วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโผ“ปาร์ตี้ลิสต์”หลายพรรคป่วน!! วิ่งกันฝุ่นตลบ แย่งลำดับ“เลขต้นๆ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โผ“ปาร์ตี้ลิสต์”หลายพรรคป่วน!! วิ่งกันฝุ่นตลบ แย่งลำดับ“เลขต้นๆ”

สยบข่าวลือไปเรียบร้อย สรุปสุดท้าย “อาจารย์แหม่ม-ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ยังไม่ลาออกจาก “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.)

หลังก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวตลอดทั้งวันศุกร์ที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า “นฤมล” ที่ปัจจุบันมีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐไม่น้อยกับตำแหน่ง “เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ” และ “หัวหน้าทีมร่วมดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ให้พรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ร่วมกับ “สกลธี ภัททิยกุล” เกิดอาการน้อยใจ “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และ แกนนำพรรคพลังประชารัฐหลายคน ในเรื่องการจัดทำโผปาร์ตี้ลิสต์ของพลังประชารัฐ

ที่ข่าวว่า เดิมทีตอนแรก “นฤมล” อยู่อันดับ 7 แต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงลงไประดับต่ำกว่า 20 จนมีข่าวอาจเลยไปถึงลำดับที่ 24 ซึ่งอยู่ในโซนที่อาจไม่ได้เป็นส.ส.หลังเลือกตั้ง

เพราะมีการประเมินกันในตึกพลังประชารัฐว่า พปชร.น่าจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่เกิน 12-13 คนเท่านั้น อีกทั้งข่าวว่าคนที่ “นฤมล” ผลักดันหลายคน เช่น ทีมงานด้านนโยบายพรรค ทีมงานวิชาการ ที่มาช่วยงานที่พรรคร่วมปี ซึ่ง “นฤมล” ต้องการให้อยู่ในโผปาร์ตี้ลิสต์อันดับดีๆ คือไม่ต่ำกว่า 40 แต่ปรากฏว่า อยู่ในอันดับไม่ค่อยดีเป็นส่วนใหญ่ จน “นฤมล” ไม่ค่อยพอใจ เพราะแบบนี้ทำให้คนในพรรคและคนนอกพรรค จะมองว่า “เธอไม่มีอำนาจ-ไม่มีบทบาท-บารมีที่แท้จริงในพรรค” ก็เลยทำให้หลังแถลงข่าวว่า จะสละสิทธิ์ไม่ขอลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นได้มีพื้นที่แทน เพื่อทำให้ พปชร.เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน-ผลัดใบ  

และต่อมาในช่วงเย็น วันเดียวกันก็ไม่ได้ไปปรากฏตัวบนเวทีหาเสียง พปชร.กทม.ที่ศูนย์เยาวชนหลักสี่ การเคหะท่าทราย หลังก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง ถูก “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการพรรคพปชร. ให้สัมภาษณ์แบบไม่มีเยื่อใยทางการเมืองว่า “ใครอยากออกไปก็ออกไป”

เลยทำให้มีข่าวว่า “นฤมล” อาจลาออกจากพรรคพปชร.ก่อนยื่นสมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 เม.ย. แต่สุดท้าย นฤมล” ต้องรีบชี้แจงด่วนว่า ยังอยู่กับพปชร.ต่อไป ไม่ได้น้อยใจบ้านป่ารอยต่อฯที่ไม่เห็นความสำคัญ อย่างที่มีกระแสข่าว

ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

“ตอนนี้เกิดกระแสข่าวลือไปในทิศทางต่างๆ ซึ่งขอยืนยันว่า จะอยู่ช่วยงานพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงผู้สมัครทุกคนของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป โดยจะไม่มีการย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้การเปิดเวทีปราศรัยย่อยอีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะไปร่วมด้วยอย่างแน่นอน” ดร.นฤมล ระบุช่วงกลางดึก 24 มี.ค.

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลกระทบการเมืองที่เกิดขึ้นจากการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ของพปชร. ซึ่งต้องบอกว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่-พรรคกลาง-พรรคตั้งใหม่-พรรคเก่า

เพราะส่วนใหญ่ คนที่ลงปาร์ตี้ลิสต์ ก็อยากได้ลำดับดีๆ อยู่เบอร์ต้นๆ ในการลงสมัคร แต่เมื่อมีคนเยอะ แล้วเก้าอี้ที่การันตีความปลอดภัย ว่าจะได้เข้าสภาฯมีน้อย ก็เลยทำให้เกิดปัญหาการแย่งกัน การล็อบบี้เพื่อขอลำดับปลอดภัย การันตีการได้เข้าไปเป็นส.ส. มันก็เลยทำให้มักจะเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยในการเลือกตั้ง เพียงแต่จะมีพรรคไหน เก็บอาการได้มากกว่ากัน โดยเฉพาะคนที่ไม่พอใจ

จึงขอให้จับตา แรงกระเพื่อมภายในพรรคการเมืองต่างๆ  จากการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ น่าจะมีอีกหลายพรรค เพียงแต่คนที่ไม่พอใจ จะออกมาโวยวายทั้งในพรรคและนอกพรรค หรือไม่เท่านั้น

เรื่องแบบนี้ แกนนำพรรคต่างๆ โดยเฉพาะคนที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงในการทำโผผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ คือ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครส.ส. กับ คณะกรรมการบริหารพรรค เลยพยายามจะหาวิธีการที่ทำให้ คนในพรรคพอใจมากที่สุด

จุดสำคัญของเรื่องการทำโผปาร์ตี้ลิสต์รอบนี้ก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ต้องมีการทำไพรมารีโหวตก่อน ทั้งผู้สมัครส.ส.ระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ แต่ขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ทำแค่ไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ เพราะทำแค่ในระดับสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด ของพรรคนั้นๆ ก็แค่เรียกสมาชิกพรรคในพื้นที่ซึ่งจัดตั้งกันมา สัก 100 คน มาประชุมสัก 1 ชั่วโมง แล้วก็โหวตตามลิสต์ที่ทำไว้ ก็เสร็จแล้ว บางทีใช้เวลาจริงๆ ไม่ถึง 30 นาทีก็จบแล้ว

พรรคพลังประชารัฐ

มันเลยทำให้ การเลือกตั้งรอบนี้ รายชื่อโผปาร์ตี้ลิสต์ 100 ชื่อ ของแต่ละพรรคการเมือง จะถูกเปิดเผยออกมาก่อน ที่จะไปยื่นต่อ กกต. ในวันที่ 4 เม.ย. แต่ตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 51 ระบุว่า ในการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อส่งไปทำไพรมารีโหวต ไม่ต้องจัดลำดับ 1-100 เพราะกฎหมายบัญญัติแค่ว่า…

“ให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา  แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นให้คณะกรรมการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อพิจารณาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

จากนั้น ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแล้วจัดลำดับตามที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ”

มันก็เลยทำให้ เมื่อประกาศโผปาร์ตี้ลิสต์เพื่อส่งไปทำไพรมารีโหวต แรงกระเพื่อมในพรรคการเมืองต่างๆ จากคนที่ไม่พอใจก็จะยังมีไม่มากนัก เพราะยังไม่มีจัดลำดับ แต่ว่าในความเป็นจริง ทุกพรรคการเมือง มีการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ ไว้สองโผอยู่แล้ว

โผแรก ไม่เรียงลำดับหมายเลข 1-100 ส่งไปทำไพรมารีโหวต

โผสอง เรียงลำดับหมายเลขไว้หมดแล้ว 1-100 แต่เก็บไว้ โดยคนที่จะรู้หรือเห็นโผดังกล่าวจะเป็นระดับแกนนำพรรคตัวจริงเท่านั้น

ซึ่งส่วนใหญ่ ลำดับต้นๆ 1-20 ของทุกพรรคการเมือง ก็จะเป็นแกนนำพรรค นายทุนพรรค คนที่ช่วยงานพรรค ทั้งหน้าฉากและหลังฉาก แต่หากเป็นพรรคขนาดกลาง-เล็ก ที่รู้ตัวดีว่า จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แค่ระดับไม่เกิน 10 ที่นั่ง แกนนำพรรค ก็จะขอลงในลำดับปลอดภัย ไม่เกิน 1-5 คนแรก ทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าจับตาก็คือ การทำโผปาร์ตี้ลิสต์ของหลายพรรคการเมือง หลังจากนี้ จะเกิดแรงกระเพื่อมอะไรตามมาหรือไม่ เพราะดูแล้ว ปัญหาความไม่พอใจในการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ คงไม่เกิดขึ้นแค่กับ “ดร.นฤมล” ที่พลังประชารัฐเท่านั้

แน่นอน คาดว่าคงเกิดขึ้นกับอีกหลายพรรคการเมือง เพียงแต่ก็อาจมีการเก็บอาการกันไว้ภายใน ไม่ออกมาโวยวายข้างนอก แต่กรณีแบบนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อโผปาร์ตี้ลิสต์แต่ละพรรคการเมืองเคาะลงตัว ใส่หมายเลข 1-100 ไว้หมด ก่อนนำไปยื่นสมัครกับกกต.  

วทันยา บุนนาค

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า บางพรรค ก็เริ่มฝุ่นตลบ เช่น “ประชาธิปัตย์” เพราะข่าวว่า หลังจาก “วทันยา บุนนาค” หรือ “มาดามเดียร์” ได้รับการการันตีว่าได้อยู่ในโผปาร์ตี้ลิสต์ไม่เกินลำดับที่ 10 ที่น่าจะเป็นโซนปลอดภัยที่การันตีได้ว่ าจะได้เป็นส.ส.หลังเลือกตั้ง

แต่นักการเมืองผู้หญิงในปชป.อีกหลายคน คาดว่า อาจจะอยู่ในลำดับที่เกินลำดับที่ 12 ลงมา เช่น “รัชดา ธนาดิเรก” รองโฆษกรัฐบาล-“มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” อดีตที่ปรึกษารมว.พาณิชย์-“จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร” รองเลขาธิการพรรคปชป. ที่มีข่าวว่าแต่ละคน ก็ต้องการอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ทั้งสิ้น

ในส่วนของ รัชดา” กับ “มัลลิกา” ถือว่าอยู่ในสาย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรค ส่วน “จิตภัสร์” ที่ถูกมองว่าเป็นสายกลุ่มทุนปชป. โดยก่อนหน้านี้ เคยลงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีของปชป.แต่ไม่ได้ รอบนี้ยังไง ขอหวังกลับมาเป็นส.ส.หลังเลือกตั้งอีกครั้ง แล้วค่อยไปลุ้นเป็นรัฐมนตรีหากปชป.ได้เป็นรัฐบาล แต่หากเป็นฝ่ายค้าน ก็ตั้งเป้าขอเป็นประธานกมธ.ตำรวจ สภาฯ ที่เป็นผู้หญิงคนแรกให้ได้ หลังเป็นรองประธานกมธ.ตำรวจมา 3 ปีกว่า

ก็เลยทำให้ มีข่าวว่าเกิดฝุ่นตลบพอสมควร ในการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ของปชป. แต่จะหนักมากขึ้นหลังจากนี้ในช่วงต้องมาจัดลำดับหมายเลข ซึ่งข่าวว่า ไม่ใช่แค่กับนักการเมืองหญิงในปชป.ที่กำลังชิงอยู่ในลำดับต้นๆ แต่แกนนำพรรคปชป.-อดีตส.ส.ปชป.หลายคน ที่มาลงระบบปาร์ตี้ลิสต์ ก็หวังลุ้น อยู่ในลำดับต้นๆ เช่นกัน ทำให้หลังจากนี้ อาจเกิดปัญหาในพรรคปชป.ในเรื่องการทำโผปาร์ตี้ลิสต์เกิดขึ้น รวมถึงอีกหลายพรรค ก็จะเกิดปัญหาลักษณะเดียวกัน!

……………………………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img