วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS25 ปีจากวิกฤติ“ต้มยำกุ้ง” ... สู่วิกฤติ“กบต้ม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

25 ปีจากวิกฤติ“ต้มยำกุ้ง” … สู่วิกฤติ“กบต้ม”

หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาหมาดๆ เป็นวันครบรอบ 25 ปี ที่รัฐบาลของ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์” ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 พร้อมกับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน “ลอยตัวแบบมีการจัดการ” การตัดสินใจในครั้งนั้น เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ที่เดิมเป็นอัตราคงที่ มาเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการแทน

หากย้อนกลับไปจะเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 ที่มีต้นตอมาจากเศรษฐกิจไทยมีปัญหาความไม่สมดุลหลายด้าน ภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยง มีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัว มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์

คงจำกันได้ในยุคนั้น สนามกอล์ฟผุดราวดอกเห็ด คอนโดฯเกลื่อนเมืองจนได้ฉายา “เครน ซิตี้” เนื่องจากมีรถเครนตอกเสาเข็มเต็มไปหมด ฟากสถาบันการเงินต่างพากันระดมกู้สกุลเงินต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยถูกๆ มาปล่อยกินส่วนต่างจากดอกเบี้ยแพงๆ เศรษฐกิจภาพรวมมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้น เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท

นี่คือปฐมบทของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” จุดเริ่มต้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทย ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก แบงก์ชาติเอาไม่อยู่ จนต้องประกาศลอยตัวค่าเงิน ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า กลายเป็นวิกฤตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีการกู้เงินต่างประเทศเพื่อมาลงทุน ทำให้ภาระหนี้ของแต่ละบริษัท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทอัตราคงที่ 25บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังลอยตัวเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อยๆกระทั่ง 12 มกราคม 2541 เป็นวันที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 56.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สถาบันการเงินเจ้าหนี้โดยเฉพาะบริษัทเงินทุน เมื่อลูกหนี้ที่เคยกู้เงินขยายการลงทุนมากมาย มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้คืน ปัญหาหนี้เสียก็ลุกลามจนต้องมีการปิดตัวของ 56 ไฟแนนซ์

ธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในสถานะยากลำบาก เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากที่เป็นลูกหนี้กำลังจะล้มละลาย หนี้เสีย หรือ “เอ็นพีแอล” ในระบบสถาบันการเงินสูงถึง 45% หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินและบริษัทจำนวนมากต้อง “ล้มละลาย” ส่งผลให้ “พนักงาน” ต้อง “ตกงาน” จำนวนมาก

ขณะที่หลายประเทศๆ ที่โดนหางเลขจากวิกฤติครั้งนี้ ทั้งเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ค่อยๆ ทยอยออกจากวิกฤติมาได้ มีเพียงประเทศไทยที่ยังติดกับดักหาทางออกไม่เจอ สะท้อนจากดัชนีเศรษฐกิจตลอด 25 ปี ก่อนเกิดวิกฤติอัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 9% แต่หลังจากเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจเติบโตแบบต่ำติดดิน จีดีพี.เฉลี่ยราว 3% กว่าๆ มาโดยตลอด

กระทั่งจนถึงมาถึง 2 กรกฎาคม 2565 รวมระยะเวลา 25 ปี นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เศรษฐกิจไทยเดินทางผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาอีกหลายครั้ง หลายหนไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการเงินโลก หรือ “แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส” ในปี 2550-2551 วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจาการแพร่ระบาดของโตวิด-19 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด ล่าสุดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เข้ามาเติมเชื้อไฟ ที่นำพาไปสู่วิกฤตใหม่

ภาวะเศรษฐกิจช่วงโควิดCR : ธนาคารแห่งประเทศ

วิกฤตโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด หลายธุรกิจยังอ่อนแอ เนื่องจากกิจกรรมธุรกรรมทางธุรกิจชะงักงันมากว่า 2 ปี จนถึงวันนี้ทุกอย่างก็ยังไม่เหมือนเดิม รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แถมก็ต้องมาเผชิญหน้ากับ “วิกฤตพลังงาน” เป็นผลพวงจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการต่าง ๆ พาเหรดปรับราคาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อของไทยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 7.1% และ ธปท.ก็ยอมรับว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจไปถึง 8%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็มีการฟื้นตัวไม่แข็งแรงจากเศรษฐกิจเติบโตต่ำ แต่มี ปัญหาเงินเฟ้อสูง ทำให้หลายฝ่ายก็กังวลว่าจะเกิด “Stagflation” เมื่อ เงินฝืดบรรจบกับเงินเฟ้อ อย่างน่าเป็นห่วงมาก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่พุ่งกระฉูดกว่า 90% ต่อจีดีพี. อีกทั้งหนี้มีแนวโน้มกระจุกตัวในกลุ่มคนรายได้น้อย สะท้อนจากปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้เมื่อภาระหนี้เพิ่มขึ้น ครัวเรือนจำเป็นต้องลดการบริโภคลง หากหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นสูง มักเป็นสัญญาณเตือนวิกฤติในภาคการเงินกำลังมาเยือน

cr : www.kasikornresearch.com

วิกฤติรอบใหม่อาจจะต่างจากต้มยำกุ้งที่เกิดกับ “คนรวย” เป็นส่วนใหญ่อีกทั้งผ่านมา 25 ปี หลายอย่างที่เคยเป็นจุดอ่อนก็เป็นจุดแข็ง เช่น ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ที่ปัจจุบันเป็นจุดแข็ง

อย่างที่รู้ วิกฤติครั้งนี้เกิดจาก “คนจน” เป็นส่วนใหญ่ และค่อยๆ ลามไปยัง “คนชั้นกลาง” แม้ว่าโอกาสที่จะเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ซ้ำแบบในอดีตนั้นมีน้อย แต่เศรษฐกิจไทย อาจต้องเจอกับวิกฤติใหม่ๆ โดยเฉพาะหลังจากนี้ อาจจะเห็นเศรษฐกิจไทยโตลดเหลือระดับ 2-3% ดังนั้น หากเศรษฐกิจไทยจะเจอวิกฤติ ก็อาจเป็นวิกฤติจากเศรษฐกิจไทยโตช้า

จนหลายคนบอกว่า วิกฤติเที่ยวนี้ น่าจะเป็นวิกฤติใหม่ที่เรียกว่า “กบต้ม” นั่นคือการที่ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่ประชาชนจะไม่รู้ตัว จึงไม่ป้องกันตัวเอง หากเปรียบประชาชนเหมือน “กบ” ที่อยู่ในหม้อน้ำอุ่นๆ ไม่รู้สึกว่ามีอันตรายอะไร ทั้งๆ ที่ความจริงอุณหภูมิของน้ำนั้น กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จนวันหนึ่งน้ำเดือด ซึ่งก็หมายถึงเข้าสู่ขั้นวิกฤติ กบตัวนั้น หรือในที่นี้หมายถึงประชาชน จะกระโดดหนีออกมาก็ไม่ทันแล้ว ในที่สุดก็ตาย!!!

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img