วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“บัตร 2 ใบ”เขย่าพรรคเล็ก-ตั้งใหม่ ดิ้นหนีตาย-เปิดดีลควบรวม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บัตร 2 ใบ”เขย่าพรรคเล็ก-ตั้งใหม่ ดิ้นหนีตาย-เปิดดีลควบรวม

ถ้าไม่มีเหตุให้พลิกคว่ำแบบเหนือความคาดหมายอีก เส้นทาง “บัตรเลือกตั้งส.ส.สองใบ” คงได้เห็นถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ส.ส.ทั่วประเทศ รอบหน้าที่อาจเกิดขึ้นปีหน้า 2565

แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยืนยัน “อยู่ครบเทอม-ไม่ยุบสภา” ก็ตาม แต่แวดวงการเมือง ดูจะไม่ค่อยมั่นใจเหมือน “บิ๊กตู่” สักเท่าไหร่ หลังเห็นปัจจัย-เงื่อนไขการเมืองเวลานี้

ยิ่งเมื่อเกิดเหตุ “บิ๊กตู่” ปลด “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากตำแหน่งรัฐมนตรี คนการเมืองก็ยิ่งดูจะเชื่อว่า หากพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถเคลียร์ปัญหาภายในพลังประชารัฐได้ “บิ๊กตู่” ก็อาจต้องยุบสภาฯ หากเริ่มเห็นสัญญาณฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกจับเป็นตัวประกันกลางสภาฯ แบบศึกซักฟอกที่ผ่านมาอีก

ด้วยสถานการณ์การเมืองตอนนี้ ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง จบในชั้นรัฐสภาแล้ว ขณะเดียวกัน เสถียรภาพรัฐบาล ก็อาจสั่นคลอน ถ้ากลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า ในพลังประชารัฐ ไม่ยอมง่ายๆ มีการวางแผนเอาคืนนายกฯ สุดท้าย “บิ๊กตู่” ที่มีบุคลิกไม่ยอมให้ใครขี่คอได้ง่ายๆ ก็คงพร้อมแตกหัก ยุบสภาฯ ได้ทุกเมื่อ ทำให้ หลังจากนี้ จะเริ่มพบเห็นสัญญาณการเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งของหลายพรรคการเมืองมากขึ้น

สำหรับจังหวะเดินทางการเมือง ของการแก้ไขรธน.ต่อจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป ก็คือ

1.ความเคลื่อนไหวเพื่อขวางบัตรสองใบ ยังจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่โดยเฉพาะการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะแม้กลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน  ที่แพ้ในศึกล้มบัตรสองใบ จะไม่ยอมง่ายๆ กำลังเลือดเข้าตา พยายามล้มบัตรสองใบให้ได้ เพื่อไม่ให้พรรคตัวเองสูญพันธุ์ โดยประกาศจะพยายามรวบรวมรายชื่อ-ลายเซ็น สมาชิกรัฐสภา ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ว่าทำโดยไม่ชอบ

ทว่า ความพยายามดังกล่าว ดูแล้ว อาจไม่เกิดผลสำเร็จ เพราะด้วยเงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด หรือ ประมาณ 72 เสียง และมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการยื่นได้ภายใน 15 วัน พบว่าลำพังเสียงพรรคเล็กทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมเสียงกันแล้วก็ไม่ถึงขาดอีกเพียบ

ขณะที่พรรคที่ลงมติงดออกเสียงตอนโหวตแก้ไขวาระสามทั้ง “ภูมิใจไทย-ก้าวไกล” ก็ปิดประตูไม่เอาด้วยกับการส่งคำร้องให้ศาลรธน. เพราะเห็นว่า เกมโอเวอร์แล้ว การดิ้นจะส่งเรื่องไปยังศาลรธน. ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะข้อกฎหมายที่เคยเป็นปมปัญหาที่จะส่งไปยังศาลรธน.ถูกปลดล็อกแก้ไขออกไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ประเด็นที่จะร้องศาลรธน. น้ำหนักเบาลงไปเยอะ อีกทั้ง ร่างแก้ไขรธน.ผ่านวาระสามไปแล้ว จึงมีการประเมินกันว่า ส่งเรื่องไป ศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจไม่อยากจับเผือกร้อน  เพราะถือว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลอาจไม่อยากไปยุ่งทุกเรื่อง

ด้วยเหตุนี้ “ก้าวไกล-ภูมิใจไทย” เลยคิดว่า ส่งไปศาลรธน.ก็คงเสียเวลาเปล่า ทำให้ไม่มีท่าทีจะไปร่วมลงชื่อกับพรรคเล็กส่งคำร้องไปศาลรธน.เพื่อล้มบัตรสองใบแต่อย่างใด

หากกลุ่มพรรคเล็กไม่ยอมหยุดเรื่องนี้ ก็ต้องไปขอเสียงบรรดา สว.ให้ร่วมลงชื่อด้วย ที่ก็ยังไม่ชัวร์ว่าจะได้เสียงสว.ครบตามที่ต้องการหรือไม่

โดยหากพรรคเล็ก ไม่สามารถรวมเสียงได้ถึงภายในกรอบเวลา จนเลย 15 วันนับจาก 10 ก.ย. แล้ว พลเอกประยุทธ์ ก็จะนำร่างแก้ไขรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป แต่ถ้ารวมเสียงได้ครบ จนยื่นศาลรธน. ได้ กระบวนการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องระงับไว้ก่อน จนกว่า จะสิ้นสุดขั้นตอนการพิจารณาของศาลรธน.อออกมา

2.การเตรียมขยับแก้ไขพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ให้สอดคล้องกับกติกาการเลือกตั้งส.ส.ที่มีการแก้ไข

ที่เจ้าภาพหลัก ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจหลักในการควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ที่จะต้องไปยกโมเดล ต้นร่างการแก้ไขพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ เสนอเข้ามายังรัฐสภาต่อไป โดยกระบวนการก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะที่แก้ไขรธน.ก็แค่แก้จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และแก้วิธีการนับคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น การแก้พรบ.เลือกตั้งส.ส. จึงแก้แค่ไม่กี่มาตรา เปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า กลางเดือนพ.ย. ปีนี้ กกต.ก็สามารถส่งเรื่องแก้ไขพรบ.เลือกตั้งฯ เข้าไปให้รัฐสภาพิจารณาได้เลย ที่ก็ใช้เวลาไม่นาน น่าจะเสร็จทันสมัยประชุมหน้า ไม่เกินกุมภาพันธุ์ 2565  

3.ให้จับตาการปรับตัว หรือถึงขั้นดิ้นหนีตายของพรรคเล็ก ทั้งพรรคที่มีส.ส.ในสภาฯ เวลานี้ และที่กำลังตั้งพรรคใหม่ อาจถึงขั้น บางพรรคอาจต้องยกธงขาวไปต่อไม่ได้จากผลการกลับไปใช้บัตรสองใบ

หลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา จากผลระบบบัตรใบเดียวและเกณฑ์การคิดคำนวณส.ส.พึงมีในสภาฯ ของกกต.ที่ทำให้มีส.ส.ปัดเศษ จนพรรคเล็กร่วมสิบพรรค ได้เก้าอี้ส.ส.ในสภาฯ พรรคละหนึ่งคน ขณะที่ก็มีพรรคเล็กหลายพรรค ได้ประโยชน์จากบัตรสองใบ ที่ทำให้ได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ง่ายมากขึ้น แม้แต่กับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” แกนนำพลังประชารัฐตอนนี้ก็มาจากพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน

แต่เมื่อกลับไปใช้ระบบบัตรสองใบ แยกคะแนนส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ และลดจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลงจาก 150 คนเหลือ 100 คน ทำให้มีการคิดคำนวณว่า จากตัวเลขเฉลี่ยผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่มีอยู่ประมาณ 35 ล้านคนจากผู้มีสิทธิ์ 50 ล้านคน แล้วนำไปหาร 100 ทำให้ จากเดิมค่าเฉลี่ยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ตอนปี 2562 ที่อยู่ประมาณ 71,000 คะแนน ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน แต่ที่แก้ไขใหม่ จะกลายเป็น 350,000 คะแนน ต่อปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน

ดังนั้น สูตรนี้ “พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว” ในสภาฯเวลานี้ที่มีส.ส. 1-10 คนที่ส่วนใหญ่เป็นปาร์ตี้ลิสต์ บรรดาพรรคเล็ก จึงอาจสูญพันธุ์หลายพรรค แม้แต่บางพรรคที่เคยได้ปาร์ตี้ลิสต์นับสิบคนเช่น เสรีรวมไทย ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ก็อาจจะเหลือแค่ประมาณ 3-4 เก้าอี้เท่านั้น ถ้าใช้สูตรตามที่แก้ไข

ผลกระทบนี้ ยังรวมไปถึงบรรดา พรรคการเมืองตั้งใหม่ ที่นักการเมืองดังๆ หลายคน แยกตัวออกมาตั้งพรรค ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง (พรรคเส้นทางใหม่) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ไทยสร้างไทย) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (ไทยภักดี) กรณ์ จาติกวนิช (พรรคกล้า) ก็น่าจะได้รับผลกระทบไปตามกัน เพราะพรรคตั้งใหม่เหล่านี้ ก็หวังว่าจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากบัตรใบเดียวที่นับทุกคะแนนเสียง แต่เมื่อกติกามาเปลี่ยนกันแบบนี้ หลายพรรคก็มึนตึบ ต้องปรับกระบวนยุทธ์กันยกใหญ่

จนเริ่มมีข่าว กำลังมีพรรคเล็กบางพรรค คุยกันแล้วถึงความเป็นไปได้ในการรวมพรรคกันของ พรรคการเมืองขนาดเล็ก-พรรคตั้งใหม่ เพื่อสู้ในกติกาบัตรสองใบต่อไป เพราะเห็นชัด ระบบบัตรสองใบ ทำให้พรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่-พรรคที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายขั้วคุมอำนาจรัฐ บักโกรกแน่นอน เพราะจะมีต้นทุนการทำพรรค-การส่งคนลงเลือกตั้ง-ต้นทุนการหาเสียงเลือกตั้ง เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว จนบางพรรคอาจเตรียมกระสุนดินดำไม่ทัน ยิ่งหากมีการยุบสภาฯกลางคัน ยิ่งจบเห่ อาจเตรียมตัวไม่ทัน ทำให้หลังจากนี้ จะเริ่มเห็น การดิ้นหนีตายของพรรคการเมืองขนาดเล็กและพรรคตั้งใหม่บางพรรคเพื่อรับมือบัตรสองใบ บนการตัดสินใจว่า จะไปต่อหรือยกธงขาว

แม้แต่กับบางพรรคการเมืองตั้งใหม่ที่บางพรรคตั้งมาแล้ว ไม่มีกระแสตอบรับ ไม่มีนายทุนเข้ามาสนับสนุน แล้วยิ่งมาเจอระบบบัตรสองใบ เข้าไปอีก เชื่อว่า พรรคเล็กบางพรรคในสภาฯเวลานี้รวมถึงพรรคตั้งใหม่บางพรรค คนตั้งพรรค อาจเริ่มใจฝ่อ ไม่อยากไปต่อ จนอาจคิดสลายตัวไปแบบเงียบๆ 

ไม่เว้นแม้แต่ พรรคของอดีตคีย์แมนการเมืองอย่าง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของสุเทพ เทือกสุบรรณ-พรรคชาติพัฒนาของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ-พรรคประชาชาติของวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง-พรรคเพื่อชาติของยงยุทธ ติยะไพรัช และพรรคเล็กของคนดัง อาทิ พลังท้องถิ่นไทของชัช เตาปูน

แกนนำพรรคเหล่านี้ ยังไงต้องเริ่มคิดหนักแล้วว่า จะเอาไงต่อ เพราะหากกัดฟันลุยทำพรรคต่อ ถ้าลงเลือกตั้งแล้วหมดไปเยอะ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะไปจับขั้วผิด หรือเป็นพรรคเล็กกลับมาอีกรอบ ได้เสียงแค่ราวๆ 5-10เสียง จนไม่มีใครชวนไปร่วมรัฐบาล พวกแกนนำพรรคเล็ก ก็คงคิดหนัก หากทำต่อแล้ว กระเป๋าฉีก ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แถมต้องเป็นฝ่ายค้าน

ด้วยสถานการณ์ที่แลเห็นข้างหน้า แกนนำพรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ ล้วนไม่อยากกระเป๋าฉีกแน่นอน

การดิ้นหนีตาย ด้วยการรวมพรรคเล็กด้วยกันเอง หรือไม่ก็หยุดไม่ทำพรรคต่อ แล้วไปอยู่กับพรรคใหญ่ จะได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องควัก อาจได้เห็นจากพรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ หลายพรรคต่อจากนี้

…………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img