วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโดมิโนการเมือง-เลือกตั้ง หาก 100 หาร “ฉลุย”หรือ“สะดุด”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โดมิโนการเมือง-เลือกตั้ง หาก 100 หาร “ฉลุย”หรือ“สะดุด”

กลางสัปดาห์หน้านี้คือวันพุธที่ 30 พ.ย. คนการเมือง ต่างจับจ้องติดตามผล คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้อง “คดีร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส.ฯ” ที่พบว่า สุ้มเสียงนักการเมืองในรัฐสภา โดยเฉพาะจากส.ส.พรรคใหญ่ และสมาชิกวุฒิสภา อีกบางส่วน…ดูจะเชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ น่าจะผ่านฉลุย

บนความเชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ที่เป็นกฎหมายลูกฉบับที่สอง ที่แก้ไขเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งฯ สุดท้ายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะไฟเขียวมีมติให้ผ่านไปได้ เช่นเดียวกับ ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ว่าร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

หากพุธที่ 30 พ.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ที่มีประเด็นสำคัญคือ “หาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนต่อจากนั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลคำวินิจฉัย ทั้งร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. มาให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา จากนั้น ประธานรัฐสภาก็นำร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ส่งไปให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

หลังจากได้รับร่างฯแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องเก็บร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไว้ห้าวัน เพื่อรอว่า จะมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกหรือไม่ ซึ่งฟันธงได้ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ คงไม่มีใครยื่นให้ตีความรอบสองอีกแล้ว ทำให้พอครบห้าวันหลังได้รับร่าง นายกฯก็นำร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย

จากนั้นก็รอการโปรดเกล้าฯลงมา เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ คือมีการบังคับใช้กฎหมายลูกทั้งสองฉบับแล้ว หากสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่า สมควรที่จะมีการยุบสภาฯ ไม่รอให้ครบเทอมสี่ปี นายกฯก็ยุบสภาฯได้แล้ว เพราะมีกฎหมายลูกรองรับ หรือจะลากยาวรัฐบาลให้ครบเทอมสี่ปี ก็ได้เช่นกัน

โดยคาดว่า หากกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมาได้ และมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อใด เสียงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาฯ จะดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน

แต่หากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอีกทาง คือ ศาลเห็นว่าร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ โดยเฉพาะเรื่องหาร 100 มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในมาตรา 93 และ 94 ถ้าออกมาแบบนี้ สมาชิกรัฐสภาก็ต้องมาหาทางออกว่าจะแก้ไขอย่างไร

โดยกระบวนการแก้ไข จะต้องดูจากลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ศาลระบุว่าร่างดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เป็นการขัดแบบไหน ขัดในสาระสำคัญจนทำให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับหรือไม่  หรือว่าขัดแค่บางประเด็นที่สมาชิกรัฐสภา สามารถไปแก้ไขให้ถูกต้องได้ภายในเวลาที่มีอยู่ ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลชี้ว่า ให้ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ตกไป แบบนี้ก็เรื่องใหญ่ ทางส.ส.และพรรคการเมือง ที่มีส.ส.ในสภาฯ ต้องมาตกลงร่วมกันว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการเลือกตั้งฯได้ทันเวลา

ทั้งหมด อยู่ที่ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากศาลตัดสินว่า ร่างดังกล่าว ไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็จบเลย “การเมือง-การเลือกตั้ง” ก็จะยิ่งเข้าสู่โหมดเข้มข้นมากขึ้น เพราะเท่ากับกติกาเลือกตั้ง เตรียมจะออกมาแล้ว

แต่หากศาลชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญ รับรองได้ว่า ส.ส.ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน หัวหมุนแน่นอน โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” ที่หวังจะชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพราะหากหาร 100 ไปต่อไม่ได้ จนต้องกลับไปใช้หาร 500 และระบบส.ส.พึงมี ซึ่งระบบนี้ หากนำมาใช้ จะทำให้จำนวนที่นั่งส.ส.เพื่อไทย ในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ จะหายไปทันทีอย่างน้อยๆ ขั้นต่ำก็ 25-30 เสียง ทำให้ “เพื่อไทย” ยากจะแลนด์สไลด์ได้ แต่ฝ่ายที่แฮปปี้คือพวกพรรคขนาดกลาง-เล็ก ที่จะได้เกิด ได้มีโอกาสลุ้นมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาฯ

ผลจะออกมาอย่างไร รอลุ้นกันพุธ 30 พ.ย.นี้ บนแต้มต่อที่แวดวงการเมือง ดูจะเทน้ำหนัก ให้โอกาสที่หาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์จะฉลุย มีความเป็นไปได้สูงกว่า ที่จะโดน “คว่ำกระดาน” จากศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ พบว่า กลุ่มผู้ร้องที่นำโดย   “นพ.ระวี มาศฉมาดล” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ทางผู้ร้องได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยสองประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 ระบบการคิดคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ให้ใช้ระบบ 100 หาร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94 หรือไม่

โดยผู้ร้องเห็นว่า รัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราดังกล่าว บัญญํติให้มีส.ส.พึงมี แต่ในร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ดังกล่าว ที่เป็นร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ใช้หาร 100 โดยไม่มีเรื่องของส.ส.พึงมี ที่เกิดจากการคิดคำนวณจำนวนที่นั่งส.ส.ของพรรคการเมือง ฝ่ายผู้ร้องจึงเห็นว่า ระบบหาร 100 เป็นการยกเลิกเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญในสามเรื่องสำคัญคือ ส.ส.พึงมี-ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งต้องไม่ตกน้ำ-ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่ระบบหาร 100 ทำลายทั้งสามหลักการดังกล่าว

ประเด็นที่สองที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ไม่ถูกต้อง

เพราะในช่วงที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ในวาระสอง ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งของรัฐสภาที่มี “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน ทางที่ประชุมรัฐสภา ได้พิจรณาเรียงรายมาตรา ตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตรา 23 โดยในมาตรา 23 ฝ่าย “หมอระวี” ได้เคลื่อนไหว จนทำให้ เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา โหวตให้เป็นหาร 500 จากเดิมที่ร่างของกรรมาธิการเป็นหาร 100 ซึ่งตามหลัก กระบวนการต่อจากนั้น จะต้องมีการพิจารณามาตราในลำดับถัดไป คือตั้งแต่มาตรา 24 ไปจนจบทั้งฉบับ แล้วตามด้วยการโหวตวาระสาม ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ปรากฏว่า ต่อมาการประชุมรัฐสภา เพื่อกลับมาพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ตั้งแต่มาตรา 24 เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะองค์ประชุมล่มถึงสี่ครั้งติดต่อกัน ทำให้เลยเวลา 180 วัน ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ

ซึ่งสุดท้าย รัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จ เมื่อเลย 180 วันมา กฎหมายบัญญัติว่า ต้องใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามาที่เป็นร่างหลักในตอนที่รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบวาระแรก ก็เลยทำให้ มีการใช้ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ที่ผ่านวาระแรกมาแทนร่างของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งร่างดังกล่าวก็คือร่างของกกต. ให้ใช้ 100 หารปาร์ตี้ลิสต์

ทำให้ฝ่ายผู้ร้องยื่นให้ศาลวินิจฉัยว่า มีกระบวนการที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในรัฐสภา เพื่อทำให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ แล้วเสร็จไม่ทัน ซึ่งหากปล่อยให้มีการกระทำเช่นนี้ จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติในอนาคตได้ จึงขอให้ศาลวินิจฉัยว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

พบว่า จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายผู้ร้องคือ “นพ.ระวี” จากพรรคพลังธรรมใหม่ ยังมั่นใจว่า มีโอกาสลุ้น 50-50 ที่หาร 100 จะโดนคว่ำก็ได้ แต่ฝ่ายกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯของรัฐสภาที่เป็นกรรมาธิการเสียงข้างมากและหนุนสูตรหาร 100 เช่น “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” จากพรรคประชาธิปัตย์-“นิกร จำนง” จากชาติไทยพัฒนา ก็มั่นใจว่า จะผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้แบบเดียวกับร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองแน่นอน

ส่วนผลจะออกมาแบบไหน ฝ่ายเชียร์หาร 100 จะได้เฮ หรือฝ่ายเชียร์หาร 500 จะหัวเราะทีหลังดังกว่า ก็ต้องรอลุ้นกัน 30 พ.ย.นี้

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า แม้คำร้องคดีนี้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะไม่กดดัน เหมือนการพิจารณาคำร้องคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น คดี 8 ปีพล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งคำร้อง ที่ข่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ถกกันหนักพอสมควร ก่อนจะลงมติชี้ขาดกันวันพุธที่จะถึงนี้

…………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img