วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS'เศรษฐกิจปีฉลู'ไม่ฉลุย ระวังฟื้นตัวแบบ K-Shape
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เศรษฐกิจปีฉลู’ไม่ฉลุย ระวังฟื้นตัวแบบ K-Shape

“เศรษฐกิจปีฉลู” เห็นท่าจะไม่ฉลุยเสียแล้ว เปิดมาทำงานวันแรก (4 มกราคม 64) ตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะยาน 745 คน ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีแรก ต้องเจอศึกหนักกว่าที่คิด อันเนื่องมาจากโควิดรอบใหม่ มีแนวโน้มฉุดทุกอย่างลากยาว การระบาดรอบนี้…แนวโน้มน่าจะรุนแรงกว่าครั้งก่อน

ก่อนที่จะมีการระบาดใหม่รอบนี้ หลายสำนักก็คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะโงหัวดีขึ้นกว่าปี 2563 แต่หลังจากเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ปัจจัยดังกล่าวอาจไม่มีกำลังพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เห็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” ได้ เมื่อยังมีปัจจัยลบมากมายเข้ามาเป็นตัวถ่วง โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน” ที่พุ่งสูงแตะๆ 90% สูงสุดในรอบ 18 ปีส่งผลกระทบกำลังซื้อในประเทศอย่างมาก

ด้าน การคลัง ยังต้องลุ้นว่า มีเสบียงจะพอหรือไม่ วงในแอบกระซิบว่า “ช่อง” ในการกู้ชดเชยขาดดุลที่เหลือแค่กว่า 1 แสนล้านบาทเท่านั้น อาจจะไม่เพียงพอ ขณะที่ รายได้จากการเก็บภาษี 2.8 ล้านบาท ก็อาจไม่เป็นไปตามเป้า เพราะในปีที่ผ่านมา ธุรกิจประสบกับการขาดทุนและทยอยปิดกิจการจำนวนมาก รายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้ ก็คงไม่เป็นไปตามเป้า แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังเข้ามาไม่ได้ ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศสถานการณ์อย่างนี้ ก็คงไม่มีใครอยากเที่ยวเท่าไหร่

ส่วน รายได้จากการส่งออก แม้ว่าในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว จะทำท่าดีขึ้น แต่ก็มีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาดแคลนทั่วโลก ต้องแย่งกันทำให้ราคาค่าเช่าเพิ่มขึ้น และผันผวนประกอบกับเงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกต้องปวดหัวกับการโค๊ดราคาสินค้า ส่งผลให้ปีนี้การส่งออก จึงค่อนข้างลำบาก ไม่เป็นไปตามเป้าแน่ๆ

ด้าน การลงทุน รายงาน Doing Business 2020 จัดทำโดย ธนาคารโลก พบว่า Top 20 ประเทศที่ง่ายต่อการเข้ามาทำธุรกิจนั้น ไม่มีไทย มีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ติดอันดับ 2 และ 12 ตามลำดับ ส่วนไทยติดอันดับที่ 21 ความหวังที่จะให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่ออกจะเพ้อฝัน ส่วนใหญ่เล็งไปที่เวียดนาม

จากปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนวิตกกังวลว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แบบลากยาวไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวในลักษณะ K-Shaped หรือ ตัวอักษร K กล่าวคือ สำหรับธุรกิจบางกลุ่ม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวกลับมาในสภาพเดิมอย่างเต็มที่ (หางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มนั้น ก็ยังไม่ฟื้นตัวแถมยังตกต่ำลงต่อไป (หางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

อันที่จริงก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างเข้า ทางการฟื้นตัวแบบตัว K ทุกที ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานของโรงงานต่าง ๆ แบบรายวัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทยอยปิดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ไปไม่กลับหลับไม่ตื่น อย่างน้อยต้องใช้เวลานาน 2 ปี เผลอๆ อาจจะลากยาวถึง 4 ปีเลยทีเดียว

ขณะที่นโยบายรัฐที่ผ่านมา กระทั่งหลังการระบาดของโควิด-19 นโยบายการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มทุนผูกขาดทั้งสิ้น รวมถึงธุรกิจบางธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากวิกฤติโควิด ทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจส่งออกอาหาร ผู้ผลิตถุงมือยาง ปัจจัยเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวแบบรูปตัว K จริง ๆ

ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ มีสายป่านยาว จะก้าวผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่ระบบการบริหารจัดการยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ และกระแสเงินสดยังไม่เยอะ อีกทั้งบริษัทขนาดใหญ่ก็เห็นโอกาสเติบโตและก้าวออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้เข้มแข็งกว่าบริษัทขนาดเล็ก

พูดแบบภาษชาวบ้านการฟื้นตัวแบบ K-Shaped กลุ่มคนรวยจะอยู่ในส่วนของ ‘K ขาขึ้น’ เพราะต้องยอมรับว่าสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ขยายตัวได้ดี ทำให้คนรวยรวยมากขึ้น เราจึงเห็นสินค้าราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรู รถหรู ยังขายได้ดีส่วน ‘K ขาลง’ ยังอยู่ในเศรษฐกิจภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ตลอดจนแรงงานระดับล่างที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนส่วนใหญ่จึงยังได้รับผลกระทบ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบตัว K นั้น น่าเป็นห่วงว่ายิ่งจะนำไปสู่ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img