วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSอภิปรายไม่ไว้วางใจจบแล้ว...แต่เศรษฐกิจต้องเดินหน้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อภิปรายไม่ไว้วางใจจบแล้ว…แต่เศรษฐกิจต้องเดินหน้า

สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยวันนี้ ถือว่าอาการหนักจริงๆ สะท้อนจากดัชนีต่างๆ หลายๆ ตัว ตั้งแต่ “ตัวเลขเงินเฟ้อ” ล่าสุดของไทยเดือนมิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 7.66% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี คาดว่าทั้งปีจะอยู่ระดับ 5.9% สูงสุดในรอบ 24 ปี ค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.67 บาท เป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปีเลยทีเดียว

ด้านสัดส่วน “หนี้ครัวเรือน” สิ้นปี 64 ขึ้นมา 91% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.3 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี “ราคาน้ำมันขายปลีก” ก็แพงในรอบหลายปี โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจ และปากท้องชาวบ้าน อีกทั้งจะมี “การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร” (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 อาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วย นับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน

วิกฤติรอบนี้ ความยากในการแก้ปัญหาอยู่ตรงที่ “แต่ละปัญหา” ไม่ได้อยู่แบบโดดๆ แต่มีการเชื่อมโยงกัน จนพันกันยุ่งไปหมด จะแก้ตรงโน้น ก็กระทบตรงนี้ กลายเป็น “ขว้างงูไม่พ้นคอ” จะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ อย่างกรณีราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมาก ทำให้เป็นต้นทุนส่งผ่านเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่การผลิต จนถึงการขนส่ง ที่กระทบแน่ๆ แล้วก็คือ “เงินเฟ้อ” ส่วนที่จะกระทบต่อไปคือ “ดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือน” สิ่งที่น่ากังวลและต้องจับตาคือ “รายได้ลดลง” เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ ก็ลดลงตามไปด้วย

ขณะที่แบงก์ชาติก็พยายามชะลอขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน แต่ก็ส่งสัญญาณแล้วว่า คงอั้นไม่อยู่ ยังไงก็ต้องปรับขึ้น แต่จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลายๆ ฝ่ายคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะพิจารณาปรับขึ้นในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ค่อนข้างแน่นอน เพราะถ้าไม่ปรับขึ้นเลย เงินก็จะไหลออก ค่าเงินบาทก็ร่วงลงไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอยู่ดี จะเห็นว่ามันยึดโยงกันไปหมด

สิ่งที่จะต้องดูคือ การแก้ปัญหาจะช่วยลดภาระให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนกลุ่มล่างๆ นี้ ได้อย่างไร

ไม่เช่นนั้นอาจเกิดวิกฤตหนี้ครัวเรือนปะทุขึ้นมาได้อีก หากครัวเรือนเจอวิกฤต คืนหนี้ไม่ได้ แบงก์ก็มีหนี้เสียหรือลูกหนี้เอ็นพีแอล เพิ่มมากขึ้น ในที่สุดเจ้าหนี้ก็แย่ ลูกหนี้ก็แย่กระทบเป็นทอดๆ วนลูปกันอยู่อย่างนี้

ส่วน คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่กี่วัน เพื่อแก้เกมเรียกความเชื่อมั่นโดยมอบหมายให้ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) เป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาพลังงานนั้น โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอาเรื่อง “ความมั่นคงนำเศรษฐกิจ” ได้อย่างไร กระทั่ง “คำสั่งล่าสุด” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จึงตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” จำนวน 27 คน และ “คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” อีก 16 คน

แต่ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อีกเช่นกันว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจนี้ไม่ต่างจาก “ครม.เศรษฐกิจ” ที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากกรรมการในชุดนี้ก็ล้วนเป็น รัฐมนตรีในครม.ทั้งนั้น ประกอบด้วย 1 นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็น “ประธาน” 10 รัฐมนตรี มีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจครบทุกกระทรวง จะมีแปลกปลอมเข้ามาก็คงเป็น “อนุทิน ชาญวีระกุล” รัฐมนตรีสาธารณะสุข “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รัฐมนตรีต่างประเทศ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีมหาดไทย ที่เข้ามาร่วม รวมถึงข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจ

ใครๆ ก็รู้ว่า “ตั้งมาแก้เกี้ยว” ดับกระแสก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากนี้ ก็คงไม่มีบทบาทอะไร ขนาด ครม.เศรษฐกิจเป็นทีมที่เป็นทางการมีกันไม่กี่คน “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีที่นั่งหัวโต๊ะในฐานะหัวหน้าทีม ก็ยังไม่เคยเรียกประชุม นับประสาอะไรกับคณะกรรมการเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายคน-หลายองค์กร กว่าจะเรียกประชุมพร้อมเพรียงกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และในที่สุดก็คงสลายตัว เหมือนกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

ที่สำคัญหลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ทุกอย่างคงมุ่งไปในเรื่องการแก้ปัญหาการเมืองในรัฐบาลเป็นหลัก โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล คงมีเรื่องต้องเคลียใจกันหลายเรื่อง เพราะตอนโหวตลงคะแนนไว้วางใจ มีการหักหลังกันเอง จากนี้ไปคงจะร่วมงานกันไม่สนิทใจ รัฐบาลตอนนี้อยู่ในสภาพร้าวลึกไม่เป็นเอกภาพ

นับจากนี้แต่ละพรรคคงเตรียมตัวเข้าสู่โหมดเลือกตั้งราวๆ ต้นปีหน้า ต่างฝ่ายคงมุ่งหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนนิยม ที่จะมาร่วมไม้ร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เป็นภาพรวมของประเทศคงยาก แต่ละพรรคคงจะเน้นพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเป็นหลัก

ส่วนเรื่องปรับครม.ก็คงไม่เกิดเช่นกัน เพราะยิ่งจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในพรรคร่วม และจะเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลหนักขึ้นไปอีก แม้มีหลายคนที่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกลายเป็นจุดอ่อนรัฐบาลก็ตาม

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลในขณะนี้คือ เรื่องปากท้องของประชาชน การอภิปรายไม่ไว้วางใจจบไปแล้ว แต่ว่าเศรษฐกิจของประเทศก็ต้องเดินหน้า เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องของประชาชนที่กำลังรอคอยการแก้ไข

………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img