของที่ดินที่ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งจากพืช 51 ชนิดดังกล่าว จะเสียภาษีในอัตราของประเภทที่ดินเกษตรกรรม

แต่ก็มีเหมือนกัน ในกรณีต่างจังหวัด มีเจ้าของที่ดินหลายรายรู้ไม่จริง กลัวว่าจะเสียภาษีแพง จึงหลบเลี่ยงด้วยการลงทุนทำสวนเกษตร หมดเงินไปหลายล้านบาท ปรากฏว่า เสียเงินลงทุนมากกว่าอัตราภาษีที่ต้องเสียสำหรับที่ดินเปล่าเสียอีก เรียกว่า “เสียค่าโง่ไป”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเจตนาอย่างไร แต่สังคมต่างพากันตั้งถามว่า การทำสวนเกษตร ด้วยปลูกกล้วย ปลูกมะนาว บนพื้นที่ว่างเปล่า เป็นแค่กลยุทธ์ในการเลี่ยงภาษีของบรรดาเจ้าที่ดินใช่หรือไม่ เพราะที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะถูกเก็บภาษีสูงกว่าพื้นที่เกษตรหลายเท่านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้นเหตุของปัญหา ย่อมมาจากความไม่รอบคอบ หรือจะด้วยการเร่งรัดให้ออกกฎหมาย วิธีการนี้จึงทำให้เกิดช่องว่างของความเข้าใจในตัวกฎหมาย รวมทั้งการเลี่ยงภาษีของเหล่าบรรดาเศรษฐีอย่างที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้

…………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img