วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSดัน“สงครามยาเสพติด”วาระแห่งชาติ หลังเกิด‘โศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ดัน“สงครามยาเสพติด”วาระแห่งชาติ หลังเกิด‘โศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู’

กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุ “โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู” ก็คือ เสียงเรียกร้อง-เร่งรัดให้รัฐบาล ให้ความสำคัญกับ การแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” ให้มากขึ้น

หลังพบว่า ราคายาบ้าในตลาดมืดตอนนี้ ราคาถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูปบางยี่ห้อ จนเด็ก-เยาวชน และคนที่ติดยาเสพติด สามารถหาซื้อมาเสพได้ง่าย เพราะแม้ผู้ก่อเหตุ “โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู” จะเป็นตำรวจ แต่ก็พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า มันก็คืออีกหนึ่งผลพวงของปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน

จนเกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศทำ “สงครามกับยาเสพติด” ให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หรือเป็น “วาระแห่งชาติ” กันไปเลย

ซึ่งว่าไปแล้วข้อเป็นห่วง-ข้อเรียกร้องในเรื่อง “ปัญหายาเสพติด” หากตัดเรื่องประเด็นการเมืองออกไป คือไม่ได้ตั้งแง่ว่า คนที่พูดเป็นคนจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือเป็นนักการเมือง แต่เอาเนื้อหาที่เสนอแนะมาพิจารณา ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะรับฟังไว้ไม่ใช่น้อย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา ปัญหายาเสพติด มีคนเตือนรัฐบาลเรื่องนี้นานแล้ว ว่าให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหายาบ้าระบาด ให้มากขึ้น แม้จริงอยู่ว่า ผลการผ่าชันสูตรศพของ “ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ” อดีตตำรวจ สภ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ที่ก่อเหตุดังกล่าว ผลออกมาพบว่า ไม่พบสารเสพติดในร่างกายของส.ต.อ.ปัญญา แต่อย่างใด ที่ก็แสดงว่า ส.ต.อ.ปัญญาไม่ได้มีอาการจากการเสพยาบ้า จนไปก่อเหตุเศร้าสลด

กระนั้น มีการมองกันว่า เมื่อต้นเหตุของความเครียดที่ส.ต.อ.ปัญญาต้องเจอ เพราะถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองยาบ้าไว้เพื่อการเสพ จนก่อเหตุดังกล่าวขึ้น มันก็สะท้อนว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งควรต้องเป็นฝ่ายสอบสวน ดำเนินคดี จับกุมและปราบปรามยาเสพติด แต่กลับกลายเป็นผู้เสพเสียเอง มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหายาเสพติด ขณะนี้รุนแรงไม่ใช่น้อย จนเกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลทำสงครามยาเสพติด ด้วยการยกระดับการควบคุม-สอบสวน-ปราบปราม มากขึ้น

คำถามก็คือ แล้วฝ่ายภาครัฐ ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่กำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย – สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กำกับดูแล สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด – พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตลอดจนผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปราบปรามยาเสพติด จะมีท่าทีอย่างไร ?

เพราะในแง่ของการเข้มงวด-กวดขันการปราบปรามยาเสพติด แน่นอนว่า ทุกฝ่ายสนับสนุนแน่นอน และรัฐบาลก็ต้องยืนกรานว่า ที่ผ่านมาได้ทำเต็มที่แล้ว พร้อมกับจะต้องมีการโชว์สถิติการจับกุม ทั้งของกลางยาเสพติดและการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ค้ารายเล็ก-รายย่อยและรายใหญ่ รวมถึงการนำตัวผู้เสพเข้ารับการรักษา เพียงแต่ว่า พอพูดถึง “สงครามยาเสพติด” ก็อาจทำให้ “คนในรัฐบาล” และ “ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” อาจมีสะดุ้งเล็กน้อย และคงต้องคิดหนัก หากจะประกาศเรื่องนี้ออกมาแบบเป็นทางการ

เพราะพล.อ.ประยุทธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ต้องการ “ส่งสัญญาณผิด” ไปยังหน่วยต่างๆ จนเกิดปัญหาตามมา

ด้วยต้องไม่ลืมว่า คำว่า สงครามยาเสพติด เคยเป็นเรื่องที่ หลายคนเคยจดจำได้ว่า เป็นหนึ่งในนโยบายที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เคยประกาศออกมาตอนช่วงเป็นนายกฯรอบแรก โดยมีการประกาศทำสงครามกับยาเสพติดช่วง ก.พ. 2546 โดยขีดเส้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการกวาดล้างยาเสพติดแบบเด็ดขาดภายในสามเดือน จนหลายหน่วยงานโดยเฉพาะ ตำรวจ มีการกวดขันจับกุมผู้ผลิต-ผู้ค้า-ผู้เสพ กันในช่วงดังกล่าวจำนวนมาก ได้ของกลางมาเผาทำลายมากมาย  อันเป็นเรื่องที่หลายคนต่างชื่นชม ที่เห็นการเอาจริงเอาจังของภาครัฐ และความเด็ดขาดของทักษิณ ในเวลานั้น

แต่ต่อมา ข้อมูลอีกด้านก็ปรากฏ เพราะมีข่าวทำนอง มีการลัดขั้นตอน กระบวนการยุติธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการสืบสวนสอบสวน การส่งฟ้องดำเนินคดีตามขั้นตอนจากตำรวจไปอัยการและศาลยุติธรรม จนเกิดข้อร้องเรียนเรื่อง “ฆ่าตัดตอน” เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐในบางพื้นที่ เกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติดด้วย แล้วก็มีการปิดปาก-ตัดตอน ไม่ให้โยงมาถึงตัวเองในช่วงการทำสงครามยาเสพติด

โดยช่วงนั้น มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีการฆ่าตัดตอนร่วมสองพันกว่าคดี มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสองพันคน จนทำให้ “ทักษิณ” เสียหน้าอย่างมาก และเริ่มมีหลายฝ่ายพยายามเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน – กรรมาธิการหลายชุดของวุฒิสภา ยุคปี 2543 – เอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ แต่เนื่องจากช่วงดังกล่าว กระแสทักษิณฟีเวอร์แรงมากและช่วงนั้นรัฐบาลทักษิณมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้การพยายามตรวจสอบนโยบายสงครามยาเสพติด เลยเกิดขึ้นได้ยาก

จนต่อมาหลังมีการรัฐประหาร คมช. 19 ก.ย. 2549 และมีการตั้งรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาพล.อ.สุรยุทธ์ ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน” หรือ “คตน.” โดยมี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ตรวจสอบย้อนหลังเรื่องนโยบายสงครามยาเสพติดสมัยรัฐบาลไทยรักไทย

โดยต่อมา มีการรายงานข่าวว่า จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของ คตน.พบว่า การเสียชีวิต 2,500 ศพในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.2546 พบว่า 1,400 ศพ เป็นการเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีเพียง 1,100 ศพเท่านั้น ที่ผู้ตายมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการเสียชีวิตเกิดขึ้นมากในช่วงเดือน ก.พ.และค่อยๆ ลดลงในเดือน มี.ค.และเม.ย. เนื่องจากในช่วงแรกที่มีการประกาศนโยบายขาดความชัดเจน จึงทำให้มีการสื่อความหมายในทางที่ผิด เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติคิดว่าทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ผลตามข้อสั่งการ เลยไปลดเป้านักค้ายาเสพติดให้ได้ตามกำหนด

สิ่งที่เกิดขึ้น พรรคเพื่อไทย เองก็รู้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว เกิดจากการส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนจากรัฐบาลทักษิณในเวลานั้น จนทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ที่ต้องการผลงาน เลยอาจกระทำการบางอย่างนอกลู่นอกทาง ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “เพื่อไทย” ออกมาประกาศว่า พร้อมจะปัดฝุ่นนโยบาย “สงครามยาเสพติด” หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู แต่ “เพื่อไทย” ก็ออกตัวว่า หากทำสงครามรอบใหม่ จะแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต

“ยาเสพติด บ่อนทำลายประเทศ พรรคเพื่อไทยจึงขอประกาศฟื้นนโยบาย ทำสงครามกับยาเสพติด ยินดีที่จะปรับปรุง แก้ไข ข้อบกพร่องในอดีต เพื่อขจัดยาเสพติดให้สิ้นไปจากสังคมไทย” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 7 ต.ค.2565

จุดนี้ ก็ต้องรอดูกันว่า กระแสตื่นตัว เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศทำสงครามยาเสพติด ทางพล.อ.ประยุทธ์จะเด้งรับมาก-น้อยแค่ไหน จะรับมาประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องเร่งด่วน หรือจะบอกแค่ว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เอาจริงเอาจังอยู่แล้ว โดยไม่ส่งสัญญาณใดๆ ออกมา เพราะเกรงจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองตามมา

โดยเฉพาะหากสุดท้าย ถ้านายกฯประกาศไป แล้วเกิดปัญหาตามมาภายหลัง แบบเดียวกับที่เคยเกิดสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ก็อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์อาจลงจากการเมืองไม่สวย หลังเหลือเทอมการเป็นนายกฯอีกแค่ไม่เกินสองปี เลยอาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะไม่ส่งสัญญาณอะไรออกมาเป็นพิเศษ และบอกแค่ว่า ก็จะสั่งให้มีการเข้มงวดกวดขันมากขัน เท่านี้พอ

เพราะเมื่อ 27 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้แค่ไม่กี่วัน “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ก็เพิ่งแถลงข่าว “ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2565” โดยโชว์เนื้องานว่า หลังจากรัฐบาลแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 24 ฉบับ มาเป็นฉบับเดียว คือ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลบังคับใช้ 9 ธ.ค. 2564 ทำให้ปีนี้  2565 สามารถยึดและอายัดทรัพย์ของเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดได้ถึง 10,820 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายยึดทรัพย์จากการค้ายาเสพติดไว้ที่ 1 แสนล้านบาท เพราะเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ทำให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยตรวจสอบมากขึ้น

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศทำสงครามกับยาเสพติดอย่างเป็นทางการหรือไม่ หรือจะทำเพียงแค่ยกระดับการคุมเข้ม-กวาดล้าง-จับกุม…ให้มากขึ้นตามระบบปัจจุบัน แต่แน่นอนว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ ต้องการเห็นปัญหายาเสพติด ได้รับการแก้ไขทั้งระบบมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ดีกว่าที่จะต้องมานั่งถอดบทเรียนกันเรื่อยไป หลังเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น เพราะความสูญเสียแต่ละครั้ง โดยเฉพาะล่าสุดกับเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู มันหนักหนาสาหัสจริงๆ สำหรับหัวอกคนไทยทั้งประเทศ

………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย…. “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img