วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSหลายพรรคการเมืองดิ้นสู้สูตรหาร 100 ดีล“2 ส.”ควบรวมพรรคใกล้รู้ผล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หลายพรรคการเมืองดิ้นสู้สูตรหาร 100 ดีล“2 ส.”ควบรวมพรรคใกล้รู้ผล

ผลพวงการเมืองหลังจากจะมีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.” ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งรอบหน้า จะเป็นการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ หาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ มีส.ส.ระบบเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน

ระบบนี้ก็คือระบบเลือกตั้งแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และ 2548 ที่ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร-ไทยรักไทย” เกิดและเติบโตจนมาเป็น “เพื่อไทย” ในปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่ “ทักษิณกับเพื่อไทย” จะเชียร์ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ฉบับนี้อย่างมาก เพราะมั่นใจว่า เข้าทาง “เพื่อไทย” มากที่สุดในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจนทำให้ฝัน “แลนด์สไลด์” น่าจะเกิดขึ้นจริง หรือไม่ก็ใกล้เคียงระดับแตะขั้นต่ำ 220 เสียง เหตุเพราะปัจจุบัน ฐานเสียงเพื่อไทย ก็ถูก “พรรคก้าวไกล” แย่งชิงไปได้จำนวนมาก นั่นเอง

แต่สิ่งที่น่าจับตาก็คือ อนาคตการเมืองของ พรรคการเมืองขนาดกลางถึงเล็ก รวมถึง “พรรคตั้งใหม่” อีกหลายพรรค ที่ดูแล้ว ระบบหาร 100 ทำให้หืดขึ้นคอแน่นอน โดยเฉพาะพวกที่เคยได้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากตอนเลือกตั้งปี 2562 จนมีที่นั่งในสภาฯ แต่เมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากตอนปี 2562 ที่ตอนนั้น ใช้บัตรใบเดียว-ระบบส.ส.พึงมี อีกทั้งมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 150 เก้าอี้ แต่มารอบนี้เหลือแค่ 100 ที่นั่ง เท่ากับหายไปถึง 1ใน 3 ทำให้นับจากนี้ หลายพรรคการเมือง จะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองการเลือกตั้งของตัวเองให้สอดรับกับกติกาที่เปลี่ยนแปลงไป หลังความหวังที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญล้มหาร 100 เอาหาร 500 กลับคืนมา…ไม่สำเร็จ

แต่ข่าวที่ได้ยินมา ก็คือ หลายพรรคการเมือง ยังยืนกรานที่จะสู้ต่อ แม้ต่อให้รู้ว่า มีโอกาสจะไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว หรือจะได้น้อยลงมาก เพราะฐานคะแนนจะเพิ่มจากตอนปี 2562 ที่อยู่ที่ 71,000 คะแนนต่อส.ส.หนึ่งคน และยังมีการปัดเศษ แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น มีการประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 350,000-370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน และยิ่งคนออกมาใช้สิทธิ์กันมาก ฐานคะแนนก็จะยิ่งมากขึ้นไปกว่านี้อีก

ทำให้ พรรคเล็กๆ ทั้งหลาย จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หายไปแน่นอน โดยเฉพาะบางพรรคอาจไม่ได้เลยก็ได้

โดยการสู้ต่อก็คือ จะยอมวัดดวง ลงทำศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้น แล้วหากไปต่อไม่ไหวจริงๆ เช่นได้ส.ส.มาแค่ 1-2 คน หรือไม่ได้เลย แต่ยังพอมีฐานเสียง และคนในพรรคยังเป็นที่รู้จักในตลาดการเมือง ไปคุยกับพรรคที่ใหญ่กว่าได้ ก็อาจจะใช้วิธี “ยุบพรรค-ควบรวมพรรค” ตามรอย “พรรคไพบูลย์โมเดล”

ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า ทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ยุบพรรคประชาปฏิรูป ไปอยู่กับพลังประชารัฐจนถึงทุกวันนี้ จนต่อมามีการเลียนแบบเอาบ้าง เช่นกรณี “พิเชษฐ์ สถิรชวาล” ที่ยุบพรรคประชาธรรมไทย ไปอยู่กับพลังประชารัฐจนถึงปัจจุบัน

อย่างพรรคเล็กหรือพรรคตั้งใหม่ บางพรรคที่สเกลการเมือง ไม่ได้เป็นพรรคที่จะกลายเป็นพรรคใหญ่ได้ ข่าวว่าอาจตัดสินใจ จะใช้สูตรนี้ คือ “ลุยไปก่อน แล้วหลังเลือกตั้งค่อยมาว่ากัน ว่าไปไหวหรือไม่ไหว” เช่น “ไทยภักดี” ที่มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นหัวหน้าพรรค และมี ถาวร เสนเนียม เป็นแกนนำพรรค ที่พบว่า ก่อนหน้านี้ หมอวรงค์ ยืนยันว่าจะทำพรรคไทยภักดีต่อไป แม้กติกาเลือกตั้งจะออกมาแบบไหนก็ตาม ซึ่งหลายคนก็มองว่า อนาคตของพรรคไทยภักดี ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อยเพราะดูแล้ว โอกาสที่จะได้ส.ส.เขต…น่าจะยาก หากจะได้ก็แค่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แต่ก็อาจจะได้ไม่มาก อาจได้ส.ส.สัก 1-2 คน ก็ถือว่าเก่งแล้ว

นพ.ระวี มาศมาดล / cr : FB นพ.ระวี มาศมาดล

หรือ “พรรคพลังธรรมใหม่” ของ นพ.ระวี มาศฉมาลดล ที่เป็นแกนนำในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อล้มหาร 100 แต่ไม่สำเร็จ ทางหมอระวี ก็ยืนยันว่าจะเข็นพรรคพลังธรรมใหม่ต่อไป แม้รู้ดีว่า หืดขึ้นคอ เพราะเลือกตั้งรอบที่แล้ว พรรคได้คะแนนแค่หลักหมื่น และไม่มีส.ส.เขต โดยมีข่าวว่า มีหลายพรรคการเมืองมาจีบให้หมอระวีที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้ไปอยู่ด้วย เช่นพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ แต่เจ้าตัวยืนกราน ขอเข็นพรรคลุยก่อน หลังเลือกตั้งค่อยประเมินอีกที

และยังมีอีกบางพรรคที่น่าสนใจจะไปต่ออย่างไรเช่น “พรรครวมพลัง” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ หรือที่คนเรียกกัน “พรรคสุเทพ” เพราะมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวเรือใหญ่อยู่ข้างหลัง

อย่างไรก็ตาม ข่าวว่า ระยะหลัง “สุเทพ” ถอยห่างจากพรรครวมพลังมานานแล้ว และจะเตรียมไปช่วยลุ้น พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ลูกเลี้ยงเป็นเลขาธิการพรรคมากกว่า แต่ที่สุเทพยังไปไม่ได้ตอนนี้ และอาจต้องอยู่กับ “รวมพลัง” ไปก่อน ก็เพราะเกรงใจ เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ พี่ชาย ดร.เอนก ที่เป็นนายทุนใหญ่ของพรรครวมพลังมาตลอด ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งปี 2562 แต่สถานการณ์พรรคตอนนี้ ก็ไม่ค่อยสู้ดี เพราะแน่ชัดว่า จะมี ส.ส. พรรครวมพลัง ออกไปอยู่ที่อื่น ที่ตอนนี้ที่แน่นอนแล้วก็คือ “สุพล จุลใส” ส.ส.ชุมพร ที่เป็นส.ส.เขต เพียงคนเดียวของพรรค ที่จะไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ รวมถึง “อนุสรี ทับสุวรรณ” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ นายทุนคนสำคัญของพรรคอีกหนึ่งคนที่จะย้ายไปภูมิใจไทย

ผนวกกับมีข่าวว่า ดร.เอนกก็เคยเปรยกับคนในพรรคว่า เลือกตั้งรอบหน้า อาจขอวางมือ ยังไงคงไม่ให้พรรคเข็นลงเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรค เลยทำให้ดูแล้ว มีแนวโน้ม “พรรครวมพลัง” คงไปต่อยาก เพราะไม่มีจุดขายอะไรในทางการเมือง โอกาสได้ส.ส.เขต แทบจะไม่มี ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ก็ยิ่งยาก อาจได้เต็มที่ก็แค่ 1-2 คน จากที่เคยได้สี่คน

ทำให้ พรรครวมพลังน่าจะมีการตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อไป ในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ก่อนหน้านี้ คนในพรรครวมพลัง จะยืนกรานว่า ไม่ยุบพรรคไปรวมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างที่มีกระแสข่าว

แต่ที่แวดวงการเมือง สนใจกันมากเป็นพิเศษ ก็คือ การควบรวมพรรค ระหว่าง “พรรคสร้างอนาคตไทย” ของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับ “พรรคไทยสร้างไทย” ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ข่าวว่า กำลังจะกลับมาพูดคุยเจรจากันอีกรอบ หลังกฎหมายเลือกตั้งหาร 100 ฉลุย หลังก่อนหน้านี้คุยกันหลายรอบแล้ว แต่ไม่ลงตัวเพราะทั้งสองพรรคต่างก็รอความชัดเจนเรื่องกฎหมายเลือกตั้งส.ส.แต่เมื่อตอนนี้ชัดเจนแล้ว คงทำให้การพูดคุยรอบใหม่ ถึงเวลาต้องตัดสินใจแล้วว่า จะควบรวมหรือจะไม่ควบรวม เพราะหากดีลนี้ยืดเยื้อ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการทำศึกเลือกตั้ง

ข่าวว่า ที่ผ่านมา การเจรจากันหลายรอบ มีข้อติดขัดหลายเรื่องทำให้การพูดคุยไม่ลงตัว เช่น เรื่องตัวแคนดิเดตนายกฯ จะให้ใครเป็นเบอร์หนึ่งระหว่าง ดร.สมคิดหรือคุณหญิงสุดารัตน์-ตำแหน่งต่างๆ ในพรรค หากมีการควบรวมกันสำเร็จ เพราะฝ่ายคุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่าหากรวมกันแล้ว หัวหน้าพรรคให้เป็น ดร.อุตตม สาวนายน ได้ แต่เลขาธิการพรรค ก็ต้องเป็น น.ต.ศิธา ทิวารี ที่ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย รวมถึงการจัดวางเรียงลำดับผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่แกนนำทั้งสองพรรค ต่างต้องการให้คนของพรรคตัวเองอยู่อันดับต้นๆ

รวมถึงอีกหลายประเด็นย่อยๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการทำพรรคที่ผ่านมาของทั้งสองพรรค จะเคลียร์กันอย่างไร แต่ที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดก็คือ “การจัดตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งระบบเขต” เพราะหลายพื้นที่ ทั้งสองพรรคต่างก็วางตัวกันไว้พอสมควร มีการไปเปิดตัว-ไปเปิดสาขาพรรค ศูนย์ประสานงานกันหลายจังหวัด หากมาควบรวมกัน ก็ต้องทำให้ ตัวผู้สมัครที่คุยกันไว้แล้วของทั้งสองพรรค จะต้องมีคนผิดหวัง ถูกตัดชื่อออก ก็จะเกิดความไม่พอใจตามมา

โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งน่าจะมีปัญหามากที่สุดก็คือ กรุงเทพมหานคร เพราะทั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ และ สุรนันท์ เวชชาชีวะ ที่ดูแลพื้นที่เลือกตั้งกทม.ของสร้างอนาคตไทย ก็เปิดตัวผู้สมัครส.ส.เขต กทม.กันไปหลายสิบคนแล้ว ทำให้ จะเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนแน่นอน

ทั้งหมดคือ รายละเอียดการเจรจาพูดคุย ระหว่างแกนนำพรรคสร้างอนาคตไทยกับไทยสร้างไทย ที่ต้องนำมาพูดคุยบนโต๊ะการหารือเรื่องการควบรวมพรรค ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เพื่อได้ข้อสรุป ปิดดีลกันให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ลุยเลือกตั้งโดยเร็ว แต่หากคุยกันไม่ลงตัว ก็เป็นไปได้ที่ ดีลนี้ปิดไม่ลง แล้วทั้งสองพรรค ก็ต่างคนต่างเดิน แต่หากหลังเลือกตั้ง ถ้าทั้งสองพรรคไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็ยังอาจเป็นไปได้ ที่อาจจะมารวมพรรคกันหลังเลือกตั้ง  ก็ได้เช่นกัน  

ท่ามกลางข่าวว่า หากสร้างอนาคตไทยกับไทยสร้างไทย คุยกันลงตัว ก็อาจจะปิดดีลภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยอาจจะใช้ชื่อพรรคว่า “พรรคสร้างไทย” ที่คือการนำเอาพยางค์แรกของทั้งสองพรรค มารวมกันนั่นเอง

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง ที่ต้องดิ้นปรับตัว ก่อนทำศึกเลือกตั้ง หลังกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากตอนปี 2562 ซึ่งคาดว่า ยังจะมีอีกหลายพรรค ที่กำลังวางแผนกันอยู่ว่าจะปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะพรรคเล็ก พรรคตั้งใหม่ ที่ตั้งมาแล้ว ไม่มีกระแสตอบรับ  เพราะขืนหากไม่ทำอะไร มีหวังลงเลือกตั้งไป อาจได้ส.ส.กลับมาน้อยลง หรือไม่ก็อาจสูญพันธุ์ ไม่ได้ส.ส.แม้แต่คนเดียว ก็ยังได้!

………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img