วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS3 ปมร้อนหลัง“ล้มกระดาน”แก้รธน.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

3 ปมร้อนหลัง“ล้มกระดาน”แก้รธน.

เมื่อความพยายามที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะโดนล้มกระดานเสียก่อน จากผลการโหวตของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อค่ำคืนวันพุธที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

ในทางการเมือง สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้อันเป็นผลต่อเนื่องหลังมีการล้มกระดานการแก้ไขรธน.พบว่าต้องโฟกัสไปที่ 3 ปมร้อนต่อจากนี้

ปมแรก -การขู่จะเอาผิดสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมโหวตลงมติร่างแก้ไขรธน.วาระสาม

ซึ่ง “ขาประจำ-นักร้องประจำป.ป.ช.” อย่าง “ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ประกาศแล้วว่า จะไล่เช็คบิลเอาผิดสมาชิกรัฐสภา ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ลงมติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงมต “เห็นชอบ” ร่างแก้ไขรธน.วาระสาม ที่ก็มีทั้งส.ส.ฝ่ายค้านอย่าง เพื่อไทย-ก้าวไกล หรือส.ส.รัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ นักร้อง-ขาประจำ“ศรีสุวรรณ” บอกไว้ว่า ประเด็นที่จะยื่นเรื่องเอาผิดก็คือการใช้ช่องทางเอาผิดตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 และการเอาผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระฯ ซึ่งใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร-สมาชิกวุฒิสภา-และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยการยื่นเอาผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 2 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27

โดยข้อ 17 ของมาตรฐานทางจริยธรรมฯดังกล่าว ระบุว่า “ต้องไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง”

ขณะที่ ข้อ 27 เป็นเรื่องการเอาผิดกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งหมวด 1 ดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์” เช่น ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นต้น

จับทางได้ว่า ศรีสุวรรณ คงจะยื่นให้ป.ป.ช.สอบสวน-ไต่สวน สมาชิกรัฐสภาที่ลงมติในวาระสามว่า ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ในเรื่องคำร้องคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะศรีสุวรรณ และคงมีอีกบางกลุ่มที่จ้องจะร้องเอาผิดเช่นกัน มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน. ให้ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนรัฐสภาจะเริ่มกระบวนการแก้ไขรธน.วาระแรก

แต่การที่สมาชิกรัฐสภาไปโหวตวาระสามดังกล่าวโดยที่ไม่มีการทำประชามติถามประชาชนก่อน ตั้งแต่เริ่มวาระแรก จึงเป็นการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กรรวมถึงรัฐสภาด้วย จึงจะมีการร้องป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ

ทั้งนี้ ตามกฎหมาย หากป.ป.ช.รับเรื่องและไต่สวนจนชี้มูลว่ามีความผิดจริง ก็จะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ศาลไต่สวนเอาผิด โดยที่หากศาลฏีการับคำร้อง ก็จะทำให้สมาชิกรัฐสภา ที่ถูกป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิด ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที ซึ่งกระบวนการก็จะเหมือนกับที่ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องเอาผิด ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พลังประชารัฐ กรณีบุกรุกป่าสงวนฯ ที่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม “อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” หรือ กรธ. คนหนึ่งที่ขอสงวนนาม ให้ความเห็นว่า ดูแล้วโอกาสที่จะเอาผิดสมาชิกรัฐสภาที่โหวตวาระสาม ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะคำวินิจฉัยกลางของศาลรธน.ก็บอกแล้วว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งในคำวินิจฉัยกลางก็ไม่ได้ระบุว่า ไม่ให้รัฐสภาโหวตวาระสาม

ดังนั้น หากสมาชิกรัฐสภา ลงมติโดยความบริสุทธิ์ใจและเห็นว่าเป็นอำนาจที่สมาชิกรัฐสภาทำได้ ป.ป.ช. ก็อาจจะไต่สวนเอาผิดได้ยาก จุดนี้จึงน่าจะทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคน ไม่น่าจะกังวลใจเรื่องนี้

เว้นแต่ ป.ป.ช.จะเกิดเฮี้ยนขึ้นมา ก็ได้หนาวกันทั้งสภาฯแน่นอน แต่เชื่อว่าคงไม่มีสัญญาณพิเศษอะไรไปถึง ป.ป.ช.ให้จัดการเรื่องนี้ เว้นเสียแต่ จะรบกันทางการเมืองให้แตกหักกันไปข้าง อะไรที่คิดว่าคงไม่น่าเอาผิดได้ ก็อาจเกิดการเอาผิดได้เช่นกัน !

ปมที่สอง-ที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ “การแก้ไขรธน.รายมาตรา”

ที่มีเสียงตอบรับกันอื้ออึง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พลังประชารัฐ และพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง เพื่อไทย-ก้าวไกล รวมถึง สมาชิกวุฒิสภาเองด้วย

จุดสำคัญก็เป็นเพราะฝ่ายค้านเอง ก็รู้ดีว่า จากช่วงเวลาที่เหลืออยู่ตามอายุของสภาฯชุดนี้ หากจะเริ่มกลับไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการจะเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรธน.เพื่อนำไปสู่การยกร่างรธน.ฉบับใหม่อีกรอบ รวมเวลาต่างๆ ทั้งการทำประชามติรอบแรก ก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรธน.วาระแรก ที่ก็ต้องลุ้นอีกว่า จะผ่านประชามติหรือไม่ จากนั้น หากผ่านฯ ก็จะไปสู่ขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขรธน.ให้รัฐสภาพิจารณา สามวาระ 

โดยหากผ่านจากรัฐสภาวาระสามแล้ว ก็ต้องส่งไปทำประชามติอีก และหากยกร่างรธน.ฉบับใหม่เสร็จ ก็ต้องส่งไปทำประชามติอีกครั้ง รวมๆ แล้วอาจต้องทำประชามติสามครั้ง และแต่ละด่านหินๆ ทั้งนั้น รวมเวลาทั้งหมดแล้วใช้เวลาเกือบสองปีหรืออาจมากกว่าสองปีทำให้หากคิดจะเสนอร่างแก้ไขรธน.เพื่อนำไปสู่การ่างรธน.ฉบับใหม่ ยังไง ก็ไม่ทัน อายุของสภาฯชุดนี้ที่เหลืออีกประมาณสองปีได้

การหันกลับมาลุยเรื่องการแก้ไขรธน.รายมาตรา จึงเป็นทางออกที่พอเป็นไปได้มากสุดและใช้เวลาเร็วกว่าการจะไปผลักดันให้มีการร่างรธน.ฉบับใหม่

เพียงแต่ปัญหาก็คือ หากจะแก้ไขรธน.รายมาตรา ประเด็นที่ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สว.จะเห็นตรงกันเป็นเสียงข้างมาก สุดท้ายแล้ว เสียงส่วนใหญ่จะเอาด้วยกับการแก้ไขรธน.รายมาตราในประเด็นใด

เพราะอย่าง หากฝ่ายค้านจะเสนอให้แก้ไขรธน.รายมาตรา เกี่ยวกับอำนาจของสว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ที่อยู่ในมาตรา 272 ที่บทเฉพาะกาลให้อำนาจไว้ห้าปีหลังมีรัฐสภาชุดแรก ฝ่ายพลังประชารัฐและสว.บางส่วนโดยเฉพาะสายที่ใกล้ชิดพลังประชารัฐ ก็อาจไม่ยอม

เพราะยังอาจต้องการให้ สว. ยังเป็นฐานอำนาจของตัวเองอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่น หากอยู่ครบเทอมสี่ปี แล้วมีการเลือกตั้ง พลังประชารัฐ ก็อาจต้องการความมั่นใจว่ายังไงก็มี เสียงของสว.ยังสามารถมาโหวตเห็นชอบนายกฯของฝ่ายตัวเอง ได้อีกอย่างน้อยก็หนึ่งครั้ง จึงอาจไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรธน.ประเด็นนี้

ด้วยเหตุนี้ การจะกลับมาใช้วิธีแก้ไขรธน.รายมาตรา จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากประเด็นที่อาจจะมีพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ไข แต่เสนอมาแล้ว ทางพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สว. ไม่ได้เห็นพ้องตรงกันหมด  ถ้าออกมาแบบนี้ โอกาสที่จะแก้รายมาตราสำเร็จ ก็ไม่ง่าย เพราะกลุ่มที่เสียประโยชน์ ก็ต้องขวางทุกช่องทางเช่นกัน

ปมที่สาม-ที่ต้องจับตาก็คือ “กระแสไม่พอใจนอกรัฐสภา ที่ร่างแก้ไขรธน.โดนล้มกระดาน”

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็คงเห็นแล้วว่า กระแสไม่พอใจนอกรัฐสภา ไม่ร้อนแรงอย่างที่คิด คือมีอยู่แน่นอน แต่ก็ร้อนแค่ในโลกโซเชียลมีเดีย แต่ไม่เกิดกระแสออกมาต่อต้านบนท้องถนน ทุกอย่างเงียบสนิท ชนิดฝ่ายค้านอย่าง เพื่อไทย-ก้าวไกล ที่พยายามจะโหมกระแสว่า หากร่างแก้ไขรธน.โดนล้มกระดาน ประชาชนจะลุกฮือไม่พอใจ จะเกิดวิกฤตการเมือง เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญบนท้องถนน แต่ถึงตอนนี้ ก็อย่างที่เห็นคือ “มุขแป๊ก” ไม่มีแรงต่อต้านใดๆ ออกมาแรงๆ อย่างที่ฝ่ายค้านพยายามสร้างกระแส

ส่วนเรื่องนี้จะเป็นประเด็นนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่บนท้องถนนอีกครั้งหรือไม่ หากเป็นช่วงก่อนหน้านี้ สมัยม็อบสามนิ้ว พีคๆ ช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.ปีที่แล้ว คงระอุแน่นอน แต่หลังม็อบสามนิ้วแผ่ว ปลุกไม่ขึ้น และแกนนำม็อบสามนิ้วอีกหลายคน ที่ยังไม่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ คนกลุ่มนี้เอง ก็ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวอะไรมาก เพราะกลัวไม่ได้ประกันตัว หากมีคดีความส่งไปที่ศาล

เลยทำให้การล้มกระดานแก้ไขรธน.ครั้งนี้ แทบไม่มีอิมแพ็คอะไรสำหรับการเมืองบนท้องถนน

อาจเพราะเหตุนี้ พลังประชารัฐ-สว. ถึงกล้าจับมือกันล้มกระดานแก้รธน.แบบเนียนๆ ที่ก็คงเพราะมั่นใจลึกๆว่า เรื่องแก้ไขรธน.ไม่น่าจะปลุกม็อบสามนิ้วให้กลับมาอีกได้

ทั้งสามปมร้อนดังกล่าว คือการเมืองฉากร้อนๆ หลังร่างแก้ไขรธน.โดนคว่่ำล้มกระดาน แต่ดูแล้ว ยังไง หนังยาวเรื่องแก้ไขรธน. คงมีอีกฉายอีกหลายตอน และคงยากจะเดาตอนจบได้ว่าสุดท้ายแล้ว ตลอดอายุของรัฐสภาชุดนี้ จะมีการแก้ไขรธน.สำเร็จหรือไม่

……………………………………               

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย พระจันทร์เสี้ยว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img