วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแก้รัฐธรรมนูญเสี่ยง“ล้มกระดาน” 4 ชื่อสำคัญ“ตัวพลิกเกม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แก้รัฐธรรมนูญเสี่ยง“ล้มกระดาน” 4 ชื่อสำคัญ“ตัวพลิกเกม”

หลังจบจากศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว ประเด็นสำคัญทางการเมืองที่ต้องตามต่อสัปดาห์หน้านี้ก็คือเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์เข้าไปทุกที

ล่าสุด ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา” เรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ ส.ส.และสว. ในช่วงสัปดาห์หน้านี้สองวันติดกันคือ วันที่ 24-25 ก.พ. ก่อนที่จะมีการปิดสมัยประชุมสภาฯ 1 มีนาคม

ระเบียบวาระสำคัญในการประชุมรอบนี้ก็คือการพิจารณา “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256และเพิ่มหมวด 15/1)” ซึ่งเป็นการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ที่ผ่านการพิจารณาจาก คณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯ ซึ่งมี วิรัช รัตนเศรษฐ แกนนำพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการฯ ที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว

cr / FB วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ทั้งนี้ การประชุมนัดดังกล่าว เป็นการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ตามรายงานของกมธ.ฯ แบบเรียงรายมาตรา ที่เรียกกันว่า การพิจารณาในวาระสอง โดยการพิจารณาแต่ละมาตรา จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง

จากนั้น พอพิจารณาเสร็จทุกมาตรา ก็จะไปรอโหวตในวาระสาม ที่เรียกกันว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่ง รธน.ฉบับปัจจุบัน เขียนไว้ว่า หลังรัฐสภาพิจารณาวาระสองเสร็จ ต้องพักไว้ 15 วันถึงจะประชุมวาระสามได้ ดังนั้น ก็จะต้องมีการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญกลางเดือนมีนาคมต่อไป

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย จะมีความแตกต่างจากตอนโหวตวาะแรกและวาะสองก็คือ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

โดยในจํานวนนี้ต้องมีส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือก็คือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอแก้ไข รธน.อยู่แล้ว เสียงโหวตจากฝ่ายค้าน จึงไม่มีปัญหา เอาด้วยทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายส.ว.นั้น ถึงตอนนี้ หลายฝ่ายยังเชื่อว่า เรื่องแก้ไข รธน. สว.จำนวนหนึ่ง จะเอาด้วยแน่นอน เกิน 1 ใน 3 จึงไม่น่ามีอะไรพลิกผัน ทำให้การแก้ไขรธน.สะดุดล้มลงได้

แต่ที่จะทำให้ การแก้ไข รธน.ล้มกระดาน ถึงตอนนี้ อาจไม่ใช่เกิดจาก วุฒิสภา” เสียแล้ว เพราะหลายคนโดยเฉพาะแวดวงการเมือง ทั้งสภาล่างและสภาสูง ต่างมองว่า การล้มกระดานการแก้ไขรธน. ถ้าจะเกิดขึ้นจริง” ก็อาจเกิดจาก ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียมากกว่า

หลังล่าสุดเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ที่เสนอให้แก้ 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่าง รธน. มาร่าง รธน.ฉบับใหม่ อันเป็นคำร้องที่เกิดจากมติเสียงข้างมากของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อ  9 ก.พ.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ นอกจาก ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งอีกว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด โดยให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มี.ค.2564 และศาล รธน.นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มี.ค.2564

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ล็อกชื่อบุคคลมาสี่ชื่อ เพื่อให้ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ที่ก็คาดการกันว่า ก็คงเป็นประเด็นที่ตุลาการศาลรธน.ต้องการทราบถึง ความเห็นในเชิงข้อกฎหมาย ในเรื่องการแก้ไข รธน.และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไข รธน. จากทั้งสี่คน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ cr /TNN

ที่ดูแล้ว สี่ชื่อดังกล่าว สองคนสำคัญก็คือ มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่เป็นอดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และดร.อุดม รัฐอมฤต” อดีตกรรมการและโฆษกกรรมการร่าง รธน.ชุดปัจจุบัน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

โดยทั้ง “มีชัย-ดร.อุดม” ก็คือ สองผู้ร่วมทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากับมือ ดังนั้น จึงเป็นคนที่รู้ว่าเจตนารมณ์ของกรรมการร่าง รธน. ในเวลานั้น ตอนร่างมาตรา 256 ออกมา มีเจตนารมณ์อย่างไรกันแน่ ต้องการให้มีการแก้มาตรา 256 เพื่อให้นำไปสู่การมีสมาชิกสภาร่างรธน.มาร่างรธน.ฉบับใหม่แทนรธน.ฉบับปัจจุบันหรือไม่ หรือว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริง ในการเขียนมาตรา 256 คือต้องการเพียงแค่หากจะมีการแก้ไขรธน. ก็ให้แก้เป็นรายมาตราเท่านั้น ไม่ได้จะให้มาแก้ 256 เพื่อให้มีการไปตั้งสภาร่างรธน.มาร่างรธน.ฉบับใหม่จนทำให้รธน.ที่กรรมการร่างฯ ร่างมากับมือ ต้องสิ้นสภาพไป

บันทึก-ความเห็นของ “มีชัย-อุดม ดูแล้ว มีความสำคัญมากกับความเป็นไปของกระบวนการแก้ไข รธน.ต่อจากนี้ ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ได้

ดร. อุดม รัฐอมฤต cr / คนเคาะข่าว

เพราะหากทั้งสองคน ยืนกรานว่า ตอนที่เขียนมาตรา 256 ไม่ได้ต้องการให้มีการเสนอแก้ไขได้ในภายหลังเพื่อนำไปสู่การตั้งสสร. มาร่างรธน.ฉบับใหม่ ก็ทำให้ มีโอกาสไม่น้อย ที่ตุลาการศาลรธน.อาจจะยึดความเห็นของทั้งสองคน เป็นจุดสำคัญในการวินิจฉัยคดี จนทำให้ การแก้ไขรธน.ที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ อาจสะดุดลงกลางคัน

หลังก่อนหน้านี้ มีข่าวปรากฏออกมาว่า “ดร.อุดม” เคยไปร่วมชี้แจงแสดงความเห็นต่อ กรรมการร่วมรัฐสภา พิจารณาแก้ไข รธน.ฯ โดยมีข่าวว่า ดร.อุดม ได้แสดงความเห็นส่วนตัว ในทำนองว่า “มาตรา 256 ต้องการว่า…หากจะมีการเสนอแก้ไขรธน. ต้องเป็นการเสนอแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้แก้ 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรธน.ฉบับใหม่”

ขณะที่ท่าทีของ มีชัย-อดีตประธานกรรมการยกร่างรธน.ยังไม่ชัดเจนมากนัก คงต้องรอติดตามต่อไป

cr / สำนักงาน ป.ย.ป.

ส่วนอีกสองคนที่ศาลรธน.ขอให้ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด คือ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ก็มีดีกรี คืออดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.ฉบับที่ไม่ได้นำไปใช้ เพราะถูกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติยุคคสช.ลงมติคว่ำเสียก่อน และยังเป็นอดีตเลขานุการคณะกรรมการยกร่างรธน.ปี 2540-อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี-อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอีกมากมาย ถือเป็นคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและรัฐธรรมนูญ และชื่อสุดท้าย “สมคิด เลิศไพฑูรย์” อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ และยังเป็นอดีตเลขานุการกรรมการยกร่าง รธน.ปี 2550 -อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคคสช. เป็นต้น

cr /Thammasat University

ซึ่งหลังจาก ศาลรธน.ได้รับเอกสารบันทึกความเห็นดังกล่าว จากทั้งสี่คนแล้ว ตุลาการศาลรธน. ก็จะนำเอกสารทั้งหมด รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ตุลาการศาลรธน.ได้ไปเสาะมาประกอบการพิจารณาคำร้องเพราะการพิจารณาคดีของศาลรธน.เป็นระบบไต่สวน จึงทำให้ ตุลาการศาลรธน.สามารถแสวงหาข้อมูล-เอกสาร ต่างๆ มาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยตัดสินคำร้องได้ ซึ่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ก็คาดว่าน่าจะมีอาทิเช่น บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรธน.ปี 2560 ตอนที่ยกร่างมาตรา 256 เป็นต้น 

จนเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ตุลาการศาลรธน.ทั้งหมด ก็จะประชุมเพื่อวางแนวการวินิจฉัยคดีต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีสว.บางส่วน ประเมินว่า หลังศาลรธน.ได้รับบันทึกความเห็นของทั้ง”มีชัย-อุดม-บวรศักดิ์-สมคิด”แล้ว หากตุลาการศาลรธน. เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าข้อมูล-ข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว ก็อาจนัดประชุมเพื่อลงมติในคำร้องคดีนี้ได้ทันที หลังประชุมนัดล่าสุด  4 มี.ค. โดยอาจจะนัดลงมติหลังจากนั้นภายในไม่เกินสองสัปดาห์ ซึ่งก็คืออาจเสร็จก่อน การประชุมร่วมรัฐสภาวาระสาม กลางเดือนมีนาคม

บนคำตัดสินที่ออกมา สองทาง คือ

หนึ่ง วินิจฉัยว่า การแก้ไขรธน.มาตรา 256 ของรัฐสภาเวลานี้ สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สอง วินิจฉัยว่า การแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรธน.ทำไม่ได้ เป็นการทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 256 เป็นช่องทางในการแก้ไขรธน.รายมาตราเท่านั้น ไม่ใช่แก้ 256 เพื่อนำไปสู่การร่างรธน. ฉบับใหม่

สุดท้ายแล้ว การแก้รธน.จะเดินหน้าต่อไปได้ หรือต้องล้มกระดาน ชะตากรรมของเส้นทางนี้ อยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยแท้จริง

……………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

                                                                 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img