วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“สมช.”แก้วิกฤติพลังงาน-อาหาร .... ระวัง“ผิดฝาผิดตัว”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สมช.”แก้วิกฤติพลังงาน-อาหาร …. ระวัง“ผิดฝาผิดตัว”

อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจท่านหนึ่ง เคยเล่าให้ฟังว่า สูตรสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูหรือในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งแรกสำคัญที่สุดคือ “การสร้างความเชื่อมั่น” ยิ่งในยามเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งมีความจำเป็นต้องทำให้ประชาชน นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นให้ได้

หากประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในนโยบายรัฐบาล มีความเชื่อมั่นในผู้นำ หรือเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนก็กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนไทย หรือนักลงทุนต่างประทศ ก็กล้าที่จะลงทุน เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้แล้ว ประชาชนก็จะเก็บเงินเอาไว้ ไม่กล้านำออกมาจับจ่ายใช้สอย นักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ฉะนั้น “ความเชื่อมั่น” จึงเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

น่าแปลกใจเมื่อสัปดาห์ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กลับทำสวนทางกับการสร้างเชื่อความเชื่อมั่นด้วยการมอบหมายให้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ “สมช.” เข้ามารับงานใหญ่และงานโคตรหินระดับประเทศ โดยให้เข้ามาดูแล “วิกฤติพลังงานและอาหาร” ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน จนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา

จะว่าไปแล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไว้ใจรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล และมอบดาบให้ “หน่วยงานความมั่นคง” มาทำหน้าที่แทน คงจำกันได้ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งการแก้ไขปัญหาโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยทุบโต๊ะพร้อมกับยึดอำนาจมาจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ไว้ในมือแบบเบ็ดเสร็จ ต่อมาไม่นานก็ตั้ง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ “ศปก.ศบค.” ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอจากคณะแพทย์ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ก่อนที่จะส่งข้อมูลถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบค.ชุดใหญ่” รวมทั้งเข้ามาแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาดจนสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

คราวนี้ก็เช่นกัน เมื่อเริ่มมีสัญญาณความไม่ลงรอยกัน ระหว่าง “กระทรวงพลังงาน” ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน กับ “กระทรวงพาณิชย์” ที่ดูแลเรื่องการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งสองกระทรวงต่างพยายามปัดความรับผิดชอบโยนกันไปโยนกันมา จนส่อเค้าว่า หากไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมอาจจะเกิด “ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล” แน่ๆ

การประชุมศบค. 18 มี.ค.65

แต่ทันทีที่มีคำสั่งให้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” ในฐานะ “คณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ก็มีคำถามจากทั่วทุกสารทิศว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบ “ผิดฝาผิดตัวหรือเปล่า” หรือ “เกาไม่ถูกที่คันหรือไม่” ยิ่งไปดูโครงสร้าง “คณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่างๆ เกือบทุกกระทรวง อีกทั้งยังมีอัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็น “ข้าราชการประจำ” ทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่บริหารประเทศตลอด 8 ปี มีสูตรสำเร็จอยู่ 3 ประการ คือ

1)เชื่อในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบทหาร

2)เชื่อว่า นโยบาย “ความมั่นคง” คือสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของชาติ ไม่ว่าจะเป็น “ปัญหาเรื่องสุขภาพ” หรือ “ปัญหาเศรษฐกิจ”

3)เชื่อมั่นในข้าราชการประจำ มากกว่านักการเมืองและมืออาชีพ

ว่ากันว่า เบื้องหลังที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้นโยบายความมั่นคงแก้วิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่า ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร ล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน จึงจำเป็นต้องมีเจ้าภาพดูแล นั่นคือ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ คอยเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาบทสรุป ส่วนการดำเนินการแก้ไขเป็นเรื่องของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง

การที่พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ  มีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์เพื่อรับมือวิกฤติราคาพลังงาน และสินค้าขึ้นราคา โดยใช้อำนาจพิเศษควบคุมกลไกราคาสินค้าและพลังงาน นั่นเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า สถานการณ์ข้างหน้าอาการหนักหนาสาหัส จนอาจจะถึงขั้นมีการประท้วงกันอย่างรุนแรงลุกลามใหญ่โต เหมือนในต่างประเทศได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ วิธีการที่พล.อ.ประยุทธ์เลือกใช้ อาจจะมีความคล่องตัวและจัดการปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ได้ไม่คุ้มเสีย ในทางตรงกันข้าม กลับจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายหนักขึ้นไปอีก เพราะจะถูกมองจากต่างชาติว่ารัฐบาลไทย ใช้ “การทหารนำเศรษฐกิจ” หรือเป็นการ “รัฐประหารทางเศรษฐกิจ” ก็เป็นได้

สิ่งที่จะตามมาอาจจะกระทบกับความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุน หรือนักท่องเที่ยว เข้าใจผิดคิดว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงาน หรือขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง หรือทำให้ต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย ว่าจะมีการประท้วง จึงต้องเตรียมใช้หน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาดูแลสถานการณ์ ในที่สุดนักลงทุนอาจตัดสินใจไม่เข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเที่ยว

อย่าลืมว่า วิกฤติความเชื่อมั่นหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะเรียกลับคืนมาได้ง่ายๆ จะอันตรายอย่างยิ่งหากรัฐบาลส่งสัญญาณผิดๆ ทำให้คนจำนวนมาก ไม่มีความเชื่อมั่นอีกต่อไป

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img