วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจบเอเปค“บิ๊กตู่”เรตติ้งพุ่ง ตรวจปมร้อนการเมืองที่รออยู่  
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จบเอเปค“บิ๊กตู่”เรตติ้งพุ่ง ตรวจปมร้อนการเมืองที่รออยู่  

รูดม่านปิดฉากไปแล้ว สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา งานนี้ เรียกได้ว่า “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี โกยแต้ม-ได้เครดิตไปเต็มๆ กับการเตรียมการประชุมเอเปค ที่ภาพรวมออกมาเรียบร้อย เข้าเป้าตามที่รัฐบาลวางไว้

แม้จะมี “ม็อบป่วนหยุดเอเปค” เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่มีการเผชิญหน้าระหว่าง ตำรวจ กับ กลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณถนนดินสอ จนมีการจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วน โดยแกนนำม็อบโวยว่า ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการใช้ “กระสุนยาง” กับผู้ชุมนุม แต่ภาพรวม…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการประชุมเอเปคเท่าใดนัก

เหตุผลเพราะส่วนใหญ่คนก็รู้อยู่แล้วว่า กลุ่มม็อบที่เคลื่อนไหวครั้งนี้ทั้ง “หน้าฉาก-หลังฉาก” ต้องการให้เกิดเหตุ-มีภาพ การเผชิญหน้าแบบนี้อยู่แล้ว เพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ทำให้ดูเหมือนกระแสโจมตีรัฐบาลว่า ทำเกินเหตุ เลยไม่ค่อยดังเท่าไหร่ จะมีก็แต่นักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่ใช้จังหวะนี้ ออกมาอัดรัฐบาล แต่ก็เป็นเสียงที่ไม่ดังเท่าไหร่

เมื่อจบเอเปคไปแล้ว ในทางการเมืองต่อจากนี้ มีหลายปมร้อนการเมืองที่ต้องติดตาม นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ไล่ตั้งแต่ ที่หลายคนรอกันก็คือ การตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้ เมื่อจบเอเปคไปแล้ว โดยการจัดงานราบรื่นดี รัฐบาลและตัวนายกฯได้เรตติ้ง-กระแสนิยมในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ “ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำประเทศ” ทำให้หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ผ่อนคลายการเมืองได้เยอะแล้ว และต่อจากนี้ คงต้องตัดสินใจได้ว่า จะเลือกอนาคตทางการเมืองอย่างไร???

ที่ดูจังหวะการเมืองต่างๆ แล้วเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เลือกจะเล่นการเมืองต่อแน่นอน เพียงแต่จะเดินบนถนนนี้อย่างไร จะอยู่ “พลังประชารัฐ” เพื่อผนึกกำลัง “3 ป.” ให้เหนียวแน่น หรือจะไป “รวมไทยสร้างชาติ” อย่างที่มีกระแสข่าว ซึ่งกระแสข่าวการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ ยังสวิงไปสวิงมาหลายรอบ

เดิมทีข่าวว่า “บิ๊กตู่” แยกทาง “พี่ป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติแน่นอน แต่พบว่าก่อนหน้าประชุมเอเปค ข่าวออกมาอีกทางว่า พล.อ.ประยุทธ์เคลียร์ใจกับพี่ป้อมได้แล้ว แนวโน้มปักหลักที่พลังประชารัฐ แต่ก็ให้รวมไทยสร้างชาติ เป็นฐานสำรอง เผื่อเหลือเผื่อขาดในอนาคต อาจจะไปอยู่ภายหลัง

ทำให้เมื่อจบเอเปคแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ซึ่งการตัดสินใจตรงนี้ จะมีผลต่อเรื่อง การยุบสภาฯ ด้วยตามมา ว่าสุดท้ายจะยุบหรือไม่ยุบ และหากจะยุบสภาฯ จะยุบช่วงไหน

ที่คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์กว่าจะตัดสินใจและเปิดเผยเส้นทางตรงนี้ ก็น่าจะอาจไปถึงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเลยก็ได้

เพราะหากไม่ยุบสภาฯ แล้วจะดันให้รัฐบาลอยู่ครบสี่ปี ก็อาจไปตัดสินใจกันหลังม.ค. 2566 ก็ยังทัน เพราะหากไม่ยุบสภาฯ กว่าจะเลือกตั้งก็ 7 พ.ค.2566 ทำให้มีเวลาในการเตรียมตัวอยู่

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามเรื่อง การปรับคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจนำชื่อ “นริศ ขำนุรักษ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ ทูลเกล้าฯขึ้นเป็น “รมช.มหาดไทย” ในเร็วๆนี้ หลังจากยื้อไว้อยู่ร่วมเดือน ส่วนอีกสองตำแหน่งที่ว่าง ดูแล้วแนวโน้ม พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ตั้งคนไปเป็นรัฐมนตรีก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม เว้นแต่ พล.อ.ประวิตรจะขอมา เพื่อขอให้ตั้งแกนนำพลังประชารัฐ บางส่วนได้เป็นรัฐมนตรีเพื่อซื้อใจไม่ให้ย้ายพรรค

ขณะเดียวกัน ต้องติตดามกันให้ดีกับ ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องคดีร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ ที่ศาลมีคิวตัดสินลงมติสองสัปดาห์ติดต่อกัน

เริ่มที่ ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับคณะ ร่วมกันเข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ที่มีการปรับลดค่าธรรมเนียมกับค่าบำรุงพรรคการเมืองของสมาชิกพรรค และประเด็นเรื่องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การทำไพรมารีโหวตฯ โดยศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 23 พ.ย.นี้

จากนั้น สัปดาห์ถัดไป ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องคดีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล กับพวก ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง สูตร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ศาลนัดอ่านคำตัดสิน 30 พ.ย.นี้

โดยในส่วนของร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ดูแล้วอาจไม่ค่อยน่าตื่นเต้น มีอะไรให้ลุ้นมากนัก แต่ที่ต้องลุ้นคือ ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ซึ่งหากศาลไฟเขียว ไม่มีปัญหาอะไร พล.อ.ประยุทธ์ก็เตรียมนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ร่างดังกล่าวมีปัญหา คราวนี้ก็จะเกิดปัญหาชุลมุนการเมืองได้ รัฐสภาต้องมาดูว่าจะแก้ไขปรับเปลี่ยนอย่างไร ให้ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งหากสุดท้าย ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ผ่านฉลุย จนมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก็จะทำให้ มี “กฎหมายลูก” รองรับการเลือกตั้งแล้ว นายกฯก็สามารถยุบสภาฯได้เมื่อไหร่ก็ได้ และต่อจากนั้น จะเกิดแรงกระเพื่อมการเมืองต่างๆ ตามมา เช่น “การควบรวมพรรคการเมืองเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งรับมือกับสูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์” ของบรรดาพรรคใหม่-พรรคเล็ก ที่ไปต่อไม่ไหว รวมถึงการย้ายพรรคของนักการเมืองต่างๆ จะชัดเจนมากขึ้น

ส่วนปมร้อนการเมืองเรื่องสุดท้ายที่ต้องติดตามก็คือ “ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ” ที่มีคิวการเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เบื้องต้นพุธที่ 7 ธ.ค. เว้นแต่ “ภูมิใจไทย” จะขอให้มีการพิจารณาให้เร็วขึ้น

พบว่า ท่าทีของ “ประชาธิปัตย์” ยังคงเสียงแข็งยืนกรานไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.กัญชาฯอยู่ ชนิดการ์ดไม่มีตก ขณะที่ “ภูมิใจไทยก็ออกมาฟัดกับประชาธิปัตย์” อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เรียกได้ว่า ทั้งสองพรรคร่วมรัฐบาล ต่างก็พร้อมชนกันเต็มที่ หากถึงคิวสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายกัญชาฯเมื่อใด

ทำให้ร่างพรบ.กัญชาฯ คงทำให้เกิดชนวนร้าวการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นแน่นอน แต่จะถึงขั้นแตกหัก จนเกิดแรงกระเพื่อมภายในรัฐบาลหรือไม่ ประเมินดูแล้ว ทั้งสองพรรค ยังไงก็ขออยู่เป็นรัฐบาลต่อไป แต่คงทำให้มองหน้ากันไม่ติดในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล

จบเอเปคแล้ว การเมืองโดยภาพรวม คงกลับมาคึกคักอีกครั้ง กับปมร้อนต่างๆ ข้างต้น ที่แต่ละปม ล้วนมีความเชื่อมโยงถึงกัน แบบมีนัยยะสำคัญทางการเมืองด้วยกันทั้งหมด

………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img