วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSบีบโรงกลั่น“คายกำไร”...แค่ซื้อเวลา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บีบโรงกลั่น“คายกำไร”…แค่ซื้อเวลา

หลังจากที่มีข่าวรัฐบาลจะขอคืน “เงินกำไรส่วนเกิน” ที่เกิดจาก “ค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ทั้ง 6 โรง สร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนอย่างมาก ยิ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลได้เจรจาให้ทุกบริษัท จ่ายเงินจำนวนมหาศาล คิดเป็นเงินประมาณราว 2.4 หมื่นล้านบาท หรือตกราวๆ เดือนละ 8,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทโรงกลั่นน้ำมันในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตกลงมาอย่างหนักยิ่งในช่วง 6 วันที่ผ่านมา มูลค่าตลาดของหุ้นที่หายไป รวมกันของหุ้นโรงกลั่นทั้งหมด ลดลงไม่น้อย กว่า 66,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

แต่อีกด้าน หากรัฐบาลไม่ทำอะไรยิ่งจะเกิด “วิกฤติศรัทธา” ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ต่อเนื่องกันมาหลายเดือน ส่งผลกระทบวงกว้าง ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง ธุรกิจได้รับผลกระทบ ล่าสุดชาวประมงต้องประกาศหยุดไม่ออกจับปลา เพราะเจอปัญหาน้ำมันแพง ผลกกระทบตามมาเป็นลูกโซ่

ยิ่งราคาน้ำมันสูงขึ้น คะแนนนิยมรัฐบาลก็ยิ่งตกต่ำ เพราะจนแต้มหาทางออกไม่เจอ ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องมาตลอดก่อนหน้านี้ ให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” ด้วยการเข้าไปแทรกแซงให้ “เลิกอิงราคาหน้าโรงกลั่น” บ้าง หรือ “การลดค่าการกลั่น” บ้าง

กระทั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ก็มีการออกมาแถลงข่าวว่า รัฐบาลได้เปิดการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซภายในประเทศซึ่ง “ยินดี” ที่จะให้ความร่วมมือในการนำส่ง “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้น” มาช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับประชาชน

รายละเอียดการนำส่งดังนี้ นำส่งเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เป็นเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2565) โดย จะเก็บเงิน 3 ประเภท ได้แก่ 1) กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2) กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินเดือนละ 1,000 ล้านบาท จะนำไปลดราคาน้ำมันเบนซินทันที 1 บาท/ลิตร และ 3) กำไรจากโรงแยกก๊าซเดือนละ 1,500 ล้านบาท นำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน

มาตรการที่ออกมาก็เป็นแค่การขอความร่วมมือหรือแค่ “ซื้อเวลา” เท่านั้น นั่นแปลว่า หากครบ 3 เดือนทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” จริงๆ อย่างที่หลายคนอยากให้เป็น นั่นคือ “การยกเลิกราคาอ้างอิงโรงกลั่นสิงคโปร์” และ “ลดค่าการกลั่น” ให้สมเหตุสมผลแต่มาตรการที่ออกมาเป็นแค่ “การตัดกำไร” จากค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเท่านั้น

อันที่จริงรัฐบาลปล่อยให้ “บิดเบือนราคา” จากโครงสร้างราคาที่เรียกว่า “โครงสร้างทิพย์” ไม่ใช่โครงสร้างราคาที่แท้จริง แต่เป็นการคิดต้นทุน โดยสมมติว่าโรงกลั่นอยู่ที่สิงคโปร์ ทำให้มี “ต้นทุนปลอม” คือ ค่าระวางเรือจากสิงคโปร์มาไทย บวกค่าประกันภัย ค่าความเสี่ยง ทั้งที่โรงกลั่นตั้งอยู่ที่ระยอง ศรีราชา และกรุงเทพฯ ทำให้มีการบวกราคาขึ้นจากการสมมติ ไม่ใช่ราคาที่แท้จริง

ตรงนี้ผู้บริโภคเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้ “ยกเลิกการคิดราคาน้ำมัน” โดยการอิงราคาน่าโรงกลั่นสิงคโปร์เสีย แต่ให้คิดราคาที่หน้าโรงกลั่นที่ตั้งอยู่จริงแทน

อีกประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการคือขอให้ “ลดค่าการกลั่น” ลง โดยกลุ่มที่เรียกร้องอ้างว่าในปัจจุบัน ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นคำนวณสูงถึง 8 บาทต่อลิตร ทำให้บรรดาโรงกลั่นฟันกำไรจนพุงกาง

ในเรื่องนี้ “สมภพ พัฒนอริยางกูล” โฆษกกระทรวงพลังงาน ออกมาชี้แจงว่า กรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงถึง 8 บาทต่อลิตรนั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดย สนพ. ซึ่งค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค-พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือนพฤษภาคม ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังแก้ปัญหาแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบยั่งยืน ยังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะเม็ดเงิน 24,000 ล้านบาทที่ได้เป็นการไป “หักกำไร” หรือพูดง่ายๆ ไป “บีบคอ” จากผลประกอบการของโรงกลั่นชั่วคราวแค่ 3 เดือนเท่านั้น วิธีนี้อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย นักลงทุนจะเกิดความไม่มั่นใจ ในการเข้ามาลงทุนในบ้านเราเพราะกลัวว่ารัฐจะเข้ามาแทรกแซง สะท้อนจากมูลค่าหุ้นของกลุ่มโรงกลั่นหายวับทันที 66,000 ล้านบาทแค่ 6 วันเท่านั้น

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากรัฐบาลที่ผ่านๆ รวมถึงรัฐบาลนี้ ปล่อยปละละเลย ไม่ได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด หากรัฐบาลใช้ความกล้าหาญจะแก้ปัญหาแบบตรงจุดจริงๆ จะต้องเลิกใช้ “ราคาอ้างอิงสิงคโปร์” ที่เป็นต้นทุนสมมติ ที่คนไทยต้องแบกรับและต้องกำหนด “ค่าการกลั่น” ให้สอดคล้องข้อเท็จจริง สมเหตุสมผลและต้องโปร่งใสเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แม้จะเจ็บบ้างในช่วงแรก แต่ “เจ็บแล้วจบ” ไม่ใช่แก้ด้วยการขอความเมตตาจากผู้ประกอบการ อย่างที่ทำอยู่ ในที่สุดปัญหาก็จะวนลูปเดิม เหมือนพายเรือในอ่าง

ฉะนั้นก็อย่าได้ตั้งความหวังไว้มากนัก งานนี้ก็คงแค่ซื้อเวลา เพื่อกระชากเรตติ้งในห้วงที่กระแสความนิยม “ลุงตู่” กำลังดิ่งยิ่งกว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพื่อเรียกศรัทธาก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น ครบ 3 เดือนเมื่อไหร่ ก็คงตัวใครตัวมัน!!!

……………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img